หลายคนคงเคยผ่านการปวดหัวมาก่อน แต่การปวดหัวเพราะโรคไมเกรนนั้นต่างกันลิบลับกันการปวดหัวแบบปกติ เพราะปวดมากและทรมานกว่าหลายเท่า ซึ่งอาการปวดนั้นมีหลายแบบ ทั้งปวดตุบๆ ปวดจี๊ดๆ หรือปวดเหมือนถูกบีบขมับ โดยสิ่งกระตุ้นที่ทำให้เกิดอาการปวดไมเกรน มักจะได้แก่ กลิ่น แสง สี เสียง และความเครียด เป็นต้น
หากใครที่กำลังเป็นหรือเข้าข่ายโรคนี้ก็อย่าเพิ่งกังวลไป เพราะในปัจจุบันมียาต้านไมเกรนออกมาให้ใช้ ซึ่งช่วยบรรเทาและระงับอาการปวดแก่ผู้ป่วยได้ ซึ่งจะต้องจ่ายยาโดยแพทย์เท่านั้น และผู้ป่วยต้องได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคไมเกรน เพราะหากซื้อมากินเอง อาจจะมีผลข้างเคียงที่กระทบต่อร่างกายได้
ยาไมเกรนประกอบไปด้วยตัวยา 2 ชนิดคือ เออร์โกทามีน (Ergotamine) และคาเฟอีน (Caffeine) เป็นยารักษาอาการปวดศีรษะเนื่องมาจากโรคไมเกรน ออกฤทธิ์โดยช่วยให้เส้นเลือดที่อยู่บริเวณรอบสมองหดตัวลง จึงช่วยบรรเทาอาการปวดศีรษะได้นั่นเอง
ปริมาณการใช้ยาไมเกรน
- เด็กอายุ 6-12 ปี ให้รับประทานเมื่อมีอาการ ขนาด 1 มิลลิกรัม โดยอาจเพิ่มปริมาณครั้งละ 1 มิลลิกรัมในทุก 30 นาที จนอาการปวดศีรษะทุเลาลง แต่ไม่ควรรับประทานเกิน 3 มิลลิกรัมต่อวัน และไม่เกิน 5 มิลลิกรัมต่อสัปดาห์
- ผู้ใหญ่ให้รับประทานเมื่อมีอาการ ขนาด 2 มิลลิกรัม โดยอาจเพิ่มปริมาณครั้งละ 1 มิลลิกรัมในทุก 30 นาที จนอาการปวดศีรษะทุเลาลง แต่ไม่ควรรับประทานเกิน 6 มิลลิกรัมต่อวัน และไม่เกิน 10 มิลลิกรัมต่อสัปดาห์
คำแนะนำในการใช้ยา
- ไม่ควรใช้รักษาอาการปวดศีรษะเนื่องจากสาเหตุอื่นที่ไม่ได้มาจากโรคไมเกรน ยกเว้นแพทย์สั่งเท่านั้น
- หากลืมรับประทานในขณะที่มีอาการปวดศีรษะอยู่ ให้รับประทานทันทีที่นึกขึ้นได้ โดยไม่ต้องเพิ่มขนาดยา
- หากรับประทานเกินปริมาณที่กำหนดไว้ อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงต่อร่างกายได้
- ไม่ควรใช้ยาในสตรีมีครรภ์ และให้นมบุตร
- ผู้ป่วยที่เป็นโรคตับ โรคไต โรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง หรือมีอาการติดเชื้ออย่างรุนแรง ไม่ควรรับประทานยานี้
- ผู้ที่สูบบุหรี่ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยา เนื่องจากสารนิโคตินในบุหรี่อาจทำปฏิกิริยากับยาไมเกรนได้ และอาจส่งผลกระทบต่อร่างกายของผู้ป่วย
- หากรับประทานยาอื่นอยู่ก่อนแล้ว ให้แจ้งแพทย์ทราบก่อนทุกครั้ง เพราะยาแต่ละตัวอาจทำปฏิกิริยาต่อกัน ทำให้เกิดผลข้างเคียงต่อร่างกายได้
- ไม่ควรใช้ยานี้อย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน เพราะอาจทำให้เกิดการเสพติดได้
ผลข้างเคียงที่เกิดจากการใช้ยา
- คลื่นไส้ อาเจียน เวียนหัว
- ใจเต้นเร็ว ใจสั่น
- ความดันโลหิตสูง
- หน้ามืด
- มือคล้ำ
- ชาตามมือ เท้า และตามผิวหนัง
- เป็นตะคริว กล้ามเนื้ออ่อนแรง เกิดอาการชัก
หากพบสิ่งผิดปกติเหล่านี้ ให้นำยาและตัวผู้ป่วยไปพบแพทย์ทันที เพื่อทำการรักษาอาการจากผลข้างเคียงของยา และให้แพทย์พิจารณาปรับเปลี่ยนหรือลดยาดังกล่าว