กาฬมรณะ โรคซึ่งสร้างความเสียหายมากที่สุดในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ

รู้ทันโรค

กาฬมรณะ (Black Death) หรือ กาฬโรคครั้งใหญ่ (Great Plague) หรือ มฤตภาพครั้งใหญ่ (Great Mortality) คือเหตุการณ์โรคระบาดทั่วซึ่งสร้างความเสียหายมากที่สุดในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ มีผู้เสียชีวิตราว 75 ถึง 200 ล้านคนในทวีปยูเรเชีย ระบาดรุนแรงสูงสุดในยุโรปช่วงปี 1347 ถึง 1351 เชื่อกันว่าเกิดจากแบคทีเรีย Yersinia pestis ซึ่งก่อให้เกิดกาฬโรคหลายรูปแบบ (กาฬโรคเลือด, กาฬโรคปอด, กาฬโรคต่อมน้ำเหลือง)

เหตุครั้งนี้ถือเป็นการระบาดครั้งแรกของกาฬโรคในแผ่นดินยุโรป และเป็นการระบาดที่สองในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ (การระบาดครั้งแรกเกิดขึ้นราว 800 ปีก่อนหน้า) กาฬมรณะก่อให้เกิดกลียุคทางศาสนา สังคมและเศรษฐกิจ และสร้างผลกระทบอย่างลึกซึ้งในประวัติศาสตร์ยุโรป

ประเมินกันว่ากาฬมรณะมีผู้เสียชีวิต 30% ถึง 60% ของประชากรในทวีปยุโรป ลดประชากรโลกจากประมาณ 450 ล้านคน ลงเหลือ 350–375 ล้านคนในคริสต์ศตวรรษที่ 14 และใช้เวลาราว 200 ปี ในการเพิ่มประชากรยุโรปกลับมาดังเดิม บางพื้นที่อย่าง ฟลอเรนซ์ต้องใช้เวลาเกือบ 500 ปีกว่าประชากรจะกลับมาเท่าเดิม กาฬโรคกลับมาระบาดซ้ำเป็นครั้งคราวกระทั่งต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20

คาดกันว่ากาฬมรณะมีจุดกำเนิดในจีนหรือเอเชียกลาง จากนั้นแพร่มาตามเส้นทางสายไหมจนถึงไครเมียในปี 1343 และมีหมัดหนูตะวันออก (Xenopsylla cheopis) ซึ่งอาศัยอยู่ในหนูท้องขาวที่ติดมากับเรือพาณิชย์ของเจโนวานำโรคจากไครเมียแพร่กระจายไปทั่วลุ่มน้ำเมดิเตอร์เรเนียนไปถึงส่วนที่เหลือของยุโรปผ่านคาบสมุทรอิตาลี

ที่มาของชื่อ

“กาฬมรณะ” (mors nigra) ถูกใช้ในปี 1350 โดยซิมมอน เดอ โควิโน (Simon de Covino) หรือโควิน (Couvin) นักดาราศาสตร์ชาวเบลเยียมผู้ประพันธ์บทกวี “De judicio Solis in convivio Saturni” (คำพิพากษาของดวงอาทิตย์ในงานเลี้ยงฉลองของดาวเสาร์) ซึ่งให้เหตุผลว่ากาฬโรคเกิดจากการรวมตัวกันของดาวพฤหัสบดีและดาวเสาร์

ในปี 1908 ฟรังซีส ไอแดน กาสเกต (Francis Aidan Gasquet) อ้างว่าชื่อ atra mors สำหรับโรคระบาดในคริสต์ศตวรรษที่ 14 ปรากฎครั้งแรกในหนังสือปี 1631 ชื่อประวัติศาสตร์เดนมาร์ก เขียนโดย เจ.ไอ. พอนเทนนัส (Johannes Isacius Pontanus) “ที่พวกเขาเรียกกาฬมรณะนั้นมาจากอาการของโรค” (Vulgo & ab effectu atram mortem vocitabant). ชื่อกาฬมรณะได้แพร่กระจายผ่านสแกนดิเนเวียไปจนถึงเยอรมนี และค่อยๆกลายเป็นชื่อของโรคระบาดกลางคริสต์ศตวรรษที่ 14

