เพกา มีสรรพคุณและประโยชน์อย่างไรบ้าง

อาหารเพื่อสุขภาพ - สมุนไพร

เพกา มีอีกชื่อหนึ่งว่า ลิ้นฟ้า มีชื่อทางภาษาอังกฤษว่า Broken bones tree, Damocles tree, Indian trumpet flower และมีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Oroxylum indicum (L.) Kurz มีถิ่นกำเนิดในประเทศอินเดียและประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นไม้ยืนต้นสูงประมาณ 8-10 เมตร พบได้ตามป่าดิบชื้นทั่วไป เปลือกลำต้นขรุขระและแตกเป็นสะเก็ด เป็นไม้เนื้ออ่อน กิ่งเปราะแตกหักได้ง่าย ใบเป็นใบประกอบ มีใบอยู่คู่ตรงข้ามกัน ออกดอกเป็นช่อที่ปลายยอด ผลเป็นฝักแบนยาว ปลายแหลมคล้ายดาบ เมื่ออ่อนจะมีสีเขียว เนื้อแน่นกรอบ รสขม เมื่อแก่จะเป็นสีเขียวอมดำ แข็งและเหนียว ด้านในมีเมล็ดอยู่เป็นจำนวนมาก เพกามีสรรพคุณและประโยชน์หลายอย่าง ดังนี้

  1. บำรุงสายตา

เพกาปริมาณ 100 กรัม อุดมไปด้วยวิตามินเอสูงถึง 8,300 มิลลิกรัมเลยทีเดียว จึงนับว่าเป็นผักที่ช่วยบำรุงสายตาชั้นเยี่ยม ช่วยให้มองเห็นได้ดีขึ้น ลดอาการสายตาอ่อนล้า พร่ามัว ป้องกันโรคที่เกี่ยวข้องกับดวงตาได้ เช่น ต้อหิน ต้อกระจก วุ้นในประสาทตาเสื่อม เป็นต้น

  1. บำรุงกระดูก

ในเพกามีสารอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการมากมาย รวมไปถึงแคลเซียมและฟอสฟอรัสด้วย ซึ่งมีหน้าที่บำรุงกระดูกและฟันให้แข็งแรง ป้องกันไม่ให้กระดูกบางหรือแตกเปราะหักได้ง่าย ลดความเสี่ยงจากการเป็นโรคกระดูกพรุนหรือโรคกระดูกเสื่อมได้

  1. บำรุงเลือด

เปลือกของเพกามีคุณสมบัติช่วยบำรุงเลือด กระตุ้นการไหลเวียนของเลือดภายในร่างกาย ทำให้เลือดไปหล่อเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ได้ดีขึ้น ป้องกันโรคโลหิตจางและช่วยให้อาการดีขึ้น ทั้งยังช่วยขับเลือดเสีย และดับพิษในเลือดได้อีกด้วย

  1. ต้านมะเร็ง

เพกานั้นอุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระจำนวนมาก ที่จะมาช่วยยับยั้งและชะลอการเสื่อมสภาพของเซลล์ ทั้งยังป้องกันและลดความเสี่ยงการเกิดเซลล์มะเร็งในร่างกาย ทำให้ห่างไกลจากโรคมะเร็งชนิดต่าง ๆ ได้

  1. แก้ไอ ขับเสมหะ

เพกายังช่วยแก้ไอและขับเสมหะได้ โดยใช้เมล็ดแก่ประมาณครึ่งถึงหนึ่งกำมือ หรือประมาณ 1.5-3 กรัม ใส่หม้อต้มน้ำปริมาณ 300 มิลลิลิตร ต้มด้วยไฟอ่อน ๆ ประมาณ 1 ชั่วโมง จากนั้นก็ให้นำมาดื่มครั้งละ 1 แก้ว 3 เวลา เช้า กลางวัน เย็น จนกว่าอาการจะดีขึ้น

  1. ทำสีย้อมผ้า

เปลือกของต้นเพกายังสามารถนำมาทำเป็นสีย้อมผ้าได้ด้วย โดยจะให้สีเขียวอ่อนที่สวยแลดูเป็นธรรมชาติ

แม้ว่าเพกาจะมีประโยชน์และสรรพคุณหลายอย่าง แต่ก็ควรรับประทานด้วยความระมัดระวัง โดยหญิงมีครรภ์ไม่ควรรับประทานฝักอ่อนของเพกา เพราะมีฤทธิ์ร้อนมาก อาจทำให้แท้งบุตรได้ แต่คนปกติทั่วไปสามารถรับประทานได้ โดยจะจิ้มกินกับน้ำพริกสด ๆ ก็ได้ ซึ่งน่าจะอร่อยไม่แพ้กับผักชนิดอื่น ๆ แถมยังมีประโยชน์ต่อร่างกายอีกด้วย