กำยาน

อาหารเพื่อสุขภาพ - สมุนไพร

ชื่อวิทยาศาสตร์   Styrax tonkinensis Craib, Styrax paralleloneurus Perkins, Styrax benzoin Dry.
ชื่อวงศ์    Styracaceae
ชื่ออื่น   กำยานไทย(กลาง) กำหยาน(เหนือ) เซ่พอบอ เส้พ่อบอ (กะเหรี่ยงเชียงใหม่) เข้ว(ละว้า-เชียงใหม่) เกลือตานตุ่น(ศรีสะเกษ) ชาติสมิง(นครพนม) กำมะแย กำยานสุมาตรา (นราธิวาส มาเลเซีย) สะด่าน (เขมร สุรินทร์)

ลักษณะ
กำยานเป็นไม้ต้น สูง 10–20 ม. เรือนยอดโปร่ง ลำต้นเปลาตรง เปลือกเรียบ สีเทา กิ่งอ่อนมีขนนุ่ม

ใบ เดี่ยว เรียงสลับ แผ่นใบรูปไข่ กว้าง 3–4.5 ซม. ยาว 8–12 ซม. ปลายใบเรียวแหลม โคนใบมนและเบี้ยวเล็กน้อย ท้องใบสีขาว มีขนประปราย ขอบใบเรียบ หรือเป็นคลื่นเล็กน้อย เส้นแขนงใบ 6–8 คู่ ก้านใบยาวประมาณ 1.5 ซม. ดอก สีขาว กลิ่นหอม ออกเป็นช่อสั้นๆ ตามง่ามใบและปลายกิ่ง
ดอก มีกลีบดอก 2 สี กลีบดอกด้านในเป็นสีชมพู หรือชมพูแดง ส่วนกลีบดอกด้านนอกจะเป็นสีขาว มีเกสรตัวผู้สีเหลือง มีกลิ่นหอม
ผล กลมหรือแป้น สีเขียวอ่อน กว้างประมาณ 2.5 ซม. ยาวประมาณ 2 ซม. เปลือกแข็งมีฝาหรือหมวกปิดขั้วผล ซึ่งพัฒนาจากกลีบเลี้ยง มี 1–2 เมล็ด

กำยานมีการกระจายพันธุ์ในป่าดิบเขาทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก ที่ความสูงจากระดับทะเลปานกลาง 600–1,200 ม. ออกดอกเดือนมกราคม–กุมภาพันธ์ ผลแก่เดือนมีนาคม–เมษายน

ตำราไทยใช้ชันที่เรียก Gum Benjamin ใช้เข้าเครื่องยาและทำเครื่องสำอาง

ส่วนที่ใช้ประโยชน์โดดเด่นคือยางจากต้นหรือยางจากเปลือก ทั้งในด้านสมุนไพรหรือการนำไปทำเครื่องหอมต่าง ๆ

ยางกำยานชั้นหนึ่งจะมีสีขาว ซึ่งได้จากต้นที่มีอายุ 3-6 ปี ยางชั้นรองลงมามีสีน้ำตาล ซึ่งได้จากต้นแก่ที่มีอายุ 7-9 ปี ต้นกำยานที่มีอายุตั้งแต่ 9 ปีขึ้นไปจะให้ยางสีน้ำตาลดำหรือสีดำ ซึ่งไม่เหมาะที่จะนำไปใช้ประโยชน์ ต้นกำยานจะเริ่มออกยางเมื่ออายุราว 8-10 ปี การเก็บยางทำกันสองสามครั้งต่อปี ครั้งหลังสุดจะเป็นยางที่มีคุณภาพดีที่สุด

ยางจากต้นกำยาน ใช้ทำเครื่องร่ำน้ำอบไทย ทำธูป กระแจะ หรือเครื่องหอมชนิดอื่น ๆ วิธีการกรีดยาง ให้ใช้มีดหรือของมีคม สับฟันต้นหรือเปลือกให้น้ำยางไหลออกมา แล้วทิ้งไว้อย่างนั้น 60 วัน เพื่อให้น้ำยางแห้ง จึงทำการเก็บยางจากต้นหรือเปลือกออกมาใช้

