หมี่

อาหารเพื่อสุขภาพ - สมุนไพร
ชื่อวิทยาศาสตร์ Litsea glutinosa  C. B. Robinson.
ชื่อวงศ์ Lauraceae
ชื่ออื่นๆ หมี หมูเหม็น อีเหม็น หมูทะลวง หมีเหม็น ตังสีไพร ดอกจุ๋ม มือเบาะ

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ไม้ต้น สูง 5-15 เมตร เปลือกลำต้นสีน้ำตาล ลำต้นแก่แตกเป็นร่องตื้นตามยาว กิ่งอ่อนมีขนละเอียด

ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปวงรีแกมขอบขนานหรือรูปไข่กลับ หรือค่อนข้างกลม มักออกเป็นกลุ่มหนาแน่นที่ปลายกิ่ง กว้าง 5-9 ซม. ยาว 10-20 ซม. ปลายใบกลมหรือเรียวแหลม โคนใบสอบเป็นครีบ หรือกลม ขอบใบเรียบ หรือเป็นคลื่นเล็กน้อย ผิวใบด้านบนเกลี้ยงเป็นมัน ด้านล่างมีขน ก้านใบยาว 1-2.5 เซนติเมตร มีขน ใบประดับ 4 ใบ มีขน เนื้อใบค่อนข้างหนา มีกลิ่นหอมเฉพาะตัว

ดอกช่อซี่ร่มออกที่ซอกใบ แยกเพศอยู่คนละต้น ดอกย่อยสีเหลือง ไม่มีกลีบดอก ช่อดอกเพศผู้มีดอกย่อย 8-10 ดอก กลีบรวมลดรูปเหลือ 1-2 กลีบ หรือไม่มีเลย รูปขอบขนาน ขอบกลีบมีขน เกสรตัวผู้มี 9-20 อัน กลีบเลี้ยงรูปกลม มี 4 กลีบ อับเรณูเป็นแบบฝาเปิด ช่อดอกเพศเมียกลีบรวมลดรูปเหลือเพียงเล็กน้อย หรือไม่มี ก้านช่อดอกยาว 2-6 เซนติเมตร กลีบเลี้ยงมี 4 กลีบ แยกกัน

ผลสดรูปทรงกลม ผิวมัน เรียบ ผลอ่อนสีเขียว แก่สีม่วงเข้มเกือบดำ ก้านผลมีขน มีเมล็ดเดียวแข็ง ออกดอกราวเดือนกุมภาพันธ์ถึงตุลาคม พบตามป่าเบญจพรรณ ป่าดงดิบ

สรรพคุณ 

ตำรายาไทย ใช้ 
ใบ
ขยี้กับน้ำ สระผม พอกศีรษะ ฆ่าเหา ขับปัสสาวะ

ใบและเมล็ด
มีรสฝาดเฝื่อน ตำพอกฝี แผลหนอง แก้ปวด
เปลือกต้น
เป็นยาฝาดสมาน แก้บิด ท้องเสีย แก้ปวดมดลูก แก้เจ็บปวดตามกล้ามเนื้อ ฝนทาแก้พิษแมลงกัดต่อย แก้ฝี ผื่นคันแสบร้อน บดเป็นผงผสมกับน้ำหรือน้ำนมทาแก้แผลอักเสบ
ผิวในของเปลือกสด
อมแก้ปวดฟัน แก้ปากเหม็น ต้มอาบแก้ผดผื่น แก้ท้องอืด
ผงเปลือก 
ทำธูปจุดไล่แมลง
ใบสดใช้ฆ่าเหา 
ใช้ขยี้ทารักษาแผล กลากเกลื้อน แก้พิษแมงมุม แก้ท้องร่วง ท้องอืด แก้อาการระคายเคืองของผิวหนัง  ใช้ตำผสมกับผลทำหัวเชื้อชีวภาพ ใช้บ่มกล้วยให้สุกเร็ว ใช้รองฝาปิดปากไหปลาร้ากันหนอน
ผลดิบ
ให้น้ำมันเป็นยาถูนวดแก้ปวด
ผลสุก 
กินได้ ใช้บีบหรือตำทาแก้โรคผิวหนัง หรือนำมาสระผมก็ได้
เมล็ด 
ตำเป็นยาพอกฝี
ดอก 
ของต้นหมี่สามารถนำมาตากแห้งอบน้ำหอม ประดิษฐ์เป็นของชำร่วย
ราก 
เป็นยาฝาดสมาน และบำรุงกำลัง แก้ปวดกล้ามเนื้อ นำมาใช้ตำทาแก้ ฝี หนอง ต้มกินแก้ท้องอืด แก้ท้องร่วง เป็นส่วนผสมยาเย็น ยาผง ยาแก้ซาง บางหมู่บ้านนำรากตากให้แห้ง แล้วดองกับเหล้าขาว แก้โรคเลือด เช่น ระดูมาไม่ปกติ ลมพิษ เป็นต้น
ยาง
มีรสฝาดร้อน ตำพอกทาแก้ฟกช้ำ แก้ช้ำบวม ใช้ทาเครื่องจักสานให้หนา และทนทาน ใช้ดักแมลงตัว เล็กๆตำรายาพื้นบ้านอำนาจเจริญ ใช้ 
ราก        รักษาอาการปวดกล้ามเนื้อ ฝนทาฝี
เปลือก    ฝนทาแก้ฝี
ใบ         เป็นยาสระผม ใบย้อมผ้าให้สีเขียว

ข้อบ่งใช้ทางแพทย์แผนไทย คือ 
ราก            แก้ปวดตามกล้ามเนื้อ
เปลือกต้น    ใช้แก้ปวดมดลูก แก้คัน แก้อักเสบ แก้แสบตามผิวหนัง แก้บิด
ใบ            ใช้แก้ปวดมดลูก แก้ฝี แก้ปวด ถอนพิษร้อน
เมล็ด         ใช้ตำพอก แก้ปวดฝี แก้พิษอักเสบต่างๆ
ยาง           ใช้แก้บาดแผล แก้ฟกช้ำ

ใบหมี่เป็นพืชในท้องถิ่น หาได้ง่าย ราคาไม่แพง ชาวบ้านนิยมนำมาใช้สระผมเนื่องจากมีสารเมือก (mucilage) ที่มี polysaccharide เป็นองค์ประกอบหลัก สารสกัดจากใบหมี่มีสารสำคัญที่มีสมบัติเป็นสารเพิ่มความหนืดสำหรับผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางหรือยาที่ใช้ภายนอก

ที่มา
http://www.phargarden.com/main.php?action=viewpage&pid=127
http://yasamoonprai.com/modules.php?name=Web_Board&file=view&No=70
http://lanpanya.com/proiad/archives/152