คีโต ไดเอท คืออะไร กินแบบไหน ใครที่ทำได้บ้าง

อาหารเพื่อสุขภาพ - สมุนไพร

 

            คีโต ไดเอทคืออะไร

            คีโต ไดเอท มีชื่อเรียกเต็มๆ ว่า Ketogenic Diet คือการจำลองภาวะอดอาหาร เกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อ ค.ศ.1920 จุดมุ่งหมายแรกเพื่อรักษาโรคลมชักในเด็ก การรับประทานอาหารแบบคีโตจะทำให้เกิดภาวะที่ร่างกายไม่ได้รับพลังงานจากน้ำตาลหรือกลูโคส จนต้องไปดึงไขมันที่สะสมอยู่ในร่างกายมาใช้แทน ส่งผลให้ตับผลิตสารคีโตนขึ้นมา ซึ่งก็จะถูกนำไปใช้เป็นพลังงานด้วยเช่นกัน

            คีโต ไดเอทกินอย่างไร

            กินโดยเน้นไขมันดีเป็นหลัก โดยบริโภคในสัดส่วน 75-80% รองลงมาก็คือโปรตีน กินประมาณ 20% และสุดท้ายให้กินคาร์โบไฮเดรตให้น้อยที่สุด เพียง 5% เท่านั้น หรือประมาณ 20 กรัมต่อวัน โดยให้รับประทานไขมันทั้งจากพืชและเนื้อสัตว์ เช่น น้ำมันมะกอก น้ำมันมะพร้าว อะโวคาโด เนย กะทิ ส่วนโปรตีนก็กินพวกไข่ เครื่องใน เนื้อสัตว์ติดมัน อาหารทะเล เนื้อสัตว์แปรรูปที่ไม่ผสมแป้ง และคาร์โบไฮเดรตให้กินน้อยที่สุด โดยสามารถกินผักใบเขียวได้ทุกชนิด ยกเว้นพวกพืชหัว เช่น แครอท มันฝรั่ง เผือก มัน เป็นต้น เพราะมีคาร์โบไฮเดรตสูง

3 ระยะระหว่างทำคีโตที่ควรรู้

  1. Keto Fluคือ ไข้คีโต โดยจะเกิดภาวะโหยน้ำตาล ทำให้รู้สึกอ่อนเพลีย มึนงง ปวดหัว นอนไม่ค่อยหลับ คิดอะไรไม่ค่อยออก ท้องไส้ปั่นป่วน ท้องผูก ซึ่งจะเกิดขึ้นในระยะ 2-3 วันแรกที่กินคีโต แก้ได้ด้วยการกินอาหารมากขึ้น ดื่มน้ำเยอะๆ และกินเค็มก็ช่วยได้เช่นกัน
  2. Ketosisคือ หลังกินคีโต ร่างกายจะเริ่มดึงไขมันมาใช้เป็นพลังงาน อาจมีภาวะโหยน้ำตาลบ้างเป็นพักๆ แต่น้อยลง ซึ่งน้ำหนักอาจจะลดลงหรือคงที่ก็ได้ โดยจะเป็นอยู่ประมาณ 1-2 สัปดาห์
  3. Keto Adapted คือ คีโตแบบเต็มตัว ร่างกายเริ่มปรับตัวได้ ไม่ค่อยอยากน้ำตาลแล้ว เพราะดึงไขมันมาใช้เป็นพลังงานหลักนั่นเอง และน้ำหนักก็จะลดลงเรื่อยๆ ซึ่งระยะนี้ต้องหลังจากกินคีโตไปประมาณ 1 เดือนแล้ว

            ข้อควรระวังก่อนทำคีโต ไดเอท

  1. คนที่มีโรคประจำตัวไม่ควรทำ โดยเฉพาะโรคที่เกี่ยวกับพวกตับและไต เพราะการกินแบบคีโตจะเพิ่มความเสี่ยงทำให้เกิดนิ่วในไตได้ และผู้ที่มีภาวะไขมันในเลือดสูงก็ไม่ควรกิน เพราะจะทำให้ไขมันเพิ่มขึ้น รวมทั้งไขมันที่จะไปพอกตับด้วย
  2. ผู้ที่ทำงานหนักและต้องออกแรงเป็นประจำก็ไม่ควรกินคีโต เพราะจำเป็นต้องใช้พลังงานที่มาก การรับประทานอาหารจึงต้องเพียงพอต่อร่างกายด้วยเช่นกัน
  3. การกินคาร์โบไฮเดรตในปริมาณที่น้อยนานๆ อาจทำให้ขาดสารอาหาร แร่ธาตุและวิตามินต่างๆ ได้ ซึ่งอาจจะต้องรับประทานอาหารเสริมควบคู่ไปด้วย
  4. คนที่จะกินคีโตได้นั้นต้องมีร่างกายที่สมบูรณ์แข็งแรงพร้อม ทางที่ดีควรไปตรวจสุขภาพก่อน และขอคำปรึกษาหรือคำแนะนำจากแพทย์หรือนักโภชนาการอาหาร