กระทุ่มบก

อาหารเพื่อสุขภาพ - สมุนไพร

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Anthocephalus chinensis (Lamk.) A. Rich. ex Walp.
ชื่อวงศ์ :  Rubiaceae
ชื่อพ้อง :   Anthocephalus cadamba Miq.

ชื่ออื่นๆ : กรองประหยัน (ยะลา); กระทุ่มบก, กระทุ่มก้านยาว (กรุงเทพ); โกหว่า (ตรัง); แคแสง (ชลบุรี); ตะกู (จันทนบุรี, นครศรีธรรมราช, สุโขทัย); ตะโกส้ม (ชัยภูมิ, ชลบุรี); ตุ้มก้านซ้วง, ตุ้มก้านยาว, ตุ้มเนี่ยง, ตุ้มหลวง (ภาคเหนือ); ตุ้มขี้หมู (ภาคใต้); ตุ้มพราย, ทุ่มพราย (ขอนแก่น)

ลักษณะ :
ไม้ต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ ผลัดใบหรือไม่ผลัดใบ สูง 15-30 เมตร บางครั้งมีพูพอน กิ่งออกเกือบตั้งฉากกับลำต้น มักลู่ลง

ใบรูปไข่ รูปรี หรือรูปขอบขนาน ยาว 12-25 ซม. (ใบอ่อนมีขนาดใหญ่และยาวกว่านี้) ปลายใบแหลม โคนใบมน กลม หรือรูปหัวใจ เส้นแขนงใบ 11-20 คู่ หูใบรูปสามเหลี่ยมแคบ ยาว 1-2.5 ซม. เกลี้ยง แผ่นใบเกลี้ยงหรือมีขนสั้นนุ่มด้านล่าง

ดอกสีเหลืองอ่อน มีกลิ่นหอม ออกเป็นช่อกระจุกแน่น กลม ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 4-5 ซม. ก้านช่อยาว 1.5-4 ซม. ดอกเล็กอัดกันแน่น ติดบนใบประดับขนาดเล็ก 1-3 คู่ กลีบเลี้ยงเป็นหลอดสั้น ยาวประมาณ 0.2 ซม. ปลายแยกเป็นกลีบ ยาวเท่าๆ หลอดกลบ กลีบดอกสีเหลือง หลอดกลีบยาว 0.5-0.7 ซม. กลีบดอกขนาดเล็ก ยาว 0.2-0.3 ซม. อับเรณูรูปแถบ ยาวประมาณ 0.2 ซม. รังไข่สูงประมาณ 0.4 ซม. ก้านเกสรรวมยอดเกสยาว 1.5-2 ซม.

ผลเป็นกระจุกกลม เส้นผ่านศูนย์กลาง 2-4 ซม. ผลย่อยแยกกัน ขนาดประมาณ 0.3 ซม. เมล็ดขนาดเล็ก

หมายเหตุ  สกุลกระทุ่มมีสมาชิกเพียง 2 ชนิดทั่วโลก ในไทยพบเพียงชนิดเดียวคือ กระทุ่ม Anthocephalus chinensis (Lamk.) A. Rich. Ex Walp.

ในหนังสืออักขราภิธานศรับท์ ของหมอปรัดเล พ.ศ.๒๔๑๖ กล่าวถึงกระทุ่มไว้ว่า “กระทุ่ม : ต้นไม้อีกอย่างหนึ่ง ใบเล็ก ดอกคล้ายดอกตะกู กลิ่นหอม ขึ้นอยู่ชายป่า นอก จากนั้นยังกล่าวถึงต้นไม้อีกอย่างหนึ่ง ซึ่งปัจจุบัน ไม่เรียกชื่อนี้แล้วคือ กระทั่ม : ต้นไม้อย่างหนึ่ง ดอกใบคล้ายกับกระทุ่มขึ้นอยู่กลางทุ่ง”
สันนิษฐานว่า กระทุ่มในหนังสืออักขรา-ภิธานศรับท์คงหมายถึงต้นกระทุ่มที่คนกรุงเทพฯ เรียกว่า กระทุ่มบก ชนิด Anthocephalus chinensis Rich. ex Walp ซึ่งอยู่
ในวงศ์เดียวกัน ส่วนกระทั่ม คงเป็นต้นกระทุ่มที่คนกรุงเทพฯ เรียกว่ากระทุ่มน้ำ หรือกระทุ่มนา ในบทเสภาขุนช้างขุนแผน นั่นเอง

สรรพคุณ  :
ใบ รสขม เฝื่อน เมา แก้ท้องร่วง แก้ปวดมวนในท้อง

อินเดีย ใช้เปลือกต้นต้มน้ำดื่มแก้ไข้ แก้ปวดมดลูก แก้โรคลำไส้ และอมกลั้วคอแก้อาการอักเสบของเยื่อเมือกในปาก

ผลเป็น ยาฝาดสมานในโรคท้องร่วง

เปลือกและใบสามารถลดความดันโลหิตได้

ที่มา
http://www.goldenjubilee-king50.com/type.php?page=3&fpt=&province=&organization=
http://www.bedo.or.th/lcdb/biodiversity/view.aspx?id=4474
http://www.kroobannok.com/53976