การบูร

อาหารเพื่อสุขภาพ - สมุนไพร

ชื่อวิทยาศาสตร์ :  Cinnamomum camphora (L.) J.S. Presl.
ชื่อวงศ์ :  Lauraceae
ชื่อพ้อง :  Camphora officinarum Nees, Laurus camphora L.
ชื่อท้องถิ่น :  อบเชยจีน การะบูน(กลาง) อบเชยญวน พรมเส็ง(เงี้ยว)

ลักษณะ :
เป็นต้นไม้ขนาดกลาง     สูงประมาณ  10  – 15 เมตร อาจสูงได้ถึง 30 ม.  เป็นต้นไม้ที่มีกิ่งก้านสาขามาก   มีสีเขียวตลอดทั้งปี  ลำต้นและกิ่งค่อนข้างเรียบ ทุกส่วนมีกลิ่นหอมการบูร (camphor) โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่รากและโคนต้นมีกลิ่นหอมมากกว่าส่วนอื่นๆ

ใบเป็นใบเดี่ยว  เรียว รูปไข่  ปลายใบเรียวแหลม   ขอบใบเรียบ   ด้านบนของใบเป็นมัน  ด้านล่างหรือใต้ใบมีนวล

ดอกเป็นดอกช่อ  มีสีเหลืองอ่อน   ออกตามง่ามใบ ยาวประมาณ 7 ซม

ผลมีขนาดเล็กค่อนข้างกลม  มีเส้นผ่าศูนย์กลางขนาด   0.7  –  1.2  เซ็นติเมตร  มีสีเขียวเข้ม เมื่อแก่เต็มที่จะเปลี่ยนเป็นสีดำ  มีเมล็ดเพียง  1  เมล็ด

เดิมเป็นไม้พื้นเมืองของประเทศ  จีน   ญี่ปุ่น   ไต้หวัน  แต่ปัจจุบันนี้ได้แพร่หลายไปหลายประเทศ  รวมทั้งประเทศไทย

การบูรที่ได้จากธรรมชาติ  มีลักษณะเป็นผลึกเล็กๆ  สีขาว  เกิดอยู่ทั่วทั้งต้น  เราจะมองเห็นตามรอยแยก  รอยแตกของต้นการบูร  และจะมีมากบริเวณใกล้ๆกับโคนต้น  และราก   ซึ่งจะมีกลิ่นหอมมากกว่าส่วนอื่นๆ   การบูรส่วนมากจะละลายอยู่ภายในน้ำมันหอมระเหยที่อยู่ภายในส่วนต่างๆของต้นการบูร

การผลิตการบูร   นิยมทำโดยนำส่วนต่างๆของต้นการบูร  มาหั่นเป็นชื้นเล็กๆ  มักจะใช้ต้นการบูรที่มีอายุประมาณ 5    ปีขึ้นไป  นำไปต้มหรือกลั่นโดยใช้ไอน้ำ   น้ำมันหอมระเหยที่กลั่นได้จะอยู่ในภาชนะที่รองรับ  เมื่อได้น้ำมันหอมกระเหยที่มากพอ    จะมองเห็นการบูร ตกผลึกเป็นก้อนที่มีสีขาวๆ แยกออกมาจากน้ำมันหอมระเหย   เราก็เก็บเอาผลึกนั้นมาทำเป็นก้อน  หรือบดเป็นชิ้นเล็กๆละเอียด  นำไปใช้ประโยชน์ต่อไปบางแห่ง  ในประเทศอเมริกาจะใช้ใบและยอดอ่อน  มากลั่นเอาการบูรและน้ำมันหอมระเหย  ซึ่งจะได้ผลผลิตเร็วขึ้น  แต่ผลิตภัณฑ์ที่ได้จะน้อยกว่ากลั่นมาจากส่วนลำต้น  และเมื่อตัดใบไปใช้แล้ว  ใบใหม่จะเจริญออกมาอีกภายในเวลา  ประมาณ  2   เดือน   และก็สามารถเก็บใบใหม่ไปใช้กลั่นใหม่ได้อีก

การบูรเทียม เป็นการบูรสังเคราะห์ ทำจากสาร pinene ซึ่งพบในน้ำมันสน

การใช้ประโยชน์จากการบูร
ใช้เป็นยาระงับเชื้ออย่างอ่อน  ยากระตุ้นหัวใจ  ขับลม  ขับเสมหะ  ใช้ทำยาถูนวด  แก้ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ  ปวดตามข้อ  ใช้เพื่อแก้อาการคันที่ผิวหนัง  เป็นต้น

