สิวที่หู แสนเจ็บปวดและทรมาน รักษาอย่างไร

ความสวย ความงาม ใบหน้า

สิวที่หู หลายคนที่เคยเป็นมาก่อนคงเข้าใจความรู้สึกนี้ดี ว่าเจ็บปวดและทรมานมากแค่ไหน ซึ่งมันคอยสร้างความรำคาญใจให้เราไม่ใช่น้อย วันนี้เราจะมาแนะนำเคล็ดลับดีๆ ในการรักษาสิวที่หู ตลอดจนให้ความรู้และความเข้าใจว่าสิวที่หูเกิดขึ้นได้อย่างไร เพื่อนำไปสู่วิธีการป้องกันและรักษาอย่างถูกวิธี

สิวที่หู เกิดจากเหงื่อ และความมัน หรือเซลล์ผิวหนังที่ตายไปแล้ว เข้าไปอุดอยู่ใต้รูขุมขน ทำให้เกิดความรำคาญใจ แต่นั่นก็ไม่ใช่ประเด็นเพราะประเด็นอยู่ที่มันสร้างความเจ็บปวดให้เราเมื่อไปสัมผัสโดน โดยเฉพาะการจัดแต่งทรงผม หรือการใส่แว่นตา ตลอดจนการนอนตะแคงจนทำให้เกิดการเสียดสีหรือการกดทับ เป็นต้น

สิวที่หู เกิดขึ้นได้อย่างไร

สิวที่หูนั้นมีด้วยกันหลากหลายชนิด เช่น สิวหัวดำ สิวหัวขาว สิวหัวช้าง และสิวหัวหนอง เป็นต้น โดยสิวเหล่านี้จะเกิดขึ้นที่บริเวณผิวหนังชั้นนอก โดยมีสาเหตุมาจากปัจจัยดังต่อไปนี้

การสะสมของคราบแบคทีเรีย

อาจเกิดจากการที่มีเหงื่อไหล หรือการสัมผัสกับมลภาวะทางอากาศ เช่น ฝุ่น ควันต่างๆ บางครั้งอาจเกิดจากการที่นิ้วมือไปสัมผัสแล้วทำให้เชื้อแพร่กระจายเข้าสู่ผิวหนังบริเวณใบหู จนทำให้เกิดสิวขึ้น นั่นเอง

การใส่หมวกที่คับ หรือแน่นจนเกินไป

การสวมใส่หมวกที่แน่นหรือคับจนเกินไป ยิ่งต้องเจอกับสภาพอากาศที่ร้อน จะทำให้มีเหงื่อไหลออกมาในปริมาณที่มาก และเกิดเป็นการสะสมของเชื้อแบคทีเรีย ส่งผลให้เกิดสิวที่หูในที่สุด

แพ้อาหาร แพ้ยา หรือผลิตภัณฑ์บำรุงเส้นผม

ปัจจัยต่างๆ เหล่านี้สามารถทำให้เกิดผลข้างเคียงในการเกิดสิวอุดตันบนใบหูได้ โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์บำรุงเส้นผม บางยี่ห้องอาจมีสารเคมีที่ส่งผลเสียต่อผิวหนัง ยิ่งหากเราล้างทำความสะอาดไม่ดีพอ อยากทำให้เกิดสารเคมีตกค้างบนหนังศีรษะและสะสมอยู่บริเวณใบหู จนทำให้เกิดสิวที่ใบหูขึ้นมาได้

ความเครียด

บางครั้งอาจเกิดขึ้นจากความเครียด เพราะส่งผลให้ฮอร์โมนบางอย่างที่ทำงานในร่างกายเกิดความผิดปกติ ตลอดจนความเครียดเป็นผลให้มีเหงื่อออกเยอะ จนเป็นสาเหตุของการเกิดสิวที่บริเวณใบหูนั่นเอง

เกิดความไม่สมดุลของฮอร์โมน

ยกตัวอย่างเช่น เกิดการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนช่วงเข้าสู่วัยรุ่น หรือการตั้งครรภ์ ตลอดจนการใช้ยาคุมกำเนิด เป็นต้น

สิวที่ใบหูเมื่อเกิดขึ้นแล้วสามารถรักษาให้หายเองได้ โดยไม่จำเป็นต้องไปพบแพทย์

แต่สำหรับการรักษาด้วยยา ควรต้องได้รับคำแนะนำจากแพทย์ เช่น

ยาปฏิชีวนะ มีคุณสมบัติช่วยฆ่าเชื้อแบคทีเรีย โดยยาในกลุ่มนี้ได้แก่ ยาด็อกซีไซคลิน และยาไมโนไซคลีน เป็นต้น แต่การรักษาด้วยยาชนิดนี้ อาจต้องระมัดระวังเพราะอาจก่อให้เกิดภาวะดื้อยาได้

ยาที่มีส่วนผสมของวิตามินเอ สามารถหาซื้อได้ทั่วไปตามร้านขายยา และไม่เป็นอันตราย เพราะยาที่มีส่วนผสมของวิตามินเอจะมีคุณสมบัติในการช่วยรักษาสิว และลดการเกิดสิวอุดตัน

ยาในกลุ่มเบนโซอิลเพอร์ออกไซด์ โดยยาชนิดนี้จะใช้ในรูปแบบของการทา และใช้ก็ต่อเมื่อมีอาการสิวอักเสบในระดับปานกลางไปจนถึงขั้นที่รุนแรง หรือสิวนั้นสร้างความเจ็บปวดให้เราเป็นอย่างมาก เพราะมีคุณสมบัติช่วยต้านแบคทีเรียและป้องกันไม่ให้ผิวหนังแห้ง ข้อควรระวังคือ ห้ามใช้ทายานี้ในบริเวณที่มีแผล หรือระวังอย่างให้ยาเข้าปาก และจมูกเด็ดขาด เพราะอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงที่รุนแรงตามมาได้

ไอโซเตรติโนอิน ยาในกลุ่มนี้จะมีส่วนประกอบของวิตามินเอเป็นหลัก สามารถใช้กับสิวหัวช้างได้ แม้ว่ายาตัวนี้จะมีประสิทธิภายในการรักษาสูง แต่ควรได้รับคำแนะนำจากแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ เพราะอาจเกิดอาการแพ้ที่รุนแรงได้

สำหรับสิวที่หู สามารถรักษาง่ายๆ ได้ด้วยตนเอง โดยมีวิธีการดังนี้

ห้ามแกะ เกา หรือบีบ

ห้ามแกะ เกา หรือบีบเด็ดขาด หลายคนพอเกิดความเจ็บปวดก็คิดอยากจะกำจัดออกไปให้สิ้นซากด้วยวิธีการบีบออก ซึ่งเป็นวิธีที่ไม่ควรทำเด็ดขาดเพราะอาจส่งผลให้เกิดสิวอักเสบ และเกิดความเจ็บปวดมากกว่าเดิมหลายเท่า ที่สำคัญยังอาจทำให้เกิดรอยแผลเป็นขึ้นมาได้

ทำความสะอาดใบหู

ควรหมั่นทำความสะอาดใบหูด้วยสบู่อ่อนๆ หรือใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีความอ่อนโยนในการล้างชำระผิวหนังบริเวณรอบๆ ใบหู เพื่อลดการระคายเคืองและเป็นการฆ่าเชื้อแบคทีเรียที่ถูกสะสม ซึ่งเราไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า

ใช้ยารักษาสิว

ตามที่เราได้กล่าวไปแล้วในข้างต้น ทั้งนี้ หากไม่แน่ใจควรปรึกษาแพทย์ หรือเภสัชกรก่อนทุกครั้ง เพื่อป้องกันผลค้างเคียง และประสิทธิภาพในการรักษา

หลีกเลี่ยงอาหารมัน

หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูง หรืออาหารที่ผ่านกระบวนการทอด เพื่อลดไขมันไม่ให้เข้าไปอุดตันจนเป็นสาเหตุของการเกิดสิว

ไม่ควรใช้หูฟังที่สกปรก

ก่อนนำหูฟังมาใส่หู ควรตรวจสอบให้แน่ใจก่อนว่าหูฟังนั้นมีคราบหรือสิ่งสกปกติดอยู่หรือไม่ หากมีควรหาผ้าชุบแอลกอฮอล์มาเช็ดออกให้สะอาดก่อนนำมาใช้งาน เพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อโรคต่างๆ แพร่กระจายเข้าสู่ผิวหนังบริเวณใบหู ซึ่งจะสามารถช่วยลดการเกิดสิวต่างๆ ได้

ไม่ควรสวมหมวกที่คับ แน่น

เพราะจะทำให้เกิดการสะสมของเชื้อโรคและคาบแบททีเรีย โดยหมวกอาจจะไปซับคราบเหงื่อให้เกิดการสะสม จนเป็นสาเหตุของการเกิดสิวขึ้นมาได้

อย่างไรก็ตาม หากรักษาด้วยตนเองหรือซื้อยามารับประทานแล้วอาการยังไม่ดีขึ้น ควรไปพบแพทย์ทันที เพื่อหาสาเหตุและวิธีการรักษาต่อไป