ยาเลื่อนประจำเดือน ทำงานอย่างไร อันตรายหรือไม่

ยาน่ารู้

ผู้หญิงหลายคนอาจจะมีธุระหรือต้องไปยังสถานที่ไกลๆ ในวันที่ประจำเดือนมา ทำให้การเดินทางและการใช้ชีวิตไม่ค่อยสะดวก อาจทำให้ปวดท้อง หรือเลอะเทอะเปรอะเปื้อน ไม่สามารถลงเล่นน้ำได้ ทั้งที่เป็นวันหยุดพักผ่อน อุตส่าห์ตั้งใจทำงานมาทั้งอาทิตย์ เพื่อรอวันหยุดสุดสัปดาห์ แต่กลายเป็นว่า ต้องมานั่งหงอยอยู่ข้างริมสระน้ำ ซึ่งปัญหาเหล่านี้สามารถแก้ให้หมดไปได้ด้วยยาเลื่อนประจำเดือน

การทำงานของยาเลื่อนประจำเดือน

ในทุกๆ เดือนร่างกายของผู้หญิงจะมีการตกไข่ และจะสร้างฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนขึ้นมา ซึ่งทำให้เยื่อบุโพรงมดลูกหนาตัวขึ้นไว้เพื่อสำหรับรองรับตัวอ่อน แต่หากไม่มีการปฏิสนธิเกิดขึ้น ร่างกายก็จะหยุดการหลั่งฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน ทำให้เยื่อบุโพรงมดลูกหลุดออกมากลายเป็นประจำเดือนนั่นเอง

ยาเลื่อนประจำเดือน เป็นยากลุ่มฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน ซึ่งเมื่อรับประทานเข้าไปร่างกายก็จะยังมีฮอร์โมนนี้อยู่ ทำให้เยื่อบุโพรงมดลูกยังไม่หลุดออกมา เพื่อเลื่อนวันที่ประจำเดือนจะมา แต่เมื่อหยุดรับประทานยาแล้ว ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนก็จะลดลง ทำให้เยื่อบุโพรงมดลูกหลุดออกมา ประจำเดือนจึงกลับมาเป็นปกติ

วิธีรับประทานยาเลื่อนประจำเดือน

ยาเลื่อนประจำเดือนที่นิยมใช้กันมากที่สุดมีชื่อว่า นอร์เอทีสเตอโรน (Norethisterone) ขนาด 5 มิลลิกรัม ซึ่งเป็นยาเพิ่มฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนให้มากขึ้น ให้รับประทานยาก่อนวันที่ประจำเดือนจะมา 3 วัน หากรับประทานในวันที่ประจำเดือนมา ยาจะไม่ได้ผล ซึ่งจะต้องกินยาติดต่อกันทุกวัน ครั้งละ 1 เม็ด วันละ 2-3 ครั้ง ช่วงเช้า – เย็น หรือเช้า – กลางวัน – เย็น ถ้าให้ดีก็ควรจะรับประทานในเวลาเดียวกันทุกวัน ให้รับประทานติดต่อกันไปเรื่อยๆ จนกว่าจะต้องการให้ประจำเดือนมา จึงหยุดกินยา ประจำเดือนจะมาหลังจากนั้นประมาณ 2-3 วันถัดมา แต่ก็ไม่ควรรับประทานยานานเกิน 2 สัปดาห์ และถ้าใครรับประทานยาคุมกำเนิดอยู่แล้ว ก็สามารถใช้แทนกันได้เลย โดยไม่ต้องรับประทานยาเลื่อนประจำเดือนเพิ่มแต่อย่างใด

ข้อควรระวังในการใช้ยา

ไม่ควรใช้ยากับผู้ที่มีโรคประจำตัวต่อไปนี้ ได้แก่ โรคมะเร็ง โรคตับขั้นรุนแรง โรคหลอดเลือดอุดตัน โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคอ้วน หรือหญิงที่กำลังตั้งครรภ์และให้นมบุตร รวมทั้งผู้ที่สูบบุหรี่อีกด้วย เพราะอาจจะทำให้อาการของโรครุนแรงขึ้น และอาจส่งผลต่อทารกในครรภ์ รวมทั้งเพิ่มปัจจัยเสี่ยงให้เป็นโรคต่างๆ เพิ่มมากขึ้นอีกด้วย

ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น

อาจจะมีอาการคลื่นไส้ ปวดหัว ปวดท้อง แน่นท้อง ท้องอืด ท้องเฟ้อ อารมณ์แปรปรวน เจ็บเต้านม หรืออาจมีเลือดไหลออกมาจากช่องคลอดเล็กน้อย เนื่องจากอาจมีการหลุดลอกของเยื่อบุโพรงมดลูกเกิดขึ้น แต่ยังไม่ใช่ประจำเดือน

แม้ยาเลื่อนประจำเดือนจะมีประโยชน์ ทำให้เราทำสิ่งต่างๆ ได้อย่างสะดวก แต่ก็ควรใช้อย่างถูกต้อง และไม่ลืมรับประทานยา เพราะประจำเดือนอาจจะมาในช่วงเวลาที่ไม่ต้องการได้ และควรใช้อย่างระมัดระวัง ไม่ใช่เป็นประจำ ใช้เมื่อมีเหตุจำเป็นเพียงบางครั้งบางคราวเท่านั้น