ประโยชน์ของผักโขม

อาหารเพื่อสุขภาพ - สมุนไพร

ผักโขมเป็นผักพื้นเมืองชนิดหนึ่งที่สามารถพบเห็นได้ทั่วไปในเขตอบอุ่นและเขตร้อน ซึ่งจากการศึกษาได้พบว่าผักโขมมีมากกว่า 60 ชนิด แต่ส่วนใหญ่ที่มักจะพบเห็นบ่อย ๆ คือผักโขมไทยและผักโขมจีน โดยปลูกไว้เพื่อสำหรับบริโภคและเป็นสมุนไพรรักษาโรคต่าง ๆ

ลักษณะของผักโขม

ผักโขมเป็นไม้พุ่มเตี้ย ลำต้นอวบน้ำ ใบเดี่ยวมีความแหลมในส่วนปลาย ดอกเป็นช่อเรียงตัว หากต้องการปลูกผักโขมแนะนำว่าให้ใช้เมล็ด ซึ่งเป็นผักปลูกง่ายและเก็บกินได้ตลอดทั้งปี เพราะอายุการปลูกผักโขมค่อนข้างสั้น แค่เพียง 30 วันก็สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้แล้ว

ในส่วนรสชาตินั้นหลายคนคิดว่ามีรสขม แต่ความเป็นจริงแล้วผักโขมไม่ได้มีรสขมอย่างที่คิด เมื่อนำไปทำอาหารก็จะมีรสชาติหวานอ่อน ๆ มีกลิ่นหอมเข้ากันได้ดีกับเมนูอาหารทุกรูปแบบ แต่ถ้าเป็นใบสด ๆ ก็อาจจะมีรสฝาดเล็กน้อย

สารอาหารหรือสารสำคัญที่พบในผักโขม

สารอาหารของผักโขมประกอบไปด้วยธาตุเหล็ก กรดอะมิโน และวิตามินหลากหลายชนิด อาทิเช่น วิตามินเอ วิตามินบี 2 วิตามินบี 6 วิตามินซี วิตามินอี และวิตามินเค แคลเซียม แมกนีเซียม โพแทสเซียม แมงกานีส และสารเบต้าแคโรทีน ซึ่งสารอาหารเหล่านี้มีคุณค่าทางสารอาหารสูงมากและช่วยป้องกันโรคได้เป็นอย่างดี

ประโยชน์ด้านสุขภาพที่ได้จากผักโขม

  • ควบคุมน้ำหนักได้ดี เพราะผักโขมมีโปรตีน ใยอาหาร และปริมาณพลังงานต่ำ ช่วยเพิ่มพลังงานให้กับร่างกายได้ดีโดยไม่ทำให้น้ำหนักเพิ่มขึ้น ส่งผลให้นักโภชนาการยกให้เป็นเมนูสุขภาพสำหรับทุกคน
  • ลดการทำลายเซลล์ในร่างกาย เนื่องจากผักโขมจะช่วยเสริมการผลิตคอลลาเจนที่เพิ่มความยืดหยุ่นของผิวหนัง ชะลอวัยหรือชะลอการเกิดริ้วรอยได้ นอกจากนี้ยังช่วยลดความเสี่ยงต่อโรคอัลไซเมอร์ในผู้สูงอายุและโรคดวงตาเสื่อมได้สูงถึง 43%
  • บำรุงสุขภาพแม่และทารกในครรภ์ให้แข็งแรง ช่วยบำรุงน้ำนมคุณแม่ให้มีคุณภาพ โดยเฉพาะเมนูซุปผักโขมที่เป็นเมนูแนะนำให้คุณแม่รับประทาน
  • บำรุงโลหิตในร่างกาย ส่งผลดีต่อการรักษาจังหวะการเต้นของหัวใจให้คงที่ ลดปัญหาความเสี่ยงการเกิดโรคหัวใจอันเป็นโรคหนึ่งที่ร้ายแรง

ถึงแม้ว่าผักโขมจะเป็นประโยชน์ต่อร่างกาย แต่ก็มีข้อควรระวังบ้างเล็กน้อยคือไม่ควรนำใบสดของผักโขมมารับประทานแบบดิบ ๆ ดังนั้นจึงควรปรุงให้สุกเสียก่อนเพราะความดิบจะส่งผลให้มีอาการท้องอืดและมีกลิ่นเหม็นเขียว นอกจากนี้ยังมีปริมาณออกซาเลตสูงที่ทำให้เป็นโรคนิ่วและโรคเกาต์ได้ เมื่อมีการสะสมในร่างกายปริมาณมาก ดังนั้นการนำผักโขมไปปรุงสุกก่อนรับประทาน จะช่วยแก้ปัญหานั้นได้และไม่ทำให้สารอาหารอื่น ๆ ในผักโขมสลายไปอีกด้วย