ต้องรู้! ยาล้างแผลกับยาใส่แผล วิธีใช้แตกต่างกัน

ยาน่ารู้

ทุกคนคงเคยมีประสบการณ์ เกิดแผลจากอุบัติเหตุเล็กๆ น้อยๆ กันมาบ้าง ทั้งลื่นล้ม โดนน้ำร้อนลวก หรือไปโดนของมีคมบาดเข้า เราก็มีทั้งยาล้างแผลและยาใส่แผลไว้ช่วยบรรเทาและรักษา ฆ่าเชื้อโรคแบคทีเรียและทำให้แผลหายเร็วขึ้น ซึ่งทั้งสองอย่างมีความคล้ายคลึงกัน แต่ก็แตกต่างกัน โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

ยาล้างแผล จะเป็นตัวยาที่ช่วยทำความสะอาดแผล ชะล้างสิ่งปรกให้สะอาดปราศจากเชื้อโรค เป็นการทำความสะอาดในเบื้องต้นก่อนใช้ยารักษาแผลจริง ทำให้สะเก็ดแผลหลุดลอกออกไป ง่ายต่อการใส่ยา ช่วยให้เนื้อเยื่อรอบแผลอ่อนตัวลง ทำให้ยาถูกดูดซึมได้ดีขึ้น ช่วยรักษาอาการอักเสบจากการติดเชื้อของแผลได้ และยังทำให้แผลหายเร็วขึ้นอีกด้วย ยางล้างแผลมีหลายชนิด ได้แก่

  1. น้ำเกลือ ใช้สำหรับล้างแผลทั่วไป แผลสด แผลเปื่อย แผลมีหนอง แผลพุพอง ไม่ทำให้เกิดอาการคันหรือระคายเคือง
  2. ด่างทับทิม สามารถทำลายเชื้อราและแบคทีเรียได้ ใช้โดยนำด่างทับทิมจำนวนเล็กน้อยมาละลายในน้ำสะอาด แล้วนำไปทาที่แผล ไม่ควรใช้ด่างทับทิมเข้มข้นมากจนเกินไป เพราะอาจทำให้แผลไหม้ได้ จึงไม่ค่อยนิยมใช้กันเท่าไหร่นัก
  3. ไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ 3% สามารถละลายในน้ำได้ง่าย ใช้สำหรับทำความสะอาดแผลทั่วไป ใช้บ้วนปากหรือล้างหูได้
  4. โซเดียมไฮโปคลอไรด์5% ใช้สำหรับแผลที่มีเนื้อเน่าค่อนข้างมาก จะทำให้เกิดอาการระคายเคือง
  5. เบนซาโคเนียมคลอไรด์ ใช้ล้างแผลได้ทั่วไป หากนำมาเจือจางก็สามารถใช้บ้วนปากได้เช่นกัน
  6. คลอเฮกซิดีน ใช้ล้างแผลได้ทั่วไป ไม่ทำให้เกิดอาการระคายเคืองต่อผิวหนัง

นอกจากนี้ยังมียาที่ไว้สำหรับเช็ดแผล นั่นก็คือ แอลกฮอล์ โดยใช้ทำความสะอาดรอบๆ บริเวณแผล ไม่เช็ดแผลโดยตรง เพราะจะทำให้เนื้อเยื่อตายได้

ยาใส่แผล

  1. ชนิดผง เช่น ผงพิเศษ แต่ในปัจจุบันไม่ค่อยเป็นที่นิยม เพราะยาจะจับตัวเป็นก้อน ทำให้แผลหายช้า
  2. ชนิดน้ำ ได้แก่ ยาแดง, ยาเหลือง, ทิงเจอร์ไอโอดีน, ทิงเจอร์ไทเมอโรซอล, โพวิโดนไอโอดีน ส่วนใหญ่มักใช้กับแผลสด ยกเว้นยาเหลืองจะใช้กับแผลเปื่อยและแผลเรื้อรัง
  3. ชนิดครีมหรือขี้ผึ้ง เช่น Gentamicin, Aminacrine cetrimide, Mupirocin 2%, Oxytetracycline มีใช้ได้ทั้งแผลสด แผลเปื่อย แผลมีหนอง และแผลน้ำร้อนลวก ซึ่งดูได้ตามประเภทบนฉลากของยา

รู้จักยาล้างแผลและยาใส่แผลในแบบต่างๆ กันไปแล้ว ก็อย่าลืมเลือกใช้ให้ถูกกับประเภทของแผลแต่ละอย่างกันด้วยนะคะ หากไม่แน่ใจให้อ่านฉลากก่อนใช้ หรือปรึกษาเภสัชกรเพื่อความปลอดภัย