ต่อมไทรอยด์เป็นอวัยวะส่วนหนึ่งในร่างกายที่อยู่บริเวณลำคอ เป็นต่อมไร้ท่อที่ใหญ่ที่สุด ทำหน้าที่ผลิตฮอร์โมนเพื่อควบคุมระบบการเผาผลาญพลังงาน โรคต่อมไทรอยด์เกิดจากการทำงานที่ผิดปกติของต่อม โดยอาจสร้างฮอร์โมนมากหรือน้อยเกินไป จนทำให้ส่งผลกระทบต่อร่างกาย เช่น เหนื่อยง่าย หัวใจเต้นเร็ว อารมณ์แปรปรวน น้ำหนักขึ้นลงแบบผิดปกติ เป็นต้น แต่โรคนี้ก็มีวิธีการรักษาที่หลากหลาย ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือการใช้ยานั่นเอง โดยยารักษาโรคต่อมไทรอยด์จะมีอะไรบ้างนั้น ไปอ่านกันเลยค่ะ
ยารักษาโรคต่อมไทรอยด์โตแบบเป็นพิษ หรือทำงานมากเกินไป (Hyperthyroidism)
- เบต้าบล็อกเกอร์ (Beta-blockers) เป็นยาลดการตอบสนองของร่างกายที่มีต่อภาวะต่อมไทรอยด์เป็นพิษ หรือทำงานมากเกินไป โดยจะไปช่วยลดอาการมือสั่น ใจสั่น กระสับกระส่าย กระวนกระวายลงได้ แต่ไม่ใช่ยารักษาที่ต้นเหตุโดยตรง โดยปกติแพทย์จะจ่ายยาให้ในรูปแบบเม็ด แต่หากผู้ป่วยมีอาการรุนแรงก็อาจจะให้ยาแบบฉีดเข้าหลอดเลือดดำแทน
- โพรพิลไทโอยูราซิล (propylthiouracil) เป็นยาที่ออกฤทธิ์ยับยั้งการสร้างฮอร์โมนไทรอยด์ ซึ่งใช้เวลานานหลายเดือนกว่าที่จะได้ผลการรักษาอย่างเต็มที่ ควรใช้ยานี้กับหญิงตั้งครรภ์ในไตรมาสแรกเท่านั้น และในกรณีที่ผู้ป่วยแพ้ยาเมทิมาโซล สำหรับผลข้างเคียงที่พบ จะได้แก่ มีผื่นคัน หรือถ้าอาการรุนแรงกว่านั้นก็จะทำให้เม็ดเลือดขาวลดลง หากมีไข้สูงควรรีบไปพบแพทย์ทันที
- เมทิมาโซล (methimazole) เป็นยาที่นิยมใช้ในผู้ป่วยไทรอยด์ส่วนใหญ่ ยกเว้นหญิงที่ตั้งครรภ์ในไตรมาสแรก โดยยาจะไปยับยั้งการสร้างฮอร์โมนไทรอยด์ ซึ่งอาจใช้เวลานานกว่ายาโพรพิลไทโอยูราชิล จึงจะเห็นผลการรักษา สำหรับผลข้างเคียงของการใช้ยานี้จะคล้ายกับการใช้ยาโพรพิลไทโอยูราชิล
- ไอโอดีน (Iodine) ยาจะออกฤทธิ์ยับยั้งการหลั่งของฮอร์โมนไทรอยด์ ซึ่งต้องใช่ร่วมกับยาต้านไทรอยด์ เพราะไอโอดีนอาจจะไปเพิ่มการสร้างฮอร์โมนไทรอยด์ได้เช่นกัน สำหรับผลข้างเคียงที่พบบ่อย จะได้แก่ คลื่นไส้
- กัมมันตรังสีไอโอดีน (Radioactive iodine) การรักษาแบบนี้จะทำให้ต่อมไทรอยด์ฝ่อเล็กลง ซึ่งค่อนข้างใช้เวลานานหลายเดือน และอาจจะพบกับภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานน้อยเกินไปอีกด้วย
ยารักษาโรคต่อมไทรอยด์ทำงานน้อยเกินไป (Hypothyroidism)
- ลีโว-ไทรอกซิน (L-thyroxine) เป็นยาหลักที่ช่วยทดแทนฮอร์โมนไทรอยด์ที่น้อยเกินไปของผู้ป่วย อยู่ในรูปแบบฮอร์โมนไทรอกซิน ซึ่งสังเคราะห์ขึ้นมา โดยมีโครงสร้างเหมือนกับในร่างกาย ส่วนผลข้างเคียงจะพบได้น้อย เพราะยานี้ค่อนข้างมีความปลอดภัยสูงนั่นเอง
- ไทรไอโอโดไทโรนิน(triiodothyronine) ยานี้จะไปเพิ่มระดับความเข้มข้นของไทรไอโอโดไทโรนินในเลือด โดยอาจใช้ร่วมกับยาลีโว-ไทรอกซิน ซึ่งเป็นอันตรายต่อผู้สูงอายุและผู้ที่เป็นโรคหัวใจ
โรคไทรอยด์นอกจากจะมีการรักษาด้วยยาแล้ว ยังมีการรักษาด้วยวิธีอื่นอีก นั่นก็คือการผ่าตัด ซึ่งขึ้นอยู่กับร่างกายของผู้ป่วย ความรุนแรงของโรค และดุลยพินิจของแพทย์ว่าจะทำการรักษาด้วยวิธีใด จึงจะส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการดีขึ้นมากกว่ากัน หรืออาจจะใช้การรักษาหลายวิธีร่วมกันก็ได้