“มะเร็งต่อมน้ำเหลืองในสมอง” หากรู้เร็ว ก็รักษาง่าย

มะเร็ง

“มะเร็งต่อมน้ำเหลืองในสมอง” (Central Nervous System- CNS Lymphoma)
สมอง เป็นอวัยวะสำคัญ ที่ทำหน้าที่ควบคุมการทำงานของระบบต่าง ๆ ภายในร่างกาย เพื่อให้มนุษย์สามารถมีชีวิตอยู่รอดได้ ดังนั้น คนจำนวนมากจึงมักจะตกใจและเป็นกังวลอย่างมาก หากทราบว่ามีเนื้องอกเกิดขึ้นภายในสมอง

หากทราบว่ามีเนื้องอกเกิดขึ้นภายในสมองซึ่งผู้ป่วยอาจจะมาด้วยอาการอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือหลายอย่าง เช่น อาการปวดศีรษะ ชักกระตุก อ่อนแรงแขนขาข้างใดข้างหนึ่ง หน้าเบี้ยว ตาตก พูดไม่ชัด เดินเซ มองไม่เห็น เห็นภาพซ้อน พฤติกรรมเปลี่ยนแปลง คลื่นไส้อาเจียน หรือ ไม่สามารถควบคุมการขับถ่ายได้ ขึ้นกับตำแหน่งของก้อนที่โตขึ้นมา ว่าจะไปกดเบียดบริเวณใดของระบบประสาท

กล่าวโดยสรุปว่า โรคเนื้องอกในสมอง (Brain Tumor) คือภาวะที่ร่างกายมีก้อนเนื้องอกผิดปกติเกิดขึ้นภายในกะโหลกศีรษะ ซึ่งอาจจะเป็นเนื้องอกที่เกิดจากการแบ่งตัวผิดปกติของเซลล์ในระบบประสาทเอง (Primary Brain Tumor) หรือการแบ่งตัวผิดปกติของเซลล์อื่น ๆ นอกระบบประสาท ที่กระจายเข้ามาสู่ระบบประสาท (Metastasis Brain Tumor)

มะเร็งต่อมน้ำเหลืองในสมองพบได้ไม่บ่อยแต่ถ้าวินิจฉัยโรคได้เร็ว จะเป็นผลดีจากการรักษา ผู้ช่วยศาสตราจารย์ แพทย์หญิงพรรณี ประดิษฐ์สุขถาวร หัวหน้าหน่วยโลหิตวิทยา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ อาจารย์ประจำคณะแพทยศาสตร์และการสาธารณสุข วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เล่าว่า โรคเนื้องอกสมองมีทั้งชนิดที่ก้อนโตเร็วและโตช้า อุบัติการณ์โดยรวมประมาณ 19 ราย ต่อประชากร 100,000 รายต่อปี จำแนกเป็นเนื้องอกชนิดที่โตช้า (Benign Brain Neoplasm) 12 ราย และเนื้องอกที่โตเร็ว (Malignant Brain Tumor) 7 ราย

โดยทั้งหมดนี้ สามารถเกิดขึ้นได้กับประชากรทุกเพศทุกวัย และเมื่อตัดชิ้นเนื้อ ดังกล่าวออกมาตรวจ จะพบว่ามี 4 ใน 100 ราย ที่เป็นโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองในสมอง (Primary CNS Lymphoma) ซึ่งเป็นการแบ่งตัวผิดปกติของเม็ดเลือดขาวชนิดลิมโฟไซค์ (Lymphocyte) ในระบบน้ำเหลือง ที่เดินทางผ่านเข้าไปในระบบประสาทส่วนกลาง (Central Nervous System) เช่น สมอง (Brain), ไขสันหลัง (Spinal cord), เยื่อหุ้มสมอง (meninges), รวมถึงอาจมีเนื้องอกในกระบอกตา ที่อยู่ชิดติดกับสมองด้วย โดยชนิดของโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองในสมองที่พบบ่อยที่สุดคือ Diffuse Large B Cell Lymphoma (DLBCL)

อนึ่ง สำหรับกลุ่มผู้ป่วยที่มีเนื้องอกของต่อมน้ำเหลือง (Lymphoma) ในอวัยวะอื่น ๆ นอกระบบประสาทร่วมด้วย เราจะไม่เรียกว่าโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองในสมอง (Primary CNS Lymphoma) เนื่องจากจะถือเป็นโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองที่กระจายมาที่ระบบประสาท ไม่ใช่การเกิดโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองในสมองโดยตรง ซึ่งจะมีแนวทางการรักษาที่แตกต่างกัน

ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดของโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองในสมอง แต่พบว่า ความเสี่ยงที่สำคัญและพบได้บ่อยของโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองในสมอง คือการมีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง เช่น จากการติดเชื้อไวรัส HIV (Human Immunosuppressive Virus), การได้รับยากดภูมิขนาดสูงเป็นเวลานาน จากการเปลี่ยนถ่ายอวัยวะ แต่ทั้งนี้แม้ในคนสุขภาพดีที่ไม่มีปัจจัยเสี่ยงดังกล่าว ก็สามารถเกิดโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองในสมองขึ้นได้เช่นกัน แต่พยากรณ์โรค และผลตอบสนองต่อการรักษา มักจะดีกว่ากลุ่มผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากผู้ป่วยรายนั้นอายุน้อยกว่า 60 ปี และแข็งแรงดีเพียงพอที่จะรับยาเคมีบำบัดตามมาตรฐานได้