อย่างไรก็ตาม atra mors ยังถูกใช้อ้างถึงการระบาดของไข้หวัด (febris pestilentialis) ในหนังสือคริสต์ศตวรรษที่ 12 De signis et sinthomatibus egritudinum (สัญญาณและอาการของโรค) เขียนโดยแพทย์ชาวฝรั่งเศส ฌีล เดอ คอร์เบล (Gilles de Corbeil) ในภาษาอังกฤษ วลีนี้ถูกใช้ครั้งแรกในปี 1755 นักเขียนร่วมสมัยเรียกเหตุการณ์ดังกล่าวว่า “กาฬโรคครั้งใหญ่ (Great Plague)” หรือ “โรคระบาดครั้งใหญ่ (great pestilence)”


หมอกาฬโรค เป็นหมอที่รับรักษาโรคนี้โดยเฉพาะ

ต้นกำเนิด

กาฬโรคมีสาเหตุมาจากเชื้อ Yersinia pestis ซึ่งมีวงจรชีวิตในประชากรหมัดในกลุ่มสัตว์ฟันแทะ เช่น มาร์มอต ในหลายพื้นที่ประกอบด้วยเอเชียกลาง, เคอร์ดิสถาน, เอเชียตะวันตกเฉียงใต้, อินเดียเหนือ, และ ประเทศยูกันดา เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในเอเชีย สัตว์ฟันแทะจึงเริ่มหนีจากทุ่งหญ้าที่แห้งแล้งไปยังพื้นที่ที่มีประชากรมนุษย์อาศัยอยู่จำนวนมาก และแพร่กระจายโรค

ในเดือนตุลาคม 2010 นักพันธุศาสตร์การแพทย์ได้เสนอว่า การระบาดครั้งใหญ่ของกาฬโรคทั้งสามครั้งมีต้นกำเนิดจากประเทศจีน ในปี 2017 การวิจัยหลุมฝังศพคริสตศาสนาเนสตอเรียนระหว่างปี 1338–1339 ใกล้กับอือซึก-เกิลในประเทศคีร์กีซสถานซึ่งมีจารึกที่อ้างถึงกาฬโรค ทำให้นักระบาดวิทยาจำนวนมากคิดว่าพวกเขาระบุจุดเริ่มในการระบาดของโรคระบาดได้ ซึ่งจากจุดนี้โรคสามารถแพร่กระจายไปยังจีนและอินเดียได้อย่างง่ายดาย

การวิจัยในปี 2018 พบหลักฐานของ Yersinia pestis ในหลุมฝังศพโบราณในสวีเดน ซึ่งอาจเป็นสาเหตุที่อธิบายถึงการลดลงของประชากรในยุคหินใหม่ประมาณ 3000 ปีก่อนคริสตกาล ซึ่งประชากรในยุโรปลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ในปี 2013 นักวิจัยยืนยันการคาดการณ์ก่อนหน้านี้ว่าสาเหตุของการเกิดโรคระบาดยุสตินิอานุส (ปี 541–542 และกลับมาระบาดซ้ำจนกระทั่งปี 750) คือ Yersinia pestis

คริสต์ศตวรรษที่ 13 เมื่อมองโกลพิชิตประเทศจีน ส่งผลให้การเกษตรและการค้าตกต่ำ เศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัวเมื่อต้นคริสต์ศตวรรษที่ 14 ในช่วงคริสต์ทศวรรษที่ 1330 ด้วยภัยธรรมชาติและโรคระบาดส่งผลให้เกิดทุพภิกขภัยในวงกว้าง เริ่มในปี 1331 ด้วยกาฬโรคระบาดมาถึงหลังจากนั้นไม่นาน โรคระบาดซึ่งอาจรวมถึงกาฬโรคด้วยนั้น คร่าชีวิตผู้คนทั่วเอเชียไปประมาณ 25 ล้านคนในช่วงสิบห้าปีก่อนที่โรคจะไปถึงคอนสแตนติโนเปิลในปี 1347

โรคได้ล่องตามเส้นทางสายไหมไปกับกองทัพมองโกลและเหล่าพ่อค้า หรืออาจรวมถึงเรือเดินสมุทรด้วย สิ้นปี 1346 รายงานเกี่ยวกับกาฬโรคก็เดินทางมาถึงท่าเรือในทวีปยุโรป: “อินเดียประชากรลดลง ขณะที่ในทาทารี, เมโสโปเตเมีย, ซีเรีย, อาร์มีเนียถูกปกคลุมไปด้วยศพ”

