เป็นที่ทราบกันอยู่แล้วว่า คนเราควรนอนหลับให้ได้วันละไม่ต่ำกว่า 8 ชั่วโมง นอกจากการตื่นมาพร้อมกับความสดชื่น สามารถปฏิบัติภารกิจในแต่ละวันได้อย่างเต็มประสิทธิภาพแล้ว ยังลดความเสี่ยงในการเกิดโรคอีกด้วย แต่ในระหว่างที่เรานอนหลับนั้นอาจเกิดอาการต่างๆ ขึ้น โดยที่เจ้าตัวเองอาจจะไม่รู้ตัว เช่น การนอนกรน หรือภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ดูเผินๆ เหมือนจะไม่น่ากลัว แต่ในความเป็นจริงแล้วมีอันตรายถึงชีวิตได้
มีข้อมูลที่น่าสนใจจาก โรงพยาบาลพิษณุเวช อุตรดิตถ์ จังหวัดอุตรดิตถ์ในเครือ พริ้นซิเพิล เฮลท์แคร์ โดย นายแพทย์ณัฎฐพงศ์ อื้อเศรษฐศักดิ์อายุรแพทย์ ประจำโรงพยาบาลพิษณุเวชอุตรดิตถ์ เกี่ยวกับอาการเหล่านี้มาให้ได้ลองสังเกตกัน
นอนกรน อันตรายจริงไหม ?
เป็นความจริง เพราะอาการนอนกรน บ่งบอกถึงการอุดกั้นทางเดินหายใจส่วนบน ซึ่งมีความสัมพันธ์โดยตรงต่อภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ทำให้ผู้ป่วยนอนหลับไม่สนิท สะดุ้งตื่นเป็นช่วงๆ ง่วงนอนในเวลากลางวัน มีแนวโน้มเกิดอุบัติเหตุจราจรหรือจากการทำงานมากกว่าคนทั่วไป นอกจากนี้ยังพบว่ามีความเสี่ยงสูงต่อโรคความดันโลหิตสูงกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันจากการขาดเลือด ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ โรคหลอดเลือดสมอง และภาวะเสื่อมสมรรถภาพทางเพศอีกด้วย
เด็กนอนกรน สังเกตอย่างไร ?
ในเด็กอาจมีอาการนอนกรนได้เช่นกัน โดยเฉพาะในเด็กที่มีท่าทางการนอนที่ผิดปกติ เช่น ชอบนอนคว่ำ นอนตะแคง หรือเด็กที่ไม่มีสมาธิที่จะทำอย่างใดอย่างหนึ่งได้นาน หรืออาการสมาธิสั้น (Attention Deficit Disorder : ADD) เด็กที่หงุดหงิดง่าย และปัสสาวะราดในเวลากลางคืน พ่อแม่ผู้ปกครองควรหมั่นสังเกตบุตรหลานว่ามีอาการข้างต้นหรือไม่
ลดอาการกรนด้วยวิธีแปะปากแปะคาง (ไม่ให้อ้า) ช่วยได้จริงไหม?
วิธีดังกล่าวข้างต้น ไม่สามารถช่วยแก้อาการนอนกรนได้ ในทางการแพทย์วิธีที่สามารถรักษาอาการนอนกรนได้ คือ การใช้เครื่องมือทางทันตกรรมช่วยเลื่อนขากรรไกรลงมาทางด้านหน้า เพื่อทำให้ทางเดินหายใจกว้างขึ้น หรือการใช้เครื่องเป่าลมในทางเดินหายใจส่วนบน (Continuous Positive Airway Pressure : CPAP) ก็สามารถช่วยได้เช่นกัน โดยเป็นการนำหน้ากากครอบจมูก ขณะนอนหลับ หน้ากากจะต่อเข้ากับเครื่องที่สามารถขับลมแรงดันบวกออกมาขยายทางเดินหายใจให้กว้างขึ้น
รับประทานอาหารและเครื่องดื่มอย่างไร เพื่อหลีกเลี่ยงการนอนกรน?
หลีกเลี่ยงยา หรือ เครื่องดื่ม ที่มีฤทธิ์กดประสาทส่วนกลาง เช่น เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ยานอนหลับ ยากล่อมประสาท ยาลดน้ำมูกชนิดที่ทำให้ง่วง
รู้ได้อย่างไร ว่ามีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ มีอันตรายถึงชีวิตได้ เช่นกัน หากปล่อยไว้ ดังนั้นควรหมั่นสังเกตตนเองหรือให้คนใกล้ชิดช่วยสังเกต ว่ามีภาวะนี้เกิดขึ้นกับเราหรือไม่ โดยอาการที่บ่งบอกว่าอาจมีภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ คือ มีอาการหายใจขัด หายใจไม่สะดวก คล้ายสำลักน้ำลาย มีอาการสะดุ้งผวาหรือหายใจแรงเหมือนขาดอากาศหลังจากหยุดหายใจ นอนกรน นอนกระสับกระส่ายมาก
การตรวจ Sleep Test สำหรับผู้ที่มีภาวะการหยุดหายใจขณะนอนหลับ ควรปรึกษาแพทย์ โดยทางการแพทย์จะใช้เครื่องมือ Sleep Test ในการตรวจ เหมาะสำหรับ ผู้ที่มีอาการนอนกรน และผู้ที่มีอาการที่บ่งบอกว่ามีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ได้แก่ ตื่นนอนตอนเช้าด้วยความอ่อนล้า ไม่สดชื่น นอนไม่เต็มอิ่ม ทั้งๆ ที่ได้นอนพักอย่างเต็มที่หงุดหงิดอารมณ์เสียง่าย ง่วงนอนตอนกลางวันเผลอหลับกลางวัน นอนหลับไม่ราบรื่น เช่น ฝันร้าย ละเมอ กระสับกระส่าย หายใจขัด หายใจไม่สะดวกขณะนอนหลับ มีอาการสะดุ้งผวา หายใจแรงเหมือนขาดอากาศหลังจากหยุดหายใจ ประสิทธิภาพในการทำงาน หรือผลการเรียนแย่ลง เพราะอาการง่วง ขาดสมาธิ
หากตัวเรา หรือคนใกล้ชิดมีอาการเหล่านี้ ไม่ควรนิ่งนอนใจ ควรปรึกษาแพทย์ หรือหากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับเรื่องสุขภาพอื่นๆ สามารถขอคำปรึกษาจากทีมแพทย์โรงพยาบาลในเครือบริษัท พริ้นซิเพิล เฮลท์แคร์ จำกัด ได้ทั้ง 11 แห่ง ใน 10 จังหวัด สามารถติดตามสาระดีๆ เกี่ยวกับการแพทย์ได้ที่เฟซบุ๊ค : Principal Healthcare Company