ยาแก้ไอน้ำดำ ยาที่ควรมีติดบ้าน เพราะการไอนั้นมันทรมาน

ยาน่ารู้

ยาแก้ไอน้ำดำ เป็นยาน้ำที่ประกอบด้วยตัวยาหลายชนิด แก้อาการไอแบบแห้งๆ ไม่มีเสมหะ ทำให้ชุ่มคอ รสชาติอาจไม่ค่อยถูกปากนัก แต่เป็นยาสามัญประจำบ้านที่หาซื้อได้ง่ายและมีราคาถูก แม้ว่าการแพทย์แผนปัจจุบันจะไม่ค่อยสั่งยาชนิดนี้ให้ผู้ป่วยเท่าไหร่ เพราะแก้อาการไอแบบใหม่ๆ ไม่ดีเท่า และอาจพกพาไม่ได้สะดวกเท่ายาเม็ด แต่ก็ยังเป็นที่นิยมใช้ของคนทั่วไป

การไอเป็นเพียงการแสดงอาการของโรคต่างๆ ซึ่งมาจากหลายสาเหตุด้วยกัน การไอแบ่งเป็น 2 แบบใหญ่ๆ คือ ไอแบบแห้ง และไอแบบเปียก

ไอแบบแห้ง คืออาการไอแบบไม่มีเสมหะ อาจเกิดจากฝุ่นควัน มลพิษ เป็นหวัด หรือเกิดจากยาบางประเภท

ส่วนอาการไอแบบเปียกนั้น คือไอแบบมีเสมหะ มีเสลด อาจเกิดจากปอดหรือหลอดลมอักเสบ เป็นต้น

ซึ่งยาแก้ไอก็จะแบ่งเป็นอีก 3 กลุ่มใหญ่ๆ เช่นกัน ได้แก่ กลุ่มยาระงับอาการไอ กลุ่มยาขับเสมหะ และกลุ่มยาละลายเสมหะ ซึ่งแต่ละชนิดใช้รักษาอาการที่แตกต่างกันไป เช่น โรคบางอย่างต้องการขับเสมหะออกมา จะเป็นวิธีที่ดีกว่า จึงควรเลือกใช้ยาขับเสมหะมากกว่ายาระงับอาการไอ เพราะจะทำให้เชื้อโรคไม่ถูกขับออกมา ทำให้อาการแย่ลงได้ ดังนั้นการจะเลือกใช้ยาก็ควรเลือกให้ถูกกับอาการที่เป็น หากไม่แน่ใจให้ปรึกษาเภสัชกรหรือแพทย์

สรรพคุณ

บรรเทาอาการไอ ทำให้ชุ่มคอ

วิธีการใช้ยา

  1. เด็กอายุ 6-12 ปี ควรรับประทานครั้งละครึ่งถึงหนึ่งช้อนชา วันละ 3-4 ครั้ง
  2. ผู้ใหญ่ควรรับประทานครั้งละ 1-2 ช้อนชา วันละ 3-4 ครั้ง

ข้อควรระวังในการใช้ยา

  1. ยานี้มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์อยู่ จึงควรใช้ด้วยความระมัดระวัง
  2. ไม่ควรใช้ยานี้กับเด็กอายุต่ำกว่า 6 ปี หญิงมีครรภ์ และคนชรา
  3. สำหรับผู้ที่ไอและมีเสลดเหนียว เนื่องจากปอดอักเสบ หรือหลอดลมอักเสบ เป็นต้น ควรระมัดระวังในการใช้ เพราะอาจทำให้เสลดไปอุดตันทางเดินหายใจ ทำให้ปอดแฟบได้ ซึ่งจะเป็นอันตรายต่อผู้ป่วยเอง
  4. ถ้ารับประทานแล้วมีอาการไอมากกว่าเดิม ควรหยุดยา และนำตัวยาไปปรึกษาแพทย์

คำแนะนำในการใช้ยา

  1. ควรเขย่าขวดทุกครั้งก่อนใช้ยา
  2. ห้ามรับประทานยาติดต่อนานเกิน 3 วัน
  3. ควรหลีกเลี่ยงการดื่มน้ำเย็น อาหารมันและอาหารรสจัด เพราะมีส่วนที่จะทำให้ไอมากขึ้น
  4. สำหรับเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 6 ปี ควรรักษาด้วยวิธีธรรมชาติ เช่น ให้ดื่มน้ำอุ่น หรือน้ำผึ้งผสมมะนาวแทน ก็จะช่วยบรรเทาอาการไอได้เช่นกัน
  5. ยาแก้ไอมีไว้เพื่อบรรเทาอาการเท่านั้น ไม่ใช่ยารักษาโรค จึงควรรับประทานเท่าที่จำเป็น