ยานอนหลับ มีแบบไหนบ้าง ใช้อย่างไรให้ปลอดภัย

ยาน่ารู้

การนอนหลับดูจะเป็นเรื่องปกติธรรมดาสำหรับคนทั่วไป แต่ถ้าวันใดคุณนอนไม่หลับขึ้นมา รับรองว่าจะไม่ธรรมดาอีกต้องไป อาจต้องเปิดเพลงช่วยกล่อม หรือนั่งสมาธิ ถึงจะช่วยให้หลับดีขึ้น แต่หากยังนอนไม่หลับอีก และเป็นระยะเวลา 3 สัปดาห์ติดต่อกัน (หมายถึงหลับๆ ตื่นๆ นะคะ ไม่ใช่ไม่หลับเลย เพราะถ้าเป็นอย่างนั้นคงอยู่ไม่ได้แน่) เราก็มีวิธีคือไปพบหมอนั่นเอง

ซึ่งแนวทางการรักษาเบื้องต้นอาจจะเป็นการหาสาเหตุที่ทำให้นอนไม่หลับ เช่น ดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนเป็นส่วนผสม อย่างพวกชา กาแฟ เป็นต้น หรือออกกำลังกายก่อนนอน ดูหนังที่สยองขวัญที่ตื่นเต้น ซึ่งทำให้สมองตื่นตัว จึงทำให้หลับได้ยาก แต่หากเปลี่ยนพฤติกรรมแล้วยังไม่ดีขึ้น แพทย์ถึงจะให้ยานอนหลับมารับประทาน ซึ่งจะช่วยให้คุณนอนหลับง่ายขึ้นนั่นเอง

โดยยานอนหลับจะแบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ

กลุ่มออกฤทธิ์เร็ว ยาจะออกฤทธิ์ภายใน 15-30 นาที เหมาะสำหรับผู้ที่มีอาการนอนหลับยาก

กลุ่มออกฤทธิ์ช้า ยาจะออกฤทธิ์หลังจาก 30 นาทีเป็นต้นไป เหมาะสำหรับผู้ที่มีปัญหาตื่นกลางดึกบ่อย แล้วนอนต่อไม่ค่อยหลับ

นอกจากนั้นยังแบ่งได้เป็น 3 กลุ่มหลัก ซึ่งได้แก่

  1. ยากลุ่มต้านฮิสตามีนรุ่นที่ 1

จริงๆ เป็นยาที่ใช้ได้ในหลายลักษณะ คือสามารถบรรเทาอาการแพ้ได้ด้วย แต่เนื่องจากยากลุ่มนี้มีผลต่อประสาทส่วนกลาง จึงทำให้ง่วง ช่วยให้นอนหลับได้ ส่วนยาต้านฮิลตามีนรุ่นที่ 2 และ 3 ไม่ค่อยมีผลทำให้ง่วงนอน

  1. ยากลุ่มเบนโซไดอะซิพีน

เป็นยากลุ่มออกฤทธิ์เร็ว ช่วยให้นอนหลับและคลายเครียดได้ แต่ต้องสั่งจ่ายโดยแพทย์เท่านั้น เพราะมีการนำไปใช้ในทางที่ผิดและอาจทำให้เสพติดได้ ซึ่งอีกชื่อหนึ่งของยานี้ก็คือ ยาเสียสาว นั่นเอง

  1. เมลาโทนิน

เป็นฮอร์โมนชนิดหนึ่งที่ช่วยทำให้นอนหลับสนิท ซึ่งเป็นฮอร์โมนชนิดเดียวกับที่มีในร่างกาย จึงไม่เป็นอันตราย

.ข้อระวังในการใช้ยานอนหลับ

  1. ควรใช้เฉพาะวันที่นอนไม่หลับเท่านั้น ไม่ควรใช้ติดต่อกันนานเกินไป เพราะจะทำให้ติดยา และอาจได้ผลน้อยลง
  2. หากเคยใช้ยานอนหลับมาเป็นเวลานาน ไม่ควรหยุดยาเองทันที เพราะอาจจะมีผลข้างเคียง ทำให้นอนไม่หลับ มือสั่น ใจสั่นได้ จึงต้องควรปรึกษาแพทย์ก่อนหยุดยา
  3. ห้ามขับรถหรือทำงานที่เกี่ยวกับเครื่องจักรหลังรับประทานยา เพราะอาจได้รับอุบัติเหตุและเป็นอันตรายได้
  4. หลีกเลี่ยงการใช้ยาในกลุ่มเด็กเล็ก หญิงมีครรภ์ หญิงให้นมบุตร ผู้ป่วยโรคปอด ผู้ป่วยที่มีอาการหยุดหายใจขณะหลับ หากจำเป็นต้องใช้ ก็ควรปรึกษาแพทย์ก่อน

ถึงยานอนหลับจะมีประโยชน์ แต่ก็ไม่ควรซื้อมารับประทานเอง จำเป็นต้องมีใบสั่งยาจากแพทย์ และไม่ควรกินในปริมาณที่มากเกินไป เพราะจะเป็นอันตรายต่อร่างกายได้