ขนุนละมุด

อาหารเพื่อสุขภาพ - สมุนไพร

ชื่อวิทยาศาสตร์ :   Artocarpus heterophyllus  Lam.
ชื่อสามัญ :   Jack fruit tree
วงศ์ :  Moraceae
ชื่ออื่น :  ขะนู (ชอง-จันทบุรี) ขะเนอ (เขมร) ซีคึย, ปะหน่อย (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน)  นะยวยซะ (กะเหรี่ยง-กาญจนบุรี)  นากอ  (มลายู-ปัตตานี) เนน (ชาวบน-นครราชสีมา) มะหนุน (ภาคเหนือ,ภาคใต้) ล้าง,ลาน (ฉาน-เหนือ)  หมักหมี้ (ตะวันออกเฉียงเหนือ) หมากกลาง (ฉาน-แม่ฮ่องสอน)

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ : 
ไม้ต้น ขนาดใหญ่ สูง 15 – 30 เมตร ลำต้นและกิ่งเมื่อมีบาดแผลจะมีน้ำยางสีขาวข้นคล้ายน้ำนมไหล

ใบ เป็นใบเดี่ยว เรียงสลับ แผ่นใบรูปรี ขนาดกว้าง 5-8 เซนติเมตร ยาว 10 – 15 เซนติเมตร ปลายใบทู่ ถึงแหลม โคนใบมน ผิวในด้านบนสีเขียวเข้มเป็นมัน เนื้อใบหนาผิวใบด้านล่างจะสากมือ

ดอก เป็นช่อแบบช่อเชิงสดแยกเพศอยู่รวมกัน ดอกเพศผู้เรียกว่า “ส่า” มักออกตามปลายกิ่ง ดอกเพศเมียจะออกตามกิ่งใหญ่และตามลำต้นยอดเกสรเพศเมีย เป็นหนามแหลม การออกดอก จะออกปีละ 2 ครั้ง คือ ช่วงเดือนธันวาคม – มกราคม และเมษายน – พฤษภาคม

ผล เป็นผลรวม กลมและยาวขนาดใหญ่ หนักหลายกิโลกรัม เมล็ดกลมรี เนื้อหุ้มเมล็ดสีเหลือง ถ้าสุกมีกลิ่นหอมส่วนของเนื้อที่รับประทานเจริญมาจากกลีบดอก ส่วนซังคือกลีบเลี้ยง ลักษณะเนื้อยวงเปียก เละเหนียว เนื้อค่อนข้างบาง ยวงเล็ก รสหวาน มีกลิ่นหอม

ส่วนที่ใช้ :  ยวง เมล็ด แก่นของขนุน ส่าแห้งของขนุน ใบ

สรรพคุณ :   รสและสรรพคุณในตำรายาไทย

1. ใบ รสฝาดมัน รักษาหนองเรื้อรัง ใบสดนำมาตำให้ละเอียดอุ่นพอกแผล
2. ราก (ขนุนละมุด) รสหวานอมขม แก้ท้องร่วง แก้ไข้ แก้ธาตุน้ำกำเริบ โลหิตพิการ ฝาดสมาน บำรุงกำลัง บำรุงโลหิต
3. แก่นและราก รสหวานอมขม บำรุงโลหิต แก้กามโรค ขับพยาธิ ระงับประสาท แก้โรคลมชัก
4. ยาง รสจืด ฝาดเฝื่อน แก้อักเสบบวม แผลมีหนองเรื้อรัง แก้ต่อมน้ำเหลืองอักเสบ ขับพยาธิ ขับน้ำนม
5. เนื้อหุ้มเมล็ด รสหวานมันหอม บำรุงกำลัง ชูหัวใจให้ชุ่มชื่น
6. เนื้อในเมล็ด รสหวานมัน บำรุงน้ำนม ขับน้ำนม บำรุงกำลัง
7.ยวงและเมล็ด – รับประทานเป็นอาหาร
8. แก่นขนุนหนังหรือขนุนละมุด – มีรสหวานชุ่มขม บำรุงกำลังและโลหิต ทำให้เลือดเย็น สมาน
9. ใบขนุนละมุด – เผาให้เป็นถ่านผสมกับน้ำปูนใสหยอดหู แก้ปวดหู และหูเป็นน้ำหนวก
10. ไส้ในของขนุนละมุด – รับประทานแก้ตกเลือดทางทวารเบาของสตรีที่มากไปให้หยุดได้
11. แก่นและเนื้อไม้ – รับประทานแก้กามโรค
12. ยอดขนุน รสฝาดอมเปรี้ยวเล็กน้อย
13. ผลอ่อน รสมันหวาน สรรพคุณฝาดสมาน รักษาอาการท้องเสีย

