โคกกะออม

อาหารเพื่อสุขภาพ - สมุนไพร

ชื่อวิทยาศาสตร์:    Cardiospermum halicacabum Linn.
ชื่อวงศ์ :   Sapindaceae
ชื่อสามัญ : Balloon Vine, Heart Pea, Heart seed, Smooth leaved Heart Pea
ชื่ออื่น ๆ : ลูบลีบเครือ ( เหนือ ) , โคกกระออม ( กลาง ) , ตุ้มต้อก (แพร่) ติ๊นโข่ ไหน (จีน), โพออม (ปัตตานี), วิวี่ (ปราจีนบุรี)

ลักษณะทั่วไป
ต้น : เป็นพรรณไม้เถาขนาดกลาง ลักษณะของเถานั้นจะเป็นรูป 5 เหลี่ยม เถาจะโตเท่าก้านไม้ขีดไฟ หรือ จะเล็กกว่านั้นก็มีส่วนผิวของเถาจะเป็นสีเขียว เป็นเถาที่มีความยาวเลื้อยเกาะพันกันขึ้นไปบนต้นไม้ หรือตามกิ่งไม้ หรือเลื้อยไปตามพื้นดินและตรงข้อของเถานั้นจะมีมือสำหรับยึดเกาะ

ใบ : ใบจะเป็นใบประกอบ ก้านใบนั้นจะยาว มีใบย่อยราว ๆ 3 ใบ ขอบใบจะเป็นหยักลึกและมีมือเกาะสั้น ๆ จะอยู่ที่ปลายยอดอยู่ระหว่างซอกเถาที่มีก้านช่อดอก มือจับจะมี2 อัน จะแยกกันออกก้านช่อดอกที่ยาว ใบนั้นจะมีสีเขียว

ดอก : ดอกช่อมีขนาดเล็กจะมีประมาณ 3-4 ดอก ดอกย่อยเป็นสีขาวเล็ก ๆ เท่าเมล็ดผักชี ดอกแยกเพศร่วมต้น ดอกสมมาตรด้านข้าง กลีบเลี้ยงและกลีบดอกมีจำนวนอย่างละ 4 กลีบ กลีบเลี้ยงคู่นอกมีขนาดเล็กกว่าคู่ใน กลีบดอกมีเกล็ดเป็นสันด้านใน จานฐานดอกคล้ายต่อม เกสรเพศผู้ 8 อัน ขนาดไม่เท่ากัน ก้านเกสรมีขน รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มี 3 ช่อง แต่ละช่องมีออวุล 1 เม็ด ก้านเกสรเพศเมียสั้น ยอดเกสรเพศเมียหยักเป็น 3 พู

เมล็ด (ผล) : ผลแบบแคปซูล ผนังบาง มี 3 พู เป็นรูปสามเหลี่ยมมีความกว้างประมาณ 1-2 เซนติเมตร ส่วนเปลือกผลนั้นจะมีลักษณะบางสีเขียวอมเหลืองผลจะโตเท่าผลพุดซา ในผลหนึ่งจะมีเมล็ดมีสีเขียวอ่อนค่อนข้างนิ่ม เมื่อเมล็ด แก่จัดจะเปลี่ยนเป็นสีดำและแข็ง  เมล็ดมีขั้วขนาดใหญ่ ดูคล้ายเยื่อหุ้มเมล็ด

การขยายพันธุ์ : โดยการใช้เมล็ด

ส่วนที่ใช้ : เถา ใบ ดอก เมล็ด ผล ราก ใช้เป็นยา

สรรพคุณ :
เถา ใช้รักษาอาการไข้จับ

ใบ ยาไทย มักจะใช้ใบสดนำมาตำพอกผีในปันจาบหรือใช้เป็นยารักษาโรคหืด และรักษาอาการไอ

ดอก ใช้เป็นยารักษาโลหิตในอกให้ตก

ผล ใช้ดับพิษทั้งปวง และใช้บำรุงน้ำดี

เมล็ด ใช้รักษาไข้ขับเหงื่อ

ราก ใช้เป็นยาทำให้อาเจียนและเป็นยาระบาย นอกจากนี้ยังใช้เป็นยารักษาตาซึ่งเป็นต้อและรักษาพิษงูเห่า

แก้ไข้ แก้ไอ แก้หอบหืด
ใช้น้ำคั้นจากใบสดๆ แก้หอบหืด ปัจจุบันการศึกษาฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาพบว่าโคกกระออมมีฤทธิ์ในการยับยั้งการหดตัวของกล้ามเนื้อเรียบซึ่งเป็นการสนับสนุนการใช้ใบโคกกระออมแก้หอบหืดของชาวบ้าน

ขับปัสสาวะ ช่วยลดความดันโลหิต
ใช้โคกกระออมทั้ง 5 ต้มกินต่างน้ำ เพื่อขับปัสสาวะ ขับเหงื่อ ช่วยลดความดัน และยังนิยมต้มให้คนแก่ที่มีอาการต่อมลูกหมากโตกินต่างน้ำ ซึ่งจากการศึกษาในสัตว์ทดลองพบว่าสารสกัดของโคกกระออมสามารถลดความดันโลหิตได้

แก้อักเสบ แก้รูมาตอยด์
ใช้ใบโคกกระออมตำคั้นน้ำ เคี่ยวกับน้ำมันงาทาเช้า-เย็นอย่างต่อเนื่องประมาณ 7 วัน อาการรูมาตอยด์จะค่อยๆ ดีขึ้น แล้วให้ทาติดต่อกันไปเรื่อยๆ นอกจากรูมาตอยด์แล้ว โคกกระออมยังใช้รักษาอาการอักเสบ บวม ตามบริเวณต่างๆ ของร่างกาย โดยใช้ใบโคกกระออมตำกับเกลือทาบริเวณที่บวมนั้น ปัจจุบันมีการศึกษาพบว่าโคกกระออมมีฤทธิ์ต้านการอักเสบ

รักษารังแค แผล โรคผิวหนัง
ใบโคกกระออมยังใช้เป็นยาใส่แผลชั้นยอดโดยใช้น้ำต้มข้นๆ ล้างแผลหรือเมื่อเวลาเป็นฝีมีหนองจะใช้ใบตำพอก ส่วนรากของโคกกระออมในสมัยที่งูชุกชุมและไม่มีเซรุ่มแก้พิษงูนั้น เขาจะใช้รากของต้นโคกกระออมตำคั้นเอาน้ำมากิน ส่วนกากจะใช้พอกที่ปากแผล

นอกจากนี้ใครที่มีรังแคเขาจะทุบเถาของโคกกระออมคั้นแช่น้ำพอข้นๆ แล้วนำมาชะโลมศรีษะทิ้งไว้สักครู่แล้วล้างออกเพื่อกำจัดรังแค

อื่น ๆ : ตามชนบทบางแห่งจะเรียกว่าหญ้าแมงหวี่ ถ้าเด็กตาแดงหรือตาแฉะ และจะมีแมลงหวี่ชอบมาตอมตา จะใช้ ต้นโคกกระออม นี้รวมทั้งใบสด ๆ มาพันไว้รอบศีระษะ ทำให้แมลงหวี่จะกลัวไม่มาตอมตา แต่บางคนก็ เรียกหญ้าแมงหวี่

ที่มา
http://goo.gl/hhQ5h
http://www.samunpri.com/herbs/?p=282
http://thrai.sci.ku.ac.th/node/939
http://clgc.rdi.ku.ac.th/index.php/rs/herb/121-cardiospermum