ยางนำไปสกัดน้ำมันหอมระเหยที่เรียก Benzoin oil ได้น้ำมันสีส้มอมน้ำตาล กลิ่นหอมคล้ายวนิลา ช่วยรักษาความตึงเครียดของระบบประสาท ทำให้จิตใจเบิกบานหายหดหู่
ยางของต้นกำยานจะให้สารสำคัญที่เรียกว่า ชันกำยาน โดยเมื่อกรีดเปลือกต้นตามยาว ยางจะซึมออกมาตามรอยแผลที่กรีดไว้ และจะแข็งตัวเมื่อถูกอากาศ ชันยางที่กรีดได้ครั้งแรกจะขาวบริสุทธิ์ และมีกลิ่นหอมมาก

การขยายพันธุ์

กำยานขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด เป็นพรรณไม้กลางแจ้ง

กำยานที่มีขายในท้องตลาดมี 2 ชนิด คือ
กำยานสุมาตรา (Sumatra Benzoin) มีถิ่นกำเนิดในอินโดนีเซีย
กำยานญวน (มีถิ่นกำเนิดบริเวณอ่าวตังเกี๋ยของเวียดนาม) หรือกำยานหลวงพระบาง (เพราะเป็นกำยานที่ผลิตมากที่แขวงหลวงพระบางของลาวในปัจจุบัน) กำยานญวณเป็นกำยานชนิดที่ดีที่สุด ฝรั่งเรียก ‘Siam Benzoin’ เพราะกำยานชนิดนี้ส่งออกไปขายจากราชอาณาจักรสยาม  กำยานชนิดนี้ได้จากต้นกำยานอันมีชื่อพฤกษศาสตร์ว่า Styrax tonkinensis (Pierre) Craib ex Hartwick ซึ่งคล้ายคลึงกับพืชชนิดที่ให้กำยานสุมาตรา
ในทางการค้า กำยานชนิดหลังนี้แบ่งออกเป็น 2 ชนิด ชนิดหนึ่งเป็นเม็ดกลมรี เม็ดไม่ติดรวมกัน เรียกว่า “Tear Siam Benzoin” ส่วนอีกชนิดหนึ่งเป็นเม็ดๆ ติดกันเป็นก้อน มีลักษณะเป็นก้อนเหลี่ยมตามลักษณะของหีบไม้ที่บรรจุ เรียกว่า “Block Siam Benzoin”
กำยานหลวงพระบางที่เป็นเม็ดกลมรีนี้มีขนาดเล็ก ส่วนมากมีความยาวน้อยกว่า 2-3 เซนติเมตร ทึบแสง เปราะ ชั้นในมีสีน้ำนมขาวขนาดเล็กแต่เมื่อเก็บไว้นานๆ จะค่อยๆ เปลี่ยนเป็นสีแดงปนน้ำตาล ใสหรือทึบแสง
ชนิดที่ดีที่สุด คือ เม็ดกลมรี เกาะติดกันหลวมๆ ไม่แน่น ชนิดธรรมดาเป็นเม็ดกลมรี ติดกันแน่น โดยมียางสีอำพันไม่โปร่งแสง ยึดติดระหว่างเม็ด
กำยานสุมาตราจะแตกต่างจากกำยานญวนหรือกำยานหลวงพระบางตรงที่มีสีเทามากกว่า ไม่ค่อยพบส่วนที่เป็นก้อนกลมๆรีๆ มักมีเศษไม้และของอื่นๆ ปนอยู่ ความหอมก็สู้กำยานญวนหรือกำยานหลวงพระบางไม่ได้

กำยานที่นำมาใช้ประโยชน์ทางยา ส่วนใหญ่จะเป็นกำยานสุมาตรา โดยใช้เป็นยาฆ่าเชื้อ ขับเสมหะ ขับปัสสาวะ และเป็นยาฝาดสมาน

ส่วนกำยานญวนหรือกำยานหลวงพระบางใช้เป็นสารให้คงกลิ่น (fixative) ในน้ำหอม สบู่ ครีม สารซักฟอก เป็นต้น

สรรพคุณ
–         ยาง  มีกลิ่นหอม ใช้เป็นยา บำรุงเส้น แก้ไอ ขับเสมหะ แก้ลม ขับลม บำรุงหัวใจ ลดความเครียด คลายความวิตกกังวล ทำให้รู้สึกสบายใจขึ้น  แก้นิ่ว ขับปัสสาวะ ห้ามเลือดสมานแผลเป็นยาฝาดสมาน หรือใช้ดับกลิ่นเน่าเหม็นทุกประเภท เมื่อผสมกับน้ำผึ้ง ใช้ทาแก้โรคเชื้อรา น้ำกัดเท้า ทาแผล หรือใช้ทำเครื่องหอม นำไปเผาไฟใช้ควันอบห้องเพื่อให้มีกลิ่นหอมไล่ริ้นไรมดแมลง เพื่อฆ่าเชื้อโรคในอากาศ
ชันยางของกำยานมักใช้เป็นส่วนผสมในตำรับยาแผนโบราณเพื่อแต่งกลิ่นและกันบูด

