ประโยชน์ของข่า

อาหารเพื่อสุขภาพ - สมุนไพร

ข่าเป็นสมุนไพรชนิดหนึ่งที่มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ เรียกว่า Alpinia galangal Swartz. ส่วนชื่อท้องถิ่นในภาคเหนือ ได้แก่ ข่าใหญ่ ข่าหลวง ข่าหยวก ชื่อในภาคอีสาน ได้แก่ ข่าตาแดง หัวคา แต่สำหรับของชาวกะเหรี่ยงจะเรียกว่าเสะเออเคย สะเชย โดยไม่ว่าข่าจะมีชื่ออะไรก็ตามแต่ก็มีคุณประโยชน์เดียวกัน

ลักษณะของสมุนไพรข่า

ข่าจัดอยู่ในพืชสมุนไพรตระกูลเดียวกันกับขิง กระชาย กระวาน และขมิ้น ซึ่งมีลักษณะเป็นไม้ล้มลุก ลำต้นมีความสูง 1.4 – 2 เมตร ประกอบไปด้วยดอก ราก  ใบ หน่อ เหง้า มีข้อและปล้องชัดเจน ส่วนเนื้อในเหง้าจะเป็นสีเหลือง ซึ่งทุกส่วนของข่าสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ โดยเฉพาะเหง้าที่อยู่ใต้ดินมีอายุประมาณ 4 – 7 เดือน มักเป็นส่วนที่นิยมนำมาใช้ปรุงอาหารเพื่อเพิ่มรสชาติเผ็ดร้อนและมีกลิ่นหอมน่ารับประทาน หากต้องการขยายพันธุ์ให้ใช้ส่วนหน่อหรือเหง้าเพราะสามารถทำได้ง่าย ปลูกได้ทุกฤดู และไม่มีศัตรูพืชรบกวนอีกด้วย

 

สารอาหารหรือสารสำคัญที่พบในข่า

ข่ามีสารสำคัญที่ชื่อ galangin, galangol, acid resin และยังมีส่วนประกอบที่เป็นน้ำมันหอมระเหย 0.5 – 5% นอกจากนี้สารสำคัญในข่าสามารถช่วยดับกลิ่นคาว กลิ่นเหม็นในห้องน้ำหรือห้องครัว และในกรณีบริเวณที่มีแมลงเยอะก็ช่วยไล่แมลงเหล่านั้นได้ เพียงนำข่าสดมาหั่นในลักษณะค่อนข้างบาง จากนั้นคั้นแล้วเอาไปฉีดพ่นบริเวณที่ต้องการ ซึ่งไม่ต้องกังวลเรื่องสารตกค้างเพราะว่าเป็นสมุนไพรที่มาจากธรรมชาติ

 

ประโยชน์ด้านสุขภาพที่ได้จากข่า

  • รักษาโรคผิวหนังที่เกิดจากเชื้อราหรือกลากเกลื้อน เริ่มต้นด้วยการปอกเปลือกออกเพื่อจะได้ทุบพอแตก จากนั้นหาเหล้าขาวหรืออาจจะเป็นแอลกอฮอล์ก็ได้ นำข่าที่ทุบไว้ไปแช่ประมาณ 1 คืน เสร็จแล้วให้ทาจุดที่เป็นกลากหรือเกลื้อน ควรทาซ้ำ ๆ ประมาณ 5 วัน ก็จะช่วยให้กลากและเกลื้อนมีอาการดีขึ้น
  • บำรุงโลหิต ข่ามีฤทธิ์ช่วยการทำงานของระบบหลอดเลือด ทำให้เลือดไหลเวียนได้ดีและช่วยในการขับเลือดสำหรับสตรีที่มีประจำเดือนอีกด้วย
  • รักษาอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ และแน่นจุกเสียด ใช้เหง้าแก่สดประมาณ 5 กรัม หรือถ้าเป็นเหง้าแห้งประมาณ 2 กรัม ทำการโขลกให้แหลกพอประมาณ นำมาต้มแล้วกรองเอาแต่น้ำดื่มครั้งละครึ่งแก้ว

 

ข่าเป็นสมุนไพรใกล้ตัวของคนไทยที่ผลิตเป็นตำรับยาแผนโบราณ เพื่อใช้ในการรักษาโรคภัยไข้เจ็บมาเป็นเวลานาน ดังนั้นจึงควรมีติดบ้านไว้เพราะข่ามีสรรพคุณดีและเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพมากมาย แต่อย่างไรก็ตาม ยังมีข้อควรระวังสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์และคุณแม่ที่อยู่ในช่วงให้นมลูก เนื่องจากไม่มีข้อมูลที่ยืนยันหรือสนับสนุนว่ามีความปลอดภัยกับคนกลุ่มนี้