กุ่มน้ำ

อาหารเพื่อสุขภาพ - สมุนไพร

ชื่อวิทยาศาสตร์    Crateva religiosa Ham.
ชื่อวงศ์   Capparaceae
ชื่ออื่นๆ   กุ่ม (เลย) อำเภอ (สุพรรณบุรี) ผักกุ่ม ก่าม(ตะวันออกเฉียงเหนือ)

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ไม้ต้นขนาดเล็กถึงขนาดกลาง  สูงได้ถึง 20 เมตร  จะผลัดใบร่วงหมดทั้งต้นเมื่อจะออกดอก   เรือนยอดแผ่กว้าง   ลำต้นมักคดงอและแตกกิ่งต่ำ เปลือกค่อนข้างเรียบสีเทาอมขาวหรือเทาแต้มขาวเป็นทาง  มีช่องระบายอากาศเล็กๆตามผิวทั่วไป

ใบประกอบแบบนิ้วมือ ใบย่อย 3 ใบ รูปวงรีหรือรูปไข่ ออกเรียงสลับ กว้าง 2.5-7 เซนติเมตร ยาว 5.5-16 เซนติเมตร ปลายกว้างแหลม โคนสอบแคบ ขอบใบเรียบ ผิวใบบางและนิ่ม หลังใบสีเขียวเป็นมัน ท้องใบมีขนอ่อนสีเทา เส้นกลางใบอมแดง ปลายก้านใบมีต่อมน้ำตาลขนาด 1 มิลลิเมตร กว้าง 1-3 นิ้ว ยาว 2-9 นิ้ว ใบที่อยู่ด้านข้างโคนจะเบี้ยวเล็กน้อย หลังใบ และท้องใบเรียบ

ดอกช่อ ออกที่ปลายกิ่ง และซอกใบ ยาว 4-6 นิ้ว ติดดอก 20-60 ดอก กลีบดอกเมื่อแรกบานสีขาวแล้วเปลี่ยนเป็นสีเหลืองอ่อน กลีบรองดอกรูปไข่ปลายแหลม กลีบดอกกลมยาว 2-3 เซนติเมตร สีขาว มี 4 กลีบ กลีบล่างและกลีบบนอย่างละ 2 กลีบ แต่กลีบบนจะใหญ่กว่า เกสรตัวผู้มีก้านสีม่วงหรือสีชมพู ยาวยื่น 13-25 อัน

ผลสด รูปร่างค่อนข้างกลมรี เปลือกหนา ผลอ่อนผิวมีสะเก็ดสีเหลืองอมเทา เมื่อสุกสีเทา ผลแก่ผิวเรียบยาว 5-8 เซนติเมตร เมล็ดรูปเกือกม้า ยาว 6-9 มิลลิเมตร มีหลายเมล็ด

พบตามข้างลำธาร ริมแม่น้ำ ที่ชื้นแฉะ ในป่าเบญจพรรณ ออกดอกราวเดือนกุมภาพันธ์ ถึงมิถุนายน ยอดอ่อนใช้ปรุงอาหารได้ แต่ต้องนำมาดองน้ำเกลือตากแดด ทิ้งไว้ประมาณ 2-3 วัน แล้วจึงนำไปปรุงอาหาร โดยผัดหรือแกงได้

สรรพคุณ
ส่วนที่ใช้ : ใบ เปลือก กระพี้ แก่น ราก ดอก ผล

ใบ
รสขมหอม ขับเหงื่อ แก้ไข้ เจริญอาหาร ระบาย บำรุงธาตุ ขับพยาธิ แก้ปวดเส้น แก้อัมพาต แก้โรคไขข้ออักเสบ แก้สะอึก ขับผายลม แก้ลมขึ้นเบื้องสูง ดอก รสเย็น แก้เจ็บในตา แก้ไข้ครั่นเนื้อครั่นตัว แก้เจ็บคอ

เปลือก
รสขมหอม แก้สะอึก ขับผายลม ขับเหงื่อ แก้ในกองลม แก้กระษัย แก้ริดสีดวงผอมแห้ง ระงับพิษที่ผิวหนัง แก้ไข้ ขับน้ำเหลืองเสีย เป็นยาบำรุง ขับน้ำดี ขับนิ่วในทางเดินปัสสาวะ แก้อาเจียน แก้ลมทำให้เรอ ผสมรวมกับเปลือกกุ่มบก เปลือกทองหลางใบมน ต้มน้ำดื่ม เป็นยาขับลม

กระพี้
รสร้อน แก้ริดสีดวงทวาร

แก่น
รสร้อน แก้นิ่ว

ราก
แช่น้ำกิน แก้ปวดท้อง บำรุงธาตุ ขับหนอง

ดอก
แก้เจ็บตา และในลำคอ

ผล
รสขม แก้ไข้

หมอยาพื้นบ้านจังหวัดอุบลราชธานี ใช้ แก่น ต้มน้ำดื่ม ช่วยบำรุงกำลัง แก้ปวดเมื่อย เปลือกต้น ทำเป็นยาลูกกลอน แก้อัมพฤกษ์ อัมพาต

ใบและกิ่ง มีสารไฮโดรเจนไซยาไนด์ซึ่งเป็นพิษ ไม่ควรกินสดควรดอง หรือต้มเพื่อกำจัดพิษก่อนกิน

ที่มา
http://www.phargarden.com/main.php?action=viewpage&pid=15