จันทน์เทศ

อาหารเพื่อสุขภาพ - สมุนไพร
ชื่อวิทยาศาสตร์ Myristica fragrans Houtt.

ชื่อสามัญ : Nutmeg tree
วงศ์ : Myristicaceae
ชื่ออื่น : จันทน์บ้าน (เงี้ยว-ภาคเหนือ)

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ : 
ไม้ยืนต้น สูง 5-18 เมตร เปลือกต้นเรียบ สีเทาอมดำ

ใบ เป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ รูปรี กว้าง 4-5 ซม. ยาว 10-15 ซม. ปลายใบแหลม โคนใบสอบ ขอบใบเรียบ แผ่นใบเรียบ เป็นมัน

ดอก ดอกแยกเพศอยู่คนละต้น ออกเป็นช่อตามซอกใบ สีเหลืองอ่อน กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันเป็นรูปคนโท ปลายแยกออกเป็น 3 แฉก ไม่มีกลีบดอก ดอกตัวผู้และดอกตัวเมียเกิดแยกกันคนละต้น โดยดอกตัวผู้จะเกิดเป็นกลุ่ม ส่วนดอกตัวเมียจะเกิดเป็นดอกเดี่ยว ๆและมีขนาดใหญ่กว่าดอกตัวผู้ ต้นตัวเมียเท่านั้นที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ ส่วนต้นตัวผู้จะปลูกไว้สำหรับผสมเกสรกับต้นตัวเมีย

ต้นตัวผู้นั้น ใช่ว่าจะมีประโยชน์แค่เพียงให้ดอกตัวผู้ที่มีเกสรตัวผู้ ไว้คอยผสมเกสรตัวเมียเท่านั้น ดอกตัวผู้เมื่อหมดประโยชน์ใช้สอยในการผสมพันธุ์แล้ว ก็ยังมีประโยชน์ต่อด้วยการที่ชาวบ้านนำตาข่ายตาถี่มารองไว้รอบต้น เพื่อรองเอาดอกตัวผู้ที่ร่วงลงสู่พื้นดิน นำดอกไปตากแดดจนแห้งส่งขายในร้านเครื่องยาจีนสำหรับทำส่วนผสมของยาพื้นบ้าน ประเภทมีฤทธิ์ในการขับลม แก้ท้องอืดท้องเฟ้อ ธาตุอาหารพิการต่าง ๆ ส่วนชาวบ้านเอง ก็นำดอกแห้งนี่แหละไปชงกับน้ำร้อนเป็นชาไว้ดื่มตอนเช้า ช่วยขับลม ช่วยย่อยอาหาร ทำให้ท้องไส้สบาย

ผล รูปทรงค่อนข้างกลม เป็นผลชนิดฉ่ำน้ำขนาดประมาณลูกหมาก ผิวเรียบ สีเหลืองนวล เมื่อผลสุกแก่แตกอ้าออกเป็น 2 ซีก ภายในมีรกหุ้มเมล็ดสีแดงสด เมล็ดมีขนาดใหญ่ 1 เมล็ด มีเปลือกแข็งสีน้ำตาล

ส่วนที่ใช้ : ผล ดอก แก่น ราก และเมล็ด

สรรพคุณ :
ผล
ให้ Myristica Oil ซึ่งเป็น Volatile Oil ประกอบด้วย Myristiein และ Safrole ซึ่งเป็นตัวแต่งกลิ่น และขับลม

ดอก
ใช้เป็นเครื่องเทศ และขับลม

แก่น
แก้ไข้ บำรุงตับ ปอด

ราก
ขับลม แต่งกลิ่น เครื่องเทศ เจริญอาหาร

เมล็ด
ขับลม แก้ท้องอืดเฟ้อ เป็นเครื่องเทศ เจริญอาหาร บำรุงกำลัง แก้ปวดมดลูก แก้ท้องร่วง ธาตุพิการ

วิธีและปริมาณที่ใช้ :
ตำรายาไทย: 
ลูกจันทน์ ใช้แก้ธาตุพิการ  บำรุงกำลัง  แก้ไข้ บำรุงหัวใจ บำรุงธาตุ  แก้จุกเสียด  ขับลม  รักษาอาการอาหารไม่ย่อย  คลื่นไส้อาเจียน  ท้องเสีย แก้บิด แก้กำเดา  แก้ท้องร่วง  แก้ร้อนใน  กระหายน้ำ  แก้เสมหะโลหิต แก้ปวดมดลูก  และบำรุงโลหิต

เปลือกเมล็ด รสฝาดมันหอม สมานบาดแผลภายใน แก้ท้องอืด แก้ปวดท้อง

ประเทศอินโดนีเซีย: 
ใช้ลูกจันทน์เทศรักษาอาการท้องเสีย  และนอนไม่หลับ

ตำรายาไทย: 
ปรากฏการใช้จันทน์เทศใน “พิกัดตรีพิษจักร” คือการจำกัดจำนวนตัวยาที่มีรสซึมซาบไวดังกงจักร มี 3 อย่างคือ ผลจันทน์เทศ ผลผักชีล้อม และกานพลู สรรพคุณแก้ลม แก้พิษเลือด แก้ธาตุพิการ บำรุงโลหิต “พิกัดตรีคันธวาต” คือการจำกัดจำนวนตัวยาที่มีกลิ่นหอมแก้ลม 3 อย่าง มี ผลจันทน์เทศ ผลเร่วใหญ่ และกานพลู สรรพคุณแก้ธาตุพิการ แก้ไข้อันเกิดแต่ดี แก้จุกเสียด

นอกจากนี้บัญชียาจากสมุนไพร: ที่มีการใช้ตามองค์ความรู้ดั้งเดิม ตามประกาศ คณะกรรมการแห่งชาติด้านยา (ฉบับที่ 5)    ปรากฏการใช้ลูกจันทน์ ในยารักษาอาการโรคในระบบต่างๆของร่างกาย  คือ

1.ยารักษากลุ่มอาการทางระบบไหลเวียนโลหิต (แก้ลม) ปรากฏตำรับ”ยาหอมเทพจิตร” และตำรับ ”ยาหอมนวโกฐ” มีส่วนประกอบของลูกจันทน์ ร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ มีสรรพคุณในการแก้ลมวิงเวียน แก้อาการหน้ามืด ตาลาย ใจสั่น คลื่นเหียน อาเจียน แก้ลมจุกแน่นในท้อง

2. ยารักษากลุ่มอาการทางระบบทางเดินอาหาร ปรากฏตำรับ “ยาธาตุบรรจบ” มีส่วนประกอบของลูกจันทน์ร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ มีสรรพคุณ บรรเทาอาการท้องอืดเฟ้อ และตำรับ “ยาประสะกานพลู” มีส่วนประกอบของลูกจันทน์ร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ มีสรรพคุณบรรเทาอาการปวดท้อง จุกเสียด แน่นเฟ้อจากอาหารไม่ย่อย เนื่องจากธาตุไม่ปกติ

รูปแบบและขนาดวิธีใช้ยา:

1.ขับลม
ใช้รกและเมล็ดขนาด 0.5 กรัม หรือประมาณ 1-2 เมล็ด หรือใช้รก 4 อันบดเป็นผงละเอียด ชงน้ำครั้งเดียว รับประทานวันละ 2 ครั้ง 2-3 วัน ติดต่อกัน แก้อาการท้องอืด เฟ้อ ขับลม
      

2.แก้อาการคลื่นไส้อาเจียน ที่เกิดจากธาตุไม่ปกติ
ใช้ลูกจันทน์ 1-2 เมล็ด ทุบเอาเปลือกออก ย่างไฟพอเหลือง ต้มกับน้ำพอประมาณ เคี่ยวให้เหลือ 1 ใน 3 เอาน้ำดื่ม

การศึกษาทางพิษวิทยา:
การบริโภค myristicin ในอัตรา 4-5 กรัม ทำให้คนแสดงอาการผิดปกติด้านระบบประสาท  เกิดอารมณ์เคลิ้มฝัน ประสาทหลอน การบริโภคสูงถึง 8 กรัม ทำให้เสียชีวิตได้ การกินลูกจันทน์ในขนาดที่มากกว่า 5 กรัม ทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน มึนงง หัวใจเต้นผิดปกติ ปากแห้ง ชัก อาจถึงตายได้ เนื่องจากมีฤทธิ์ต่อจิตประสาท  ฉะนั้นการใช้เครื่องยานี้ต้องใช้อย่างระมัดระวัง

ลูกจันทน์และดอกจันทน์ใช้เป็นเครื่องเทศ แต่งกลิ่นอาหาร

จันทน์เทศ   (nutmeg)
จันทน์เทศ เราใช้ 2 ส่วน

ส่วนแรกคือ ลูกจันทน์เทศ เป็นผลของต้นจันทน์เทศ ส่วนที่ใช้เป็นเครื่องเทศคือ ส่วนในของเมล็ด เพราะเมล็ดมีเปลือกแข็งต้องทุบเปลือกออก ใช้เพียงส่วนเมล็ดภายในสีดำ กลิ่นหอมฉุน และรสฝาด

ส่วนที่สองคือ ดอกจันทน์เทศ ส่วนที่เรียกกันว่า ดอกจันทน์เทศนั้น ความจริงไม่ใช่ดอก แต่เป็นผิวที่หุ้มลูกจันทน์ หรือที่เรียกว่า เยื่อหุ้มเมล็ด (รก) ลักษณะเป็นเส้นใยแบน สีแสด กลิ่นหอมฉุนมาก รสค่อนข้างเปรี้ยวอมฝาด

วิธีใช้ในการประกอบอาหาร

การใช้ต้องคั่วแล้วป่นก่อนใส่อาหาร ใช้ดับกลิ่นคาวและเพิ่มความหอมในแกง เช่น แกงมัสมั่น แกงบุ่มไบ๋ แกงจี๋จ๋วน เป็นต้น รวมทั้งใช้ในการถนอมอาหาร ข้อควรระวัง ดอกจันทน์เทศมีสารไมริสติซิน (Myristicin) ถ้ากินมาก ทำให้เกิดอาการเคลิ้มฝัน การกินลูกจันทน์เกินกว่า 5 กรัม จะทำให้คลื่นไส้ อาเจียน มึนงง หัวใจเต้นผิดปกติ ปากแห้ง และอาจถึงตายได้

สูตรอาหารที่ใช้จันทน์เทศ เช่น เครื่องแกง, แกงมัสมั่นเนื้อ, สตูเนื้อ

ที่มา
http://www.foodietaste.com/FoodPedia_detail.asp?id=83