ไม่บ้า! แต่ก็สามารถไปหา “จิตแพทย์” ได้

ไลฟ์สไตล์

“ไม่ได้บ้านะ จะไปหาจิตแพทย์ทำไม”
“อย่าไปนะ ฉันไม่อยากให้ใครคิดว่ามีลูกเป็นบ้า”

“มีแต่คนโรคจิตเท่านั้นและที่จะไปหาหมอโรคจิต”

เราคงจะเคยได้ยินประโยคเหล่านี้มากันบ้างไม่มากก็น้อย โดยเฉพาะกับผู้สูงอายุที่ยังมีอคติความเชื่อเดิม ๆ เกี่ยวกับการไปพบจิตแพทย์ที่ว่า คนที่จะไปหาจิตแพทย์ได้ มีแต่คนบ้า หรือหลายคนก็ยังสับสนแยกไม่ออกระหว่างจิตแพทย์กับนักจิตวิทยา

จิตแพทย์คือใคร?

ตามนิยามแพทยสภา จิตแพทย์ (Psychiatrist) คือ แพทย์ผู้ผ่านการอบรม สอบได้วุฒิบัตรหรืออนุมัติบัตรทางด้านจิตเวช ดังนั้นเส้นทางของการเป็นจิตแพทย์คือ เรียนแพทย์ทั่วไป (6 ปี) จากนั้นเรียนต่อเฉพาะทางด้านจิตเวช (psychiatry) อีก 3 ปี สำหรับจิตแพทย์ทั่วไป (หรือจิตแพทย์ผู้ใหญ่) และอีก 4 ปีสำหรับจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น สรุปคือต้องเรียนอย่างน้อย 9 ปีค่ะ
ส่วนความสับสนระหว่างจิตแพทย์ (Psychiatrist) และนักจิตวิทยา(Psychologist) นั้น ต้องบอกก่อนเลยค่ะว่า นักจิตวิทยาไม่ได้เป็นหมอ แต่เป็นผู้ที่เรียนจบในสาขาจิตวิทยา (psychology) ซึ่งเป็นศาสตร์ว่าด้วยการศึกษาเกี่ยวกับจิตใจ กระบวกนการคิด รวมถึงพฤติกรรมของมนุษย์ ซึ่งจะใช้เวลาเรียน 4 ปีในระดับปริญญาตรี หากสรุปง่าย ๆ ก็คือ การเรียนจิตวิทยาส่วนใหญ่จะเน้นการศึกษาและความเข้าใจเรื่องของจิตในในสภาวะปกติ(ในคนปกติ) แต่จิตเวชศาสตร์ที่จิตแพทย์เรียน ส่วนใหญ่จะเน้นไปที่ความผิดปกติหรือโรคที่เกี่ยวข้องกับอารมณ์ ความคิดและพฤติกรรม รวมไปถึงการรักษาอีกด้วย

จิตแพทย์รักษาอะไร?

หน้าที่ในการรักษาหลัก ๆ ของจิตแพทย์ ได้แก่
1. ให้คำปรึกษาและคำแนะนำ อย่างในกรณีที่ไม่ได้เจ็บป่วยหรือเป็นโรคอะไร ก็สามารถมารับคำปรึกษาได้ค่ะ โดยส่วนใหญ่เรื่องที่คนเราเข้ารับการปรึกษา เช่น ปัญหาเรื่องเรียน ปัญหาการทำงาน ปัญหาครอบครัว ปัญหาชีวิตคู่ ปัญหาลูกติดเกม ฯลฯ

2. โรคทางระบบประสาทและประสาทจิตเวช หลายคนไม่ทราบว่าโรคในกลุ่มนี้ จิตแพทย์ก็สามารถรักษาได้นะคะ ตัวอย่างใน โรคที่เกิดจากความผิดปกติในสมอง แต่ทำให้เกิดปัญหาเรื่องอารมณ์ พฤติกรรม และอาการทางจิต เช่น โรคอัลไซเมอร์ หรือ ปัญหาพฤติกรรมในผู้ป่วยโรคลมชัก เป็นต้น
3. โรคทางจิตเวช เช่น โรคซึมเศร้า โรคจิตเภท โรคไบโพลาร์ โรควิตกกังวล โรคย้ำคิดย้ำทำ
4. เป็นส่วนหนึ่งในทีมรักษาร่วมกับแพทย์ด้านอื่น ๆ ในปัจจุบัน การรักษามักจะมีการบูรณาการหลากหลายสาขาเพื่อประสิทธิภาพในการรักษาที่ครอบคลุมแบบองค์รวม รวมถึงกับจิตแพทย์เองก็ตาม ยกตัวอย่างเช่น หน่วยรักษาความเจ็บปวด (pain unit) หรือ หน่วยผู้ป่วยวาระสุดท้าย (end of life care)

อาการแบบไหน หรือหนักแค่ไหน ที่เราควรไปพบจิตแพทย์?

เนื่องจากโรคทางจิตเวชนั้นมีหลายโรคที่มีอาการค่อนข้างกว้าง ทำให้ระบุชัด ๆ ได้ยากว่าอาการแบบไหนที่ควรไปพบแพทย์ แต่เราสามารถใช้หลักการกว้าง ๆ ในการพิจารณาได้ดังนี้ ถ้าเมื่อไหร่ก็ตามอาการเจ็บป่วยเริ่มเป็นมากถึงขั้นรบกวนการใช้ชีวิตประจำวันตามปกติของเรา ก็ถือว่าเป็นสัญญาณเตือนว่า เราควรไปพบแพทย์ได้แล้ว เช่น ถ้าสมมติเราอกหัก เศร้ามาก เศร้าไปสัก 4-5 วัน แต่ยังไปเรียนได้ ทำงานได้ ใช้ชีวิตได้ตามปกติเหมือนเดิม อย่างนี้ก็อาจจะไม่เป็นไร แต่ถ้าเมื่อไหร่ที่เราเศร้าถึงขนาดไปเรียนไม่ไหว ทำงานไม่ได้ วัน ๆ ไม่อยากพบเจอใคร กินข้าวไม่ลง เรียกว่าอาการแย่แล้วนะคะ กรณีนี้สมควรที่ต้องไปพบแพทย์แล้วค่ะ

ดังที่กล่าวมาทั้งหมดนั้น จะเห็นได้ว่าบทบาทของจิตแพทย์นั้นไม่ได้ถูกจำกัดแค่คำว่า “บ้า หรือ ไม่บ้า” เท่านั้น ในต่างประเทศ การไปพบจิตแพทย์ถือเป็นเรื่องปกติมาก ไม่ต่างอะไรกับการไปพบแพทย์ด้านอื่น ๆ ถ้าหากคุณประสบปัญหาอื่น ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อพฤติกรรม อารมณ์ และความคิดแล้วล่ะก็ แนะนำให้ไปพบจิตแพทย์กันนะคะ