กระเชา

อาหารเพื่อสุขภาพ - สมุนไพร

ชื่อวิทยาศาสตร์ Holoptelea integrifolia  Planch.
ชื่อวงศ์ :Ulmaceae
ชื่อสามัญ : Indian Elm
ชื่ออื่น       กระเจา กระเจ้า (ภาคกลาง ภาคใต้) กระเจาะ ขะเจา (ภาคใต้) กระเช้า (กาญจนบุรี) กระเซาะ (ราชบุรี) กาซาว (เพชรบุรี) ขะจาวแจง ฮังคาว (ภาคเหนือ) พูคาว (นครพนม) มหาเหนียว (นครราชสีมา) ฮ้างคาว (เชียงราย อุดรธานี ชัยภูมิ) ตะสี่แค (กะเหรี่ยง แม่ฮ่องสอน)

ลักษณะ : 

ไม้ต้นขนาดใหญ่ ผลัดใบ สูง 15-30 ม. ลำต้นมักแตกง่ามใกล้โคนต้น  เรือนยอดเป็นพุ่มทรงสูงถึงค่อนข้างกลม กิ่งย้อยห้อยลง เปลือกสีน้ำตาลอมเทา มีช่องอากาศเป็นตุ่มสีขาวถึงสีน้ำตาลอ่อนทั่วไป เปลือกชั้นในสีน้ำตาล

ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปรีหรือรูปไข่กลับแกมรูปขอบขนาน กว้าง 4–9 ซม. ยาว 7–14 ซม.ปลายแหลม โคนเบี้ยว มน หรือเว้าเล็กน้อยตรงก้านใบเป็นรูปคล้ายหัวใจ ขอบเรียบหรือเป็นจักห่างๆ แผ่นใบด้านบนมีขนเล็กน้อยตามเส้นกลางใบและเส้นใบ ด้านล่างมีขนนุ่ม เส้นแขนงใบมี 6–8 คู่ ก้านใบยาว 0.5–1.5 ซม

ดอก เล็ก ออกเป็นช่อสั้นๆ ช่อดอกออกเป็นกระจุกตามง่ามใบ แยกเพศเป็นดอกเพศผู้และดอกเพศเมีย บางครั้งก็มีดอกสมบูรณ์เพศปะปนอยู่บนช่อเดียวกัน ดอกยาว 1-1.5 ซม  วงกลีบรวมมี 5-6 กลีบ ขนาดไม่เท่ากัน กลีบแยกจากกัน  สีเหลืองอมน้ำตาล ตรงกลางเกสรเพศผู้ 3-9 อัน เกสรเพศเมียสังเกตง่ายที่ปลายแยกเป็น 2 แฉก

ผล รูปรี แบน กว้าง 1–1.5 ซม. ยาว 1.5–2 ซม. มีปีกบางล้อมรอบ มีก้านเกสรเพศเมีย 2 อัน ติดค้างอยู่ที่ส่วนบนสุด บริเวณปีกมีลายเส้นออกเป็นรัศมีโดยรอบ ปลายผลเป็นติ่งคล้ายง่ามหนังสติ๊กขนาดเล็ก ซึ่งเจริญมาจากปลายก้านเกสรเพศเมีย

กระเชามีการกระจายพันธุ์ในป่าเบญจพรรณและตามป่าทุ่งทั่วไป บนที่ราบหรือตามเชิงเขา ทั่วทุกภาคของประเทศยกเว้นภาคใต้ ที่ความสูงจากระดับทะเลปานกลาง 150–1,300 ม. ในต่างประเทศพบที่อินเดีย พม่า และภูมิภาคอินโดจีน

กระเชาเป็นไม้โตเร็วและทนไฟป่าได้ดี เนื้อไม้ละเอียดสม่ำเสมอ เสี้ยนตรง สีเหลืองอ่อนถึงสีเทาอมเหลือง แข็งปานกลาง เมื่อแห้งแล้วเหนียวมาก ใช้ก่อสร้างทำเครื่องเรือน เครื่องกลึง เครื่องมือกสิกรรม และแกะสลักได้ดี

สรรพคุณ/ประโยชน์
ใบและเปลือกต้น  มีกลิ่นเหม็นเอียน ใช้ปรุงเป็นยาแก้ปวดข้อ ยาแก้โรคเรื้อน ยากำจัดเห็บ หมัด และยากันตัวไร

เส้นใยจากเปลือกต้น  เหนียว ใช้ทำเชือก ผ้า กระดาษ และกระสอบได้

เปลือก  รสเมา แก้โรคผิวหนัง แก้ปวดข้อ

ที่มา
http://www.rspg.or.th/plants_data/plantdat/ulmaceae/hinteg_1.htm
ตำราแพทย์แผนโบราณทั่วไป สาขาเภสัชกรรม , กองประกอบโรคศิลปะ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข