หญ้าหนวดแมว มีสรรพคุณและประโยชน์อย่างไรบ้าง

อาหารเพื่อสุขภาพ - สมุนไพร

หญ้าหนวดแมว มีชื่อภาษาอังกฤษว่า Java tea, Kidney tea plant, Cat’s whiskers และมีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Orthosiphon aristatus (Blume) Miq. เป็นพืชล้มลุกขนาดเล็ก ความสูงประมาณ 0.3 – 0.8 เมตร กิ่งอ่อน ใบลักษณะเรียวมีขน ขอบใบเป็นรอยหยัก ดอกเป็นช่อมีสีขาวหรือสีม่วง ตรงกลางมีเกสรสีขาวยาวยื่นออกมาลักษณะคล้ายหนวดแมว ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ดและปักชำ จัดเป็นพืชสมุนไพรชนิดหนึ่ง ซึ่งมีประโยชน์และสรรพคุณดังนี้

  1. ช่วยขับปัสสาวะ

หญ้าหนวดแมวมีสารซาโปนิน และสารแทนรินที่มีฤทธิ์ช่วยขับปัสสาวะได้ ซึ่งจะรับประทานหญ้าหนวดแมวที่ผ่านการสกัดมาแล้วก็ได้ หรือจะนำใบหญ้าหนวดแมวตากแห้งประมาณ 4 กรัม มาต้มกับน้ำดื่มประมาณ 750 ซีซี คล้ายชงชาแล้วนำมาดื่มระหว่างวันเป็นประจำประมาณ 1-6 เดือน ก็จะช่วยให้ปัสสาวะคล่องขึ้นได้

  1. รักษานิ่วในไต

กรดยูริก แคลเซียม และออกซาเลทหากมีการสะสมบริเวณไตจะทำให้เกิดนิ่วได้ แต่จากการศึกษาพบว่าหญ้าหนวดแมวมีคุณสมบัติในการยับยั้งการก่อตัวของสารเหล่านี้ โดยให้ผู้ป่วยรับประทานยาที่ต้มจากหญ้าหนวดแมวความเข้มข้น 0.5% ปริมาณ 300 มิลลิลิตร เป็นเวลา 10 เดือน พบว่าปัสสาวะมีความเป็นด่างมากขึ้น จึงมีการสันนิษฐานว่าหญ้าหนวดแมวมีฤทธิ์รักษานิ่วในไตได้

  1. ลดไขมันในเลือด

จากการศึกษาและทดลองพบว่า หญ้าหนวดแมวมีคุณสมบัติช่วยลดไขมันในเลือดได้ โดยจะไปลดระดับไตรกลีเซอไรด์และระดับคลอเรสเตอรอลชนิดไม่ดีให้ลดลงไป แต่ไม่รบกวนการลดไขมันชนิดดีในร่างกาย การรับประทานหญ้าหนวดแมวจึงดีต่อผู้ที่มีภาวะไขมันในเลือดสูง หรือผู้ที่ต้องการลดไขมันในเลือดนั่นเอง

  1. ช่วยควบคุมน้ำหนักตัว

หญ้าหนวดแมวยังสามารถช่วยควบคุมน้ำหนักตัวได้อีกด้วย เพราะหญ้าหนวดแมวอุดมไปด้วยสารอาหารที่มีคุณค่า ทั้งโปรตีน ไขมัน คาร์โบไฮเดรต ใยอาหาร และแร่ธาตุต่าง ๆ ที่จำเป็นต่อร่างกาย แต่กลับให้พลังงานหรือแคลอรี่ที่ต่ำ จึงเป็นผลดีต่อผู้ที่ต้องการควบคุมน้ำหนัก หรือกำลังลดน้ำหนักนั่นเอง

  1. รักษาโรคข้ออักเสบ

หญ้าหนวดแมวมีสารฟลาโวนอยด์และสารประกอบฟีนอลิก ซึ่งมีฤทธิ์ในการต้านการอักเสบของข้อต่อกระดูกทั้งชนิดเฉียบพลันและเรื้อรัง ซึ่งอาจสามารถใช้แทนยาแก้อักเสบจำพวกยาแก้ปวด หรือสเตียรอยด์ได้ ซึ่งอาจเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของผู้ป่วยโรคข้ออักเสบ

แม้ว่าหญ้าหนวดแมวจะมีคุณประโยชน์มากมาย แต่ก็ต้องมีการใช้อย่างระมัดระวังเช่นเดียวกับสมุนไพรชนิดอื่น ๆ ดังนี้

ข้อควรระวังในการใช้หญ้าหนวดแมว

  1. ผู้ที่เป็นโรคหัวใจไม่ควรใช้หญ้าหนวดแมว เนื่องจากมีโพแทสเซียมสูงมาก ซึ่งอาจไปกระตุ้นให้หัวใจทำงานมากกว่าปกติได้
  2. ควรเลือกใช้ใบอ่อนของหญ้าหนวดแมวในการปรุงยา เนื่องจากใบแก่ของหญ้าหนวดแมวมีฤทธิ์เข้มข้นมาก หากรับประทานเข้าไป อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงต่อร่างกายได้
  3. ไม่ควรใช้หญ้าหนวดแมวร่วมกับยาแอสไพริน เพราะจะส่งผลให้ยาแอสไพรินไปจับกล้ามเนื้อหัวใจมากขึ้น ซึ่งอาจเป็นอันตรายได้