รู้และเข้าใจกับการตรวจแมมโมแกรม (Mammogram)

มะเร็ง

เชื่อแน่ ๆ ว่า ผู้หญิงต้องเคยได้ยิน การตรวจแมมโมแกรม (Mammogram) หรือที่บางคนเรียกเล่น ๆ ว่า เครื่องบีบนม เนื่องจากเจ้าเครื่องนี้เป็นการเอ็กซเรย์เจ้านมอย่างละเอียด โดยเครื่องจะทำงานโดยการบีบเนื้อนมเข้าหากันให้แนบกับเครื่องให้มากที่สุดเพื่อถ่ายรูปจากด้านบนและด้านข้าง ข้อดีของเครื่องแมมโมแกรมคือ เราสามารถเห็นจุดหินปูนหรือมะเร็งซึ่งอาจจะเล็กมากได้ หากคลำไม่พบ การตรวจชนิดนี้ทำให้เราทราบผลได้เร็วขึ้น เร็วกว่าการตรวจแบบธรรมดาถึง 3 ปี ทำให้ผู้หญิงที่พบว่าตัวเองเป็นมะเร็งเต้านมจากการตรวจด้วยวิธีแมมโมแกรมจะได้รับการรักษาที่ทันท่วงที และสามารถใช้ชีวิตได้นานจนเกือบเหมือนคนปกติ

องค์การอนามัยโลกแนะนำว่า ผู้หญิงที่มีอายุระหว่าง 50 – 74 ปี ควรได้รับการตรวจแมมโมแกรม ทุกสองปี แต่สำหรับผู้หญิงที่อายุน้อยกว่า 50 ปีที่คนในครอบครัวที่เป็นผู้หญิง เช่น แม่ พี่สาว น้องสาว มีประวัติการเป็นมะเร็งเจ้านม หรือพบว่ามีความผิดปกติบริเวณเต้านม และอยุ่ในกลุ่มที่มีอัตราเสี่ยงสูง ควรได้รับการตรวจเป็นประจำทุกปี
โดยกลุ่มที่มีอัตราเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งเต้านม ได้แก่
– มีอายุมากขึ้น
– เริ่มเข้าสู่วัยหมดประจำเดือน
– มีประจำเดือนตั้งแต่อายุน้อย ๆ
– มีคนในครอบครัวที่เป็นผู้หญิงเป็นมะเร็ง
– มีน้ำหนักตัวที่มากเกินไป
– เคยเป็นมะเร็งเต้านมแล้ว 1 ข้าง
– ไม่เคยตั้งครรภ์หรือไม่เคยให้นมบุตร
– เคยได้รับการฉายแสงเพื่อรักษาโรคมะเร็งชนิดอื่น ๆ บริเวณหน้าอก
– ได้รับฮอร์โมนเพื่อการรักษาโรค หรือใช้ยาคุมกำเนิดชนิดเม็ดอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน

และแน่นอนว่าด้วยกิตติศัพท์อันเลื่องลือของเจ้าเครื่องแมมโมแกรมนี้ว่าเป็นเครื่องที่จะบีบเนื้อนมเข้าหากันนั้น ทำให้มีผู้หญิงจำนวนไม่น้อยที่กลัวเจ็บ และขยาดกับการต้องตรวจด้วยเครื่องนี้ ซึ่งผู้หญิงที่บอกว่าเจ็บมักจะเป็นผู้ที่รับการตรวจในช่วงเวลาที่ใกล้หรือในระหว่างที่กำลังมีประจำเดือน
สำหรับใครที่กำลังสงสัยว่าการตรวจด้วยวิธีนี้กินเวลานานแค่ไหนกว่าที่เราจะทราบผล โดยปกติเราสามารถทราบผลภายในเวลา 2 – 3 สัปดาห์ หากผลการตรวจปกติ ซึ่งควรได้รับการตรวจเป็นประจำทุกปีหรือทุกสองปีตามคำแนะนำของแพทย์ แต่หากผลการตรวจผิดปกติ ก็อย่าเพิ่งตกใจไปนะคะ เพราะผลที่ผิดปกติไม่ได้หมายความว่าจะเป็นมะเร็งเต้านมเสมอไป แต่อาจเป็นความผิดปกติอย่างอื่นภายในเต้านมก็ได้


คำแนะนำก่อนตรวจแมมโมแกรม
1. ไม่ควรใส่น้ำหอม ทาแป้ง หรือยาระงับกลิ่นกายก่อนไปตรวจ เนื่องจากอาจทำให้เห็นเป็นจุดขาว ๆ ในฟิล์มเอ็กซเรย์ และก่อให้เกิดการวินิจฉัยที่ผิดพลาด
2. หลีกเลี่ยงการตรวจแมมโมแกรมภายใน 1 สัปดาห์ก่อนและระหว่างที่มีประจำเดือน เพราะอาจจะทำให้เจ็บเต้านมได้
หากรู้และเข้าใจการตรวจแมมโมแกรม ก็อย่าลืมหมั่นสังเกตเต้านมของตัวเอง เพื่อหาความผิดปกติ และไปตรวจเป็นประจำทุกปีเพื่อป้องกันและรักษาได้ทันท่วงทีนะคะ
ขอบคุณข้อมูล : National Cancer Institute. Breast Cancer PDQ: Prevention – Health Professional
(http://www.nci.nih.gov/cancertopics/pdq/prevention/breast/healthprofessional)