คนทีสอ

อาหารเพื่อสุขภาพ - สมุนไพร

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Vitex trifolia Linn.
ชื่อวงศ์  Verbenaceae
ชื่อสามัญ : Tree Leaved Chaste Tree, Indian Privet, Indian Wild Pepper

ชื่ออื่น ๆ : คนทีสอขาว (ตามตำราไทย) , คนทีสอขาว (ภาคเหนือ) ผีเสื้อน้อย,ดอกสมุทร (เชียงใหม่) , คุนตีสอ ( สตูล ) , ดินสอ (กลาง) , ผีเสี้อ (เลย) , มูดเพิ่ง (ตาก) ,สีสอ (ประจวบคีรีขันธ์)


ลักษณะ

ไม้พุ่ม ขนาดกลาง สูงประมาณ 3-6 เมตร เปลือกลำต้นเรียบ สีเทา เป็นกระสีดำ เปลือกในสีเหลืองอ่อนแตกเป็นร่องตื้นตามยาว  เรือนยอดเป็นพุ่มกว้าง 2 – 3 เมตร

ใบประกอบแบบนิ้วมือ ออกตรงกันข้าม ใบย่อยรูปไข่ปลายแหลม 3 ใบ กว้าง 2.5-3 เซนติเมตร ยาว 4-6 เซนติเมตร ขอบใบเรียบ ปลายแหลม โคนใบสอบ  ท้องใบเป็นสีนวลขาวมีขนสีเทา  หลังใบเกลี้ยงมีสีเขียวเข้ม  เส้นแขนงใบ 7 – 9 คู่ แยกเยื้องกันไป ปลายเส้นจรดเส้นถัดไปก่อนถึงขอบใบ

ดอกเล็กสีม่วงเป็นช่อยาว ยาว 10 – 15 เซนติเมตร ช่อตั้งตรง ออกที่ปลายกิ่ง โคนกลีบดอกเชื่อมติดกัน ปลายแยกเป็น 5 กลีบ กลีบดอกมีขนาดไม่เท่ากัน แบ่งออกเป็น 2 ส่วน ส่วนล่างมี 2 กลีบ ส่วนบนมี 3 กลีบ มีกลีบหนึ่งรูปกลีบเหมือนช้อน  มีเกสรตัวผู้ 4 อัน กลีบเลี้ยงรูปถ้วย ปลายแยกเป็น 5 แฉก

ผลสด รูปทรงกลม เท่าผลพริกไทยเป็นพวงช่อ  สีเขียวนวล เมื่อแก่แห้ง ผิวเรียบ สีน้ำตาลดำ มีกลีบเลี้ยงสีเทาหุ้ม ภายในมีเมล็ดเดียว  เมล็ดเดี่ยวกลม สีน้ำตาล

เกิดตามป่าดงดิบเขา ป่าเบญจพรรณ ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด

ส่วนที่ใช้ : ใบ ดอก ผล ราก เปลือก เมล็ด ใช้เป็นยา

สรรพคุณ : 
ใบ รสร้อนสุขุมหอม  ในใบสดจะมีน้ำมันหอมระเหยประมาณ 0.11-0.28% จะประกอบด้วย I-d-pinene, camphene, Terpinyl acetate, diterpene alcohol และพวกชัน  นอกจากนี้ยังใช้ตั้งตรีสมุฎฐานให้เป็นปกติ

ใช้ฆ่าพยาธิ  รักษาโรคหืดไอ  ขับเสมหะ บำรุงธาตุ รักษาโรคตับ ขับลม แก้ไอ แก้หืด  แก้ริดสีดวงจมูก แก้ลำไส้พิการ ขับเหงื่อ รักษาอาการสาบคายในกาย แก้พิษฝีใหญ่ แก้พิษสำแลง และพิษต่างๆ ผสมกับเทียน ขมิ้น พริกไทย รับประทานแก้วัณโรค รักษาโรคเกี่ยวกับลำไส้ แช่น้ำอาบแก้ผื่นคันโรคผิวหนัง โรคปวดข้อ ปวดกล้ามเนื้อ และเป็นยาไล่แมลง

ดอก รสหอมฝาด สรรพคุณ บำรุงน้ำดี แก้ไข้ แก้พยาธิ แก้หืดไอ แก้ไข้ในหญิงมีครรภ์บำรุงครรภ์มารดา บำรุงน้ำนม   ใช้รักษาอาการใข้ซึ่งบังเกิดแต่ในทรวงและรักษาพยาธิ

ผล  รสร้อนสุขม ใช้รักษาพยาธิและรักษาอาการไข้ในครรภ์รักษา กระพี้ รักษาอาการคลื่นเหียนอาเจียน ไส้ รักษา ระดูสตรีและตั้งโลหิต

ราก รสร้อนสุขุม สรรพคุณ แก้โรคตับ ถ่ายน้ำเหลืองเสีย ขับเหงื่อ ขับปัสสาวะ บำรุงธาตุ แก้ปวดข้อ และปวดกล้ามเนื้อ  ใช้รักษาอาการไข้ซึ่งมีอาการอันกระทำให้ร้อน

เปลือก ใช้รักษาอาการไข้ซึ่งมีอาการกระทำให้เย็น รักษาอาการคลื่นเหียน รักษาหญิงระดูพิการและตั้ง โลหิต

กระพี้ รักษาอาการคลื่นเหียนอาเจียน  รักษาระดูสตรี

เมล็ด  รสร้อนสุขุม   สรรพคุณ เจริญอาหาร  ใช้ระงับอาการปวดทำให้สงบได้ นอกจากนี้ในเมล็ดยังมีสารจำพวก acetic acid , malic acia , acid resin และน้ำมันระเหย จะประกอบด้วย 55% camphene 20% , limonene และ pinene

รากและใบ ต้มกินแก้ไข้ ให้หญิงหลังคลอดบุตรใหม่ๆรับประทานเป็นยาขับปัสสาวะและขับเหงื่อ

เข้ายาตำรับ   ยาสหัสธารา คลายกล้ามเนื้อ แก้ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ
สรรพคุณ แก้ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ แก้ลมแล่นตามเส้นตามเนื้อ แก้ลิ้นกระด้างคางแข็ง มือชา เท้าชา

ที่มา
http://www.phargarden.com/main.php?action=viewpage&pid=27
http://www.samunpri.com/herbs/?p=221
http://www.oknation.net/blog/suntawanyim/2012/12/14/entry-1
http://www.thaihealth.or.th/healthcontent/article/15299
ตำราแพทย์แผนโบราณทั่วไป สาขาเภสัชกรรม , กองประกอบโรคศิลปะ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข