ตะแบก หรือ กระแบก

อาหารเพื่อสุขภาพ - สมุนไพร

ชื่อวิทยาศาสตร์  : Lagerstroemia floribunda Jack ex Blume
ชื่อวงศ์  :           Lythraceae
ชื่อท้องถิ่น  :      กระแบก ตราแบกปรี้ ตะแบกไข่ บางอตะมะกอ บางอยามู เปื๋อยด้อง เปื๋อยนา เปื๋อยหางด่าง ตะแบกแดงแบก บางอยามูละเบะ

ลักษณะ
ต้น :  เป็นไม้ต้น ขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ ผลัดใบ สูง 15 – 30 ม.โคนต้นเป็นพูพอน เปลือกเรียบ  เป็นมัน  ลำต้นเปลาตรง เปลือกนอก สีเทาหรือเทาอมขาว เปลือกใน สีชมพู มีสีม่วงใต้เปลือกใน มีการแตกเป็นสะเก็ด เป็นแผลเป็นตลอดลำต้น แต่เมื่อแก่ผิวของต้นจะร่อน เรือนยอดเป็นพุ่มกลม เนื้อไม้แข็ง กิ่งก้านสาขาอยู่ตอนบน

ใบ : เรียงตรงข้ามหรือเกือบตรงข้าม ความกว้าง 4 เซนติเมตร ยาว 8 – 9 เซนติเมตร แผ่นใบรูปใบหอก รูปรี หรือรูปขอบขนาน  ปลายใบเป็นติ่งแหลม หรือมน  ขอบใบเรียบ  เนื้อใบหนา ใบอ่อน ออกสีแดง และมีขนสั้นๆอ่อนนุ่มปกคลุม ใบแก่สีเขียวเข้มจะเกลี้ยงหรือเหลือขนเพียงประปราย

ดอก :  ดอกออกรวมกันเป็นช่อกระจายแยกแขนง ตามปลายกิ่ง ช่อมักกว้างและยาวไม่น้อยกว่า 30 ซม. เป็นดอกสมบูรณ์เพศ มีกลีบเลี้ยงสีเขียวอมเทา ก้านช่อดอกและดอกตูมมีขนสีน้ำตาลอ่อนปกคลุม ดอกย่อยสีชมพูอ่อนหรือม่วง ดอกบานเต็มที่กว้าง 3 – 3.5 ซม. กลีบดอก 5 กลีบเป็นแผ่นกลมและมีก้านสั้น ๆ ทำให้ดูช่ออัดแน่นมาก กลีบดอกสีม่วงปนชมพูหรือสีกุหลาบ กลีบดอกแก่จะสีขาว

ผล : มีผลเป็นช่อ ออกรวมกันเป็นผลขนาดเล็ก รูปไข่สีน้ำตาล มีขนคลุมประปราย ยาวไม่เกิน 2 ซม. เมื่อผลแก่เต็มที่ ผลจะแตกตามรอยแยกเป็น 6 แฉก เมล็ดขนาดเล็ก แบน สีน้ำตาล มีปีก ผลอ่อน สีเขียว ผลแก่ สีน้ำตาลดำ

เมล็ด : เมล็ดขนาดเล็กมีสีดำ ออกมาตามรอยแตกของผล

สรรพคุณ  :
ราก แก้ปวดกล้ามเนื้อเมื่อมีไข้

เปลือก แก้บิด แก้บิดมูกเลือด หรือลงแดง แก้ไข้อติสาร แก้ท้องร่วง แก้ถูกยาพิษ

เนื้อไม้ ขับโลหิตระดูสตรี แก้ระดูพิการที่เป็นลิ่ม เป็นก้อนสีดำมีกลิ่นเหม็นซึ่งทำให้เจ็บปวดในท้องน้อย หลังบั้นเอว แก้โลหิตจาง บำรุงโลหิต แก้ผอมแห้ง ขับระดูขาว

ใบ แก้ไข้

ผล ดอก บำรุงตับ บำรุงปอด บำรุงหัวใจ แก้ลมกองละเอียด

ประโยชน์ : 
เนื้อไม้ ละเอียด แข็ง ใช้ทำสิ่งปลูกสร้างที่รับน้ำหนัก เสา กระดานพื้น และเครื่องมือการเกษตร และนิยมปลูกประดับสวนให้ร่มเงา ทนแล้ง และทนน้ำท่วมขัง

ที่มา 
http://mhoya.9nha.com/samonpraithai/tabag.html
http://student.nu.ac.th/46313433/Thaiherb/tabakna.htm