กระดังงา

อาหารเพื่อสุขภาพ - สมุนไพร

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Cananga odorata  Lam. Hook.f.&Thomson var. odorata
ชื่อวงศ์ : Annonaceae
ชื่อสามัญ : Ylang-ylang tree
ชื่อพื้นเมือง : กระดังงา กระดังงาใบใหญ่ กระดังงาใหญ่ สะบันงา สะบันงาต้น

ลักษณะทั่วไป (Characteristic) : 
ไม้ต้นขนาดกลาง สูง 10-20 เมตร ผลัดใบ เรือนยอดรูปสามเหลี่ยม กิ่งแตกตั้งฉากกับลำต้น แต่ปลายกิ่งลู่ลง เปลือกเรียบสีเทามีรอยแผลใบกระจายทั่วไป

ใบ (Foliage) : ใบเดี่ยว เรียงสลับ ใบรูปรีหรือรูปไข่แกมรูปขอบขนาน กว้าง 4-8 เซนติเมตร ยาว 9-20 เซนติ- เมตร ปลายใบแหลม โคนใบมนหรือเบี้ยว ขอบใบเรียบหรือเป็นคลื่น ใบแก่มีขนตามเส้นแขนงใบและเส้นกลาง ใบ เส้นแขนงใบข้างละ 5-9 เส้น ก้านใบยาว 1-1.5 เซนติเมตร

ดอก (Flower) : สีเหลือง มีกลิ่นหอม ออกรวมกันเป็นช่อแบบช่อซี่ร่มบนกิ่งเหนือรอยแผลใบ ช่อดอกห้อยลงมี 3-6 ดอก ก้านช่อดอกยาว 0.5-1 เซนติเมตร กลีบเลี้ยง 3 กลีบ มีขน กลีบดอกเรียงเป็น 2 ชั้นๆละ 3 กลีบ ดอก ใหญ่ ยาว 5-9 เซนติเมตร ดอกบานเต็มที่กว้าง 4-5 เซนติเมตร

ผล (Fruit) : ผลสดเป็นกลุ่ม อยู่บนแกนตุ้มกลม 4-15 ผล ทรงไข่ กว้าง 1-1.5 เซนติเมตร ยาว 1.5-2.5 เซนติเมตร สีเขียวคล้ำเกือบดำ เมล็ดรูปไข่แบนสีน้ำตาลอ่อน กว้าง 5 มิลลิเมตร ยาว 6 มิลลิเมตร

ระยะ การเป็นดอก-ผล : มีดอกและผลเกือบตลอดปี

นิเวศวิทยา : ป่าดิบแล้งทางภาคใต้ นิยมปลูกประดับทั่วไป

การใช้งานด้านภูมิทัศน์ (Landscape Used) : เจริญเติบโตเร็ว รูปทรงสามเหลี่ยมใช้บังสายตาหรือเป็นฉากกั้นบังวิวได้ ดอกหอมแรง ควรปลูกห่างตัวบ้าน 4-5 เมตร

ประโยชน์ : เป็นสมุนไพร แก้ลม บำรุงเลือด ยาขับปัสสาวะ

สรรพคุณ :
เปลือกต้น
รสฝาดเฝื่อน ขับปัสสาวะ แก้ปัสสาวะพิการ แก้ท้องเสีย

ดอกแก่จัด
รสหอมสุขุม ใช้เป็นยาหอมบำรุงหัวใจ บำรุงโลหิต บำรุงธาตุ แก้ลมวิงเวียน ชูกำลังทำให้ชุ่มชื่น ให้น้ำมันหอมระเหย ใช้แต่งกลิ่นเครื่องสำอาง น้ำอบ ทำน้ำหอม ใช้ปรุงยาหอม บำรุงหัวใจ

ใบ, เนื้อไม้
รสขมเฝื่อน ต้มรับประทาน  ขับปัสสาวะ แก้ปัสสาวะพิการ

วิธีใช้ :
ใช้ดอกกลั่น ได้น้ำมันหอมระเหย
การแต่งกลิ่นอาหาร ทำได้โดยนำดอกที่แก่จัด รมควันเทียนหรือเปลวไฟจากเทียนเพื่อให้ต่อมน้ำหอมในกลีบดอกแตก และส่งกลิ่นหอมออกมา แล้วนำไปเสียบไม้ ลอยน้ำในภาชนะปิดสนิท 1 คืน เก็บดอกทิ้งตอนเช้า นำน้ำไปคั้นกะทิ หรือปรุงอาหารอื่นๆ

สารเคมี : ใน ylang -ylang oil มีสารสำคัญคือ linalool , benzyl benzoate p-totyl methylether, methylether, benzyl acetate

* ในข้อมูล พฤกษาดุริยางค์ ระบุไว้ว่าไม้กระดังงาไทย สามารถใช้ทำคันชักซอได้ *