กาสามปีกใหญ่ หรือ เกล็ดปลา

อาหารเพื่อสุขภาพ - สมุนไพร

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Phyllodium longipes (Craib.) Schindl.
ชื่อวงศ์ : Leguminosae-Papilionaceae (Fabaceae)
ชื่ออื่นๆ : ลิ้นมังกร (จีน) , เกล็ดลิ่นใหญ่(นครราชสีมา) ลูบตีบต้น(เชียงใหม่) กาสามปีกใหญ่(สร) เกล็ดปลา (กาญจนบุรี),

ลักษณะ :
ไม้พุ่ม ลำต้นตั้งตรง สูง 1.5-2.5 เมตร แตกกิ่งก้านโปร่ง ตามกิ่งอ่อนและยอดอ่อนมีขน ปลายกิ่งย้อยลง

ใบประกอบแบบขนนก เรียงสลับ ใบย่อย 3 ใบ ใบย่อยใบกลางรูปไข่แกมใบหอก กว้าง 5-8 เซนติเมตร ยาว 8-12 เซนติเมตร ปลายใบแหลม ใบย่อยด้านข้าง กว้าง 3-4 เซนติเมตร ยาว 6-8 เซนติเมตร ใบข้างเล็กกว่าเล็กน้อย ขอบใบเรียบ หลังใบและท้องใบมีขน ก้านใบย่อยยาว 1.5-2 เซนติเมตร

ดอกช่อ ออกเป็นกระจุกที่ซอกใบ ที่ปลายกิ่ง มีใบประดับ ลักษณะคล้ายเกล็ดปลาขนาดใหญ่ประกบหุ้มไว้ 2 ใบ สีเขียวไม่เข้มมาก ประกบซ้อนๆกัน เป็นรูปแท่งห้อยย้อยออกมา กลีบดอกสีขาว รูปดอกถั่ว มีขนาดเล็ก

ผลเป็นฝักแบนยาว รูปขอบขนาน คอดเป็นหยักระหว่างเมล็ด 3-5 ข้อ ผิวฝักมีขนปกคลุม  เมื่อแห้งหลุดเป็นข้อๆ เมล็ดเล็ก แข็ง รูปไต

การกระจายพันธุ์ :พบในจีนตอนใต้ ถึงมาเลเซีย ตามป่าเบญจพรรณและป่าผลัดใบที่ชื้น ที่ระดับความสูง 400-800 ม.

สรรพคุณ 
สรรพคุณทางยาใช้เช่นเดียวกับเกล็ดปลาหมอ
หมอยาพื้นบ้านจังหวัดอุบลราชธานี ใช้ ราก ต้มน้ำดื่ม แก้ริดสีดวงทวาร
หมอยาพื้นบ้านจังหวัดมุกดาหาร ใช้ รากแก้ไข้

ตำรายาพื้นบ้าน ใช้
ราก รสจืดเฝื่อน ต้มดื่มแก้ไข้  แก้โรคตับพิการ (อาการผิดปกติของตับ) ผสมกับรากกระดูกอึ่ง รากกาสามปีก (กาสามปีกเล็ก) รากโมกมัน และรากหางหมาจอก ต้มน้ำดื่ม แก้อาการผอมแห้ง ใจสั่น
เปลือกราก รสจืดเฝื่อน ตำพอกแก้ปวด แก้เคล็ดบวม
ใบ รสจืด ต้มดื่มแก้ไข้ แก้ปัสสาวะดำ แก้ไข้จับสั่น

การใช้ประโยชน์
เป็นแหล่งอาหารสัตว์ โค กระบือ เป็นพืชสมุนไพร ไม้ประดับมีความ
แปลกและสวยงาม

ที่มา
http://www.rspg.or.th/plants_data/use/animals2_08.htm
http://www.songkhlaportal.com/forums/index.php/topic,187.90.html
http://goo.gl/WvWwD