มีรายงานว่ากาฬโรคถูกนำสู่ยุโรปด้วยพ่อค้าชาวเจโนวาจากเมื่อท่าคัฟฟาในคาบสมุทรไครเมียในปี 1347 ระหว่างการโอบล้อมโจมตีเมืองของกองทัพมองโกล ภายใต้การนำของยานี เบจ (Jani Beg) ทางฝ่ายกองทัพมองโกลต้องเผชิญกับกาฬโรค กองทัพจึงได้ใช้เครื่องเหวี่ยงหินยิงศพที่ติดเชื้อกาฬโรคข้ามกำแพงเมืองคัฟฟา เพื่อแพร่เชื้อโรคไปยังชาวเมือง พวกพ่อค้าชาวเจโนวาต่างพากันหลบหนี และได้นำเอากาฬโรคไปด้วยผ่านทางเรือเดินสมุทรไปถึงแคว้นซีชีเลีย อิตาลีแผ่นดินใหญ่และกระจายขึ้นเหนือไป

ไม่ว่าข้อสันนิษฐานนี้จะถูกต้องหรือไม่ แต่เป็นที่แน่ชัดแล้วว่าเหตุหลายประการ เช่น สงคราม ความอดอยาก สภาพอากาศที่เลวร้าย มีส่วนช่วยให้เหตุการณ์กาฬมรณะทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น

ในบรรดาต้นเหตุอื่นๆ ของการระบาด การขาดสารอาหาร แม้จะเป็นเหตุทางอ้อมแต่ก็มีส่วนทำให้ประชากรยุโรปสูญเสียมหาศาลเช่นกันเพราะมันทำให้ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอลง

อาการของโรค

ในบันทึกร่วมสมัยจากช่วงเวลาของการระบาดมักจะแตกต่างกันหรือไม่แน่ชัด อาการที่พบบ่อยที่สุดคือพบฝีมะม่วงที่ในขาหนีบ คอ และรักแร้ มีหนองหรือเลือดเมื่อแตกออก โจวันนี บอกกัชโชได้บรรยายไว้ดังนี้:

ในชายและหญิงมีความเหมือนกัน เขาทั้งหลายเมื่อแรกเริ่มแพ้ภัยจักมีฝีปรากฎขึ้นอย่างรวดเร็วที่ขาหนีบหรือไม่ก็รักแร้ บางจำพวกโตใหญ่จนมีขนาดเท่าแอปเปิ้ลทั่วไปผลหนึ่ง บางจำพวกโตเพียงเท่าไข่ไก่ … จากทั้งสองบริเวณ เจ้าก้อนเนื้อแห่งความตายนี้ก็จะเริ่มแพร่และกระจายตัวไปทุกทิศทุกทางในไม่ช้า หลังการนั้น โรคจะมีอาการเปลี่ยนแปลง ในหลายกรณีจะมีจุดดำหรือจุดแดงเข้มขึ้นที่แขนหรือต้นขาหรือที่อื่นๆ จากไม่กี่จุดเป็นจำนวนมากในระยะเวลาอันสั้น ฝีและจุดดำเป็นสัญลักษณ์แห่งความตายที่ใกล้เข้ามา

รายละเอียดทางการแพทย์เพียงอย่างเดียวที่น่าสงสัยในคำอธิบายของบอกกัชโชคือฝีนั้นเป็น “สัญลักษณ์แห่งความตายที่ใกล้เข้ามา” ในขณะที่ถ้าระบายฝีออกมาจะสามารถรักษาได้

ตามด้วยไข้เฉียบพลันและอาเจียนเป็นเลือด ผู้ป่วยส่วนใหญ่เสียชีวิตในสองถึงเจ็ดวันหลังจากการติดเชื้อ จุดและผื่นคล้ายกระ ซึ่งอาจเกิดจากหมัดกัดถูกระบุว่าเป็นสัญญาณของกาฬโรค

ข้อมูลอ้างอิง
https://th.wikipedia.org/wiki/กาฬมรณะ