การวินิจฉัยโรคประกอบด้วย การซักประวัติและตรวจร่างกาย ว่าผู้ป่วยมีอาการที่สงสัยว่า มีก้อนกดเบียดสมองหรือระบบประสาทส่วนกลาง ในตำแหน่งที่ควบคุมการทำงานหรือพฤติกรรมนั้น ๆ เช่น ปวดศีรษะ ชักกระตุก อ่อนแรง หน้าเบี้ยว ตาตก พูดไม่ชัด เดินเซ เห็นภาพซ้อน ดังที่ได้กล่าวมาข้างต้น

จากนั้น ผู้ป่วยจะได้รับการตรวจทางรังสีวินิจฉัย เช่น CT-scan (Computerised Tomography), MRI (Magnetic Resonance Imaging) ว่ามีความผิดปกติในระบบประสาทจริงหรือไม่ ก้อนอยู่ในบริเวณใดเข้าได้กับอาการที่เกิดขึ้นหรือไม่ หลังจากนั้นจะต้องมีการตรวจเพิ่มเติม เช่น การผ่าตัด (Surgery) หรือเจาะรู  (Stereotactic brain biopsy) หากทำได้ เนื่องจากจะมีแผลผ่าตัดเล็กและไม่ต้องพักฟื้นนานเท่าการผ่าตัดแบบเดิม

เพื่อนำชิ้นเนื้อบางส่วนออกมาตรวจ (Tumor Biopsy) ว่าเนื้องอกนั้นเกิดจากความผิดปกติของเนื้อเยื่อใด นอกจากนี้ หากก้อนมีขนาดใหญ่หรือกดเบียดทางเดินของน้ำในสมองจนมีภาวะความดันในกะโหลกศีรษะสูง อาจมีความจำเป็นต้องเจาะระบายน้ำในช่องโพรงสมอง หรือผ่าตัดเปิดกะโหลกศีรษะเพื่อลดความดันในสมองชั่วคราว

แนวทางการรักษาโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองในสมอง ประกอบด้วย การให้สเตียรอยด์ (Steroid) ตามด้วยการให้ยาเคมีบำบัดทางเส้นเลือด และการฉีดยาเคมีบำบัดเข้าในช่องน้ำไขสันหลัง ร่วมกับการฉายแสงรังสีรักษา ทั้งนี้ เนื่องจากสมองมีเย่ือหุ้มที่ช่วยป้องกันสารพิษเข้าสู่สมอง (Blood Brain Barrier) ทำให้ยาเคมีบำบัดผ่านเข้าสู่สมองได้ยากขึ้น

จึงจำเป็นต้องใช้ยาเคมีบำบัดชนิดจำเพาะที่เข้าสู่สมองได้ในขนาดยาที่สูงเพียงพอ นำมาซึ่งผลข้างเคียงของการรักษาที่รุนแรงกว่าการใช้ยาเคมีบำบัดในโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองทั่วไป และอาจส่งผลต่อระบบประสาทในระยะยาวได้ ส่วนการฉายแสงรังสีรักษาที่สมอง สามารถทำลายเซลล์มะเร็งได้ค่อนข้างดี แต่มีข้อจำกัดด้วยเนื้อเยื่อสมองปกติในบริเวณใกล้เคียง มีความสามารถในการทนรังสีได้ปริมาณหนึ่งเท่านั้น จึงไม่สามารถฉายแสงในขนาดสูงมากหรือหลายครั้งได้ แม้ปัจจุบันจะมีเทคโนโลยีที่ดีขึ้น สามารถลดปริมาณรังสีที่กระทบต่อเนื้อเยื่อสมองที่ดีข้างเคียงได้ แต่การฉายแสงรังสีรักษา ก็ยังมีผลกระทบต่อความจำและการทำงานของสมองในระยะยาว

พยากรณ์โรคของผู้ป่วยกลุ่มนี้ขึ้นกับอายุ ความแข็งแรง ค่าการแบ่งตัวของเซลล์ (LDH), ปริมาณโปรตีนในน้ำไขสันหลังและตำแหน่งของมะเร็งในชั้นลึกของสมอง ซึ่งในผู้ป่วยที่มีพยากรณ์โรคดี อาจมีอัตราการรอดชีวิตที่ 2 ปีได้ถึง 80% ในทางตรงกันข้ามผู้ป่วยที่มีพยากรณ์โรคไม่ดี โอกาสที่จะมีชีวิตอยู่ได้ถึง 2 ปี มีเพียง 15% ทั้งนี้หากผู้ป่วยแข็งแรงเพียงพอที่จะสามารถรับการรักษาได้อย่างเต็มที่ จะมีอัตราการรอดชีวิตเฉลี่ยอยู่ที่ 30-60 เดือน ในขณะที่ผู้ป่วยที่อายุมากกว่า 70 ปี มีอัตราการรอดชีวิตเฉลี่ยเพียง 6 เดือนเท่านั้น

ทั้งนี้ หลังจบการรักษา ผู้ป่วยที่ตอบสนองต่อการรักษาจำนวนมากมีอาการดีขึ้น สามารถกลับมาทำงาน และใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ แต่ยังมีความจำเป็น ต้องได้รับการตรวจติดตาม และให้การดูแลในระยะยาว เนื่องจากโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองในสมองมีโอกาสที่จะกลับมาเป็นซ้ำได้สูง (ประมาณครึ่งหนึ่งของผู้ป่วยที่โรคสงบหลังการรักษา) และนอกจากนี้ผู้ป่วยยังอาจจะมีอาการข้างเคียงจากการรักษาอย่างใดอย่างหนึ่งได้อีกด้วย

ข้อมูลจาก ผู้ช่วยศาสตราจารย์ แพทย์หญิงพรรณี ประดิษฐ์สุขถาวร หัวหน้าหน่วยโลหิตวิทยา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ อาจารย์ประจำคณะแพทยศาสตร์และการสาธารณสุข วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์.

…………………………………………….
นายแพทย์สุรพงศ์ อำพันวงษ์
https://www.dailynews.co.th/article/761477