เลี้ยงลูกวัยรุ่นอย่างไรให้(เข้า)ถึงใจ

ไลฟ์สไตล์

พ่อแม่ส่วนใหญ่มักกังวลใจเมื่อลูกเริ่มเข้าสู่วัยรุ่น วัยแห่งการเปลี่ยนแปลง ทั้งทางร่างกายและการนึกคิด นับว่าเป็นปัญหายอดฮิตของพ่อแม่ในทุกยุคทุกสมัย ไม่ว่าจะด้วยปัจจัยช่องว่างระหว่างวัยหรือฮอร์โมนของเด็กเอง พ่อแม่บางคนอาจจะไม่ทันตั้งตัวในการเปลี่ยนแปลงนี้ รู้แต่ว่าทำไมอยู่ ๆ ลูกฉันก็มีอาการต่อต้าน ไม่เชื่อฟัง ราวกับเป็นคนละคนกับเมื่อตอนเล็ก ๆ นั่นทำให้พ่อแม่เริ่มตระหนักได้ว่า หรือลูกจะเริ่มโตเข้าสู่วัยรุ่นแล้ว ดังนั้นพ่อแม่ก็ต้องเตรียมที่รับมือกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ด้วยเกรงว่าจะเกิดเรื่องไม่ดีขึ้นกับลูก
ดังนั้นความสามารถของพ่อแม่ในการจัดการกับปัญหาของลูกวัยรุ่นจะช่วยลูกได้เป็นอย่างมากในการก้าวข้ามผ่านช่วงวัยรุ่นไปสู่วัยหนุ่มสาวที่มีความสุข และสิ่งที่พ่อแม่ควรปรับเปลี่ยนเมื่อลูกวัยรุ่นฮอร์โมนกำลังขึ้น ๆ ลง ๆ ปั่นป่วนว้าวุ่นใจ มีดังนี้

1. ปรับตัวรักษาระยะความสัมพันธ์
เมื่อเข้าสู่วัยรุ่น บางครั้งเด็กจะเริ่มเก็บตัว เว้นระยะ และต้องการมีพื้นที่ส่วนตัวที่สูงขึ้น บางครั้งก็แปรปรวน เอาแต่ใจตัวเอง หรือคาดเดาอะไรไม่ได้ ซึ่งพ่อแม่ก็อยากจะเข้าใกล้เพื่อทำความเข้าใจ แต่สิ่งที่คิดมักจะตรงข้ามกับสิ่งที่เกิดขึ้น กลายเป็นว่า ยิ่งใกล้ ยิ่งไกลห่าง เราต้องยอมรับก่อนนะคะว่าตอนนี้ลูกของเราเป็นวัยรุ่นแล้ว เขาอยากจะมีพื้นที่ส่วนตัวมากขึ้น ไม่ต้องกังวลใจไปค่ะ เว้นระยะออกมาหน่อย ให้พื้นที่กับลูกมากขึ้น ทำเป็นไม่สนใจบ้างในบางเรื่องที่รู้สึกขัดใจ เป็นผู้ฟังที่ดี ไม่ขัดคอเวลาเขาเล่าอะไร ให้ลูกรู้สึกว่าเขาคุยกับเราได้

2. พร้อมแก้ปัญหาให้ลูก
ขึ้นชื่อว่าวัยรุ่นเป็นวัยที่ว้าวุ่นที่สุดเลยค่ะ เขาจะมีปัญหามากมายที่คิดไม่ตกและต้องการความช่วยเหลือ แน่นอนว่าพ่อแม่ยังคงเป็นตัวช่วยที่ดีที่สุดเวลาที่มีลูกมีปัญหา สิ่งหนึ่งที่พึงระลึกไว้เสมอว่า พ่อแม่ต้องใจเย็น มองว่าทุกปัญหามันแก้ได้เสมอ แต่ไม่ออกหน้ารับแทนลูกจนลูกไม่รู้จักรับผิดชอบกับสิ่งที่ตัวเองทำ การเรียนรู้ปัญหาโดยมีพ่อแม่เป็นที่ปรึกษาที่ดี ก็จะช่วยให้ผ่านพ้นวัยนี้ไปได้ดีขึ้น
        

3. สร้างข้อตกลงในการอยู่ด้วยกัน
พ่อแม่ควรสร้างข้อตกลงระหว่างกันกับลูกค่ะ โดยข้อตกลงเบื้องต้นที่ควรทำมี 2 เรื่อง คือ 1) ความปลอดภัย พ่อแม่ต้องรู้ว่าลูกทำอะไรอยู่ที่ไหนนอกบ้าน แต่ไม่ใช่การสะกดรอย ติดตามเกินไปจนลูกรู้สึกอึดอัด ขาดอิสรภาพ 2) จัดการเรื่องของการเรียน จะเรียนเก่ง เรียนไม่เก่ง ไม่สำคัญเท่าความใส่ใจในการจัดการตัวเองเรื่องเรียน ดังนั้น สิ่งที่พ่อแม่ควรสนับสนุนลูก คือการส่งเสริมตามศักยภาพที่ลูกมี ช่วยให้ลูกสร้างเป้าหมายของตัวเองและไปถึงยังเป้าหมายนั้นที่ตัวเองต้องได้

4. ช่วยตามฝันของลูกให้เจอ
ด้วยยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป อะไรก็ตามในยุคที่พ่อแม่เคยเจอกับยุคของลูกก็ย่อมต่างกัน ทางเลือกที่จะไปสู่ฝั่งฝันก็เปิดกว้างขึ้น พ่อแม่ต้องถอยออกมาเพื่อให้ลูกได้ตามหาฝันของตัวเองให้เจอ พ่อแม่อาจจะสนับสนุนการทำกิจกรรมที่หลากหลาย ไปลองเข้าร่วมกิจกรรมใหม่ ๆ นอกห้องเรียนบ้าง โดยเฉพาะเรื่องการปรับตัวรับมือกับสถานการณ์ต่าง ๆ ทักษะที่สำคัญที่จะช่วยให้ลูกประสบความสำเร็จมาจากการประเมินสถานการณ์ ปรับตัวได้ อดทนและรอคอยสิ่งที่ดีกว่า แต่อย่าไปบังคับในสิ่งที่เรามองว่าดี ซึ่งมันอาจจะไม่ดีสำหรับเขาก็ได้

ลูกวัยรุ่นอาจทำให้พ่อแม่กังวลใจไปบ้าง แต่ขอให้มั่นใจว่าความรักและความอบอุ่นของพ่อแม่ที่ส่งผ่านไปยังลูกจะคอยเป็นเกราะป้องกันที่แข็งแกร่งที่จะพาลูกผ่านช่วงวัยอันว้าวุ่นนี้ไปได้ ทั้งหมดอยู่ที่ใจอันเปิดกว้างของพ่อแม่นะคะ ที่จะเปิดใจ เปิดพื้นที่ ให้ลูกสามารถยืนได้ด้วยขาของตัวเอง อาจจะมีล้มบ้าง แต่มือของพ่อแม่จะช่วยฉุดดึงลูกเข้ามาให้เข้าที่เข้าทางได้แน่