สรรพคุณ:
ตำรายาไทย:
เนื้อไม้ นำมากลั่นจะได้ “การบูร”   มีรสร้อนปร่าเมา ใช้ทาถูนวดแก้ปวด แก้เคล็ดบวม ขัดยอก แพลง แก้กระตุก แก้ปวดข้อ แก้ปวดเส้นประสาท แก้รอยผิวหนังแตก แก้พิษแมลงต่อย และโรคผิวหนังเรื้อรัง เป็นยาระงับเชื้ออย่างอ่อน ขับเหงื่อ ขับเสมหะ ขับปัสสาวะ แก้ไข้หวัด และขับลม บำรุงธาตุ บำรุงกำหนัด ยากระตุ้นหัวใจ บำรุงหัวใจ
ใช้เป็นส่วนผสมในยาหอมต่างๆ เช่น ยาหอมเทพจิตร เป็นยาชาเฉพาะที่  เป็นยาระงับประสาท แก้อาการชักบางประเภท ใช้ผสมเป็นยาเพื่อป้องกันแมลงบางชนิด  วางในห้องหรือตู้เสื้อผ้าไล่ยุงและแมลง

เปลือกและราก กลั่นได้การบูร ใช้การบูร 1-2 เกรน แก้ปวดขัดตามเส้นประสาท ข้อบวมเป็นพิษ แก้เคล็ดบวม เส้นสะดุ้ง กระตุก ขัดยอกแพลง แก้ปวดท้อง ท้องร่วง ขับน้ำเหลือง แก้เลือดลม บำรุงกำหนัด ขับเหงื่อ ขับเสมะหะ บำรุงธาตุ แก้โรคตา กระจายลม ขับผายลม นำมาผสมเป็นขี้ผึ้ง เป็นยาร้อน ใช้ทาแก้เพื่อถอนพิษอักเสบเรื้อรัง ปวดยอกตามกล้ามเนื้อ สะบักจม ทรวงอก ปวดร้าวตามเส้นเอ็น โรคปวดผิวหนัง รอยผิวแตกในช่วงฤดูหนาว แก้พิษสัตว์กัดต่อย

เมล็ดใน – รสฝาด แก้บิด ท้องร่วง ปวดเบ่ง คุมธาตุ

เปลือกต้น – รสฝาด คุมธาตุ สมานแผล

ประโยชน์ด้านอื่น ๆ
–    ใบและกิ่งก้าน  ใช้แต่งกลิ่นอาหารและขนม เช่น ผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ ไส้กรอก เบคอน ข้าวหมกไก่ เยลลี่ แยม ลูกกวาด เครื่องดื่มโคคา-โคลา เหล้าใช้เป็นส่วนผสมในเครื่องพะโล้ เครื่องแกงมัสมั่น ผงกะหรี่ ขนมเค้ก คุกกี้ เป็นส่วนประกอบของอาหารประเภทผักดอง ซอส ใช้แต่งกลิ่นยา เป็นต้น
–    ผงการบูร  ใช้ทำเครื่องหอมประเภทไล่ยุงและแมลง หรือผสมเป็นตัวดับกลิ่นอับในรองเท้า

ข้อควรระวัง
ผู้ที่ปัสสาวะเป็นเลือด ปัสสาวะขัด เป็นโรคริดสีดวงทวาร อุจจาระแข็งแห้งและสตรีมีครรภ์ไม่ควรรับประทาน

น้ำมันการบูร (Camphor)
น้ำมันการบูรช่วยกระตุ้นความรู้สึกและทำให้จิตใจโล่งปลอดโปร่งได้ดี ช่วยบรรเทาอาการปวดศีรษะและทำให้ตื่นตัว ยังใช้ได้ดีกับการบรรเทาอาการปวดกล้ามเนื้อและข้อต่อ และใช้ไล่แมลง
น้ำมันการบูรจะใสไม่มีสีไปจนถึงสีเหลืองอ่อน มีกลิ่นสดชื่น แหลมฉุน จัดอยู่ในกลุ่ม Top note

วิธีการใช้
ผสมน้ำมันนวดตัว ประคบ ผสมในขี้ผึ้ง สูดดม เตาระเหย โลชั่น

ข้อควรระวัง
ห้ามใช้น้ำมันการบูรที่มีสีน้ำตาลและเหลือง เพราะมีความเป็นพิษ

ที่มา
http://www.pharmacy.mahidol.ac.th/siri/index.php?page=search_detail&medicinal_id=127
http://www.rspg.or.th/plants_data/plantdat/lauracea/ccamph_1.htm
http://www.thaicrudedrug.com/main.php?action=viewpage&pid=19