ประโยชน์ด้านอื่น
–         ยาง  ใช้ทำเครื่องร่ำ น้ำอบไทย ทำธูป กระแจะ หรือเครื่องหอมชนิดอื่น ๆ หรือใช้สกัดน้ำมันหอมระเหย เพื่อใช้เป็นส่วนผสมในการผลิตน้ำหอมให้เกิดกลิ่นคงตัว ช่วยทำให้น้ำมันหอมระเหยที่มีกลิ่นเบากว่าคงอยู่ได้นาน และใช้เป็นสารกันเสียหรือกันหื่นได้ดี

ทางด้านอุตสาหกรรมมีการนำน้ำยางของต้นกำยานไปใช้ใน 2 ประเภท คือ เพื่อนำไปใช้ทางด้านพิธีกรรมทางศาสนาและอีกประเภทคือนำไปใช้เป็นส่วนผสมของยาต่อต้านมะเร็งหรือยาที่ใช้ในการฆ่าเชื้อโรคในอากาศ

เนื่องจากกำยานสามารถต้านการสลายตัวของไขมันต่างๆ ได้ จึงใช้กำยานผสมกับไขมันที่จะใช้เป็นยาพื้นสำหรับเตรียมยาขี้ผึ้งต่างๆ

น้ำมันกำยาน (Benzoin)
น้ำมันกำยานมีความโดดเด่นในการถูกใช้เป็นส่วนผสมในการผลิตน้ำหอม เพราะมันทำหน้าที่ทำให้กลิ่นคงตัว (Tixahve)และรักษาให้กลิ่นของน้ำมันหอมระเหยที่เบากว่าอยู่ได้นาน และยังใช้เป็นสารกันเสียกันหื่นได้ดีโดยตัวของมันเอง น้ำมันกำยานมีประโยชน์ในการรักษาความตึงเครียดของระบบประสาท ทำให้จิตใจเบิกบานหายหดหู่

น้ำมันกำยานมีสีส้มอมน้ำตาล กลิ่นหอมหวานคล้ายวนิลา จัดอยู่ในกลุ่ม Base note

วิธีการใช้

ประคบ ผสมน้ำหอม ผสมน้ำมันนวด ผสมในขี้ผึ้ง

ปัจจุบัน การบำบัดรักษาสุขภาพด้วยกลิ่นหอม หรือที่เรียกว่า อโรมาเธราพี (Aromatherapy) กำลังได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก และหนึ่งในกลิ่นหอมที่นำมาใช้ก็คือ ‘กำยาน’ นั่นเอง

กำยาน (ซื้อจากร้านขายยา) …ต้มน้ำให้เดือด เทใส่ลงในขันหรือหม้อเล็กๆ เอากำยานก้อนเท่าเมล็ดถั่วเขียว บี้หรือแกะเป็นชิ้นเล็กๆ ทิ้งลงในน้ำ เอากระดาษม้วนเป็นกระบอก ปลายข้างใหญ่ครอบปากหม้อหรือขันอย่างหลวมๆ ข้างเล็กอมไว้ในปาก ค่อยๆ สูดไอระเหยของกำยานเข้าไปในคออย่างช้าๆ สูดซ้ำๆ จนน้ำเย็นลงและไอระเหยของกำยานหมดไป ทำวันละสองสามครั้ง (ต้องทำปลายหลอดทางกว้างให้ใหญ่กว่าปากหม้อเล็กน้อยอย่าทำให้พอดี มิฉะนั้นจะได้ไอระเหยเข้มเกินไป)……แก้คอเจ็บ….สำเนาจาก ประมวลตำรับยาไทย…โครงการตามพระราชดำริสวนป่าสมุนไพร//

ที่มา
http://www.samunpri.com/herbs/?p=103
http://www.matichon.co.th/events/kaset2554/viewnews.php?news=news24
http://drug.pharmacy.psu.ac.th/Question.asp?ID=1942&gid=3