กรัก(แก่นขนุนละมุด)
แก่น รสหวาน ชุ่มคอ บำรุงกำลัง บำรุงโลหิต สมานแผล ใส้ในลูก รสหวานหอม แก้ตกเลือดทางทวารเบาของสตรี กินแล้วทำให้เลือดหยุด

ขนาดและวิธีใช้

1. รักษาแผลมีหนองเรื้อรัง ใช้ใบแห้งบดเป็นผง โรยแผล หรือใช้ผสมยาทาตรงที่เป็น ถ้าใช้รักษาบาดแผลธรรมดา ใช้ใบสดตำให้ละเอียดอุ่นนำไปพอกแผล
 2. ช่วยขับน้ำนม (ตำรับยาพื้นบ้านของชาวเหนือ) ใช้ก้านขนุนอ่อนที่มีผลขนุนติดอยู่ 3-7 ก้าน ต้มน้ำรับประทาน
3. แก้ซางชุมและละอองซาง ใช้ดอกตัวผู้ (ขนุนหนัง) หรือเรียกว่า “ ส่า ” นำมาสุมแทรกใส่น้ำปูนใส ทาลิ้นเด็ก

ประโยชน์อื่น
ขนุนเป็นต้นไม้ที่มีประโยชน์ใช้สอยมากมายหลายด้าน
แก่นไม้หรือเนื้อไม้ของขนุนจะมีสีเหลืองเข้มออกน้ำตาล นิยมนำมาใช้เป็นสีย้อมผ้า ผ้าจะออกสีเหลืองน้ำตาล หรือเรียกว่า “สีกรัก” นอกจากนี่ยังใช้ทำอุปกรณ์เครื่องเรือน และเครื่องดนตรีได้ด้วย
แก่นของขนุน – ต้มย้อมผ้าให้สีน้ำตาลแก่
ส่าแห้งของขนุน – ใช้ทำชุดจุดไฟได้

ประโยชน์ทางอาหาร
ส่วนที่ใช้เป็นอาหาร ยอดอ่อนรสฝาดอมเปรี้ยวเล็กน้อย ใบอ่อนและผลอ่อนรสมันหวาน
ช่วงเวลาเก็บ ช่วงฤดูฝน และต้นฤดูหนาว

การปรุงอาหาร
ยอดอ่อน ใบอ่อนๆ ของขนุน รับประทานสดกับส้มตำ เมี่ยง (อีสาน) หรือรับประทานแบบสด หรือลวกรับประทานร่วมกับน้ำพริก นอกจากนี้ซังและยอดอ่อนยังปรุงเป็นแกง โดยแกงกับปลาแห้ง พริก หอมแดง กระเทียม ปลาร้า และ เกลือเล็กน้อย ปอกเปลือกฝานเนื้อขนุนเป็นแว่น นำไปต้มให้สุกและรับประทานร่วมกับน้ำพริก หรือนำไปทำอาหารพื้นเมืองที่มีรสชาติเฉพาะถิ่น ชาวอีสานปรุงเป็นซุปบักมี่ชาวเหนือปรุงเป็นแกงขนุน

คติความเชื่อ
ขนุนนับเป็นไม้มงคลชนิดหนึ่งของคนไทย กำหนดปลูกทางทิศตะวันตกเฉียงใต้(หรดี) ตามโบราณเชื่อกันว่า การปลูกต้นขนุนในบริเวณบ้านจะหนุนเนื่องบุญบารมี เงินทอง จะมีคนเกื้อหนุน และอุดหนุนจุนเจือ นอกจากนี้ชาวเหนือใช้ใบขนุนร่วมกับใบพุทรา ใบพิกุล (แก้ว) นำมาซ้อนกันแล้วนำไปไว้ในยุ้งข้าวตอนเอาข้าวขึ้นยุ้งใหม่ๆ เชื่อกันว่าจะทำให้หนุนนำและส่งผลให้มีข้าวกินตลอดปี และตลอดไป

ที่มา
http://goo.gl/DKVbV
http://www.rspg.or.th/plants_data/herbs/herbs_30_1.htm
http://ittm.dtam.moph.go.th/data_articles/direct_tree/directtree11.htm
http://www.siamlocalnews.com/chailaewh/view.php?gid=1607&newsid=2810&issueid=807