โมโนโฟเบีย โรคติดมือถือ เป็นอย่างไร แก้ไขได้หรือไม่

ข้อมูลสุขภาพตามระบบ

สมัยนี้ใครๆ ก็ใช้แต่สมาร์ทโฟน เพราะสามารถใช้ติดต่อสื่อสารได้ง่าย ท่องอินเตอร์เน็ตก็ได้ จะถ่ายรูปก็ดี หรือจะอัดคลิป สร้างสีสันให้ชีวิต ด้วยการอัพโหลดรูปถ่ายและวิดีโอลงแอพพลิเคชั่นต่างๆ ที่มีมากมายในโลกออนไลน์ ซึ่งหากใครไม่มีถือว่าพลาดโอกาสในการติดต่อสื่อสารกับทั้งเพื่อนเก่าและเพื่อนใหม่ รวมทั้งคนใกล้ชิดและคนในครอบครัวอีกด้วย เพราะเดี๋ยวนี้มีวิดีโอคอล ที่พูดคุยผ่านสมาร์ทโฟนโดยเห็นหน้าค่าตากันได้ ไม่เหมือนสมัยก่อนที่ได้ยินแต่เสียง ด้วยฟังก์ชั่นต่างๆ ของมือถือสมัยใหม่ที่มีมากมาย ทำให้แถบทุกรายต้องมีไว้สักเครื่อง เพื่อใช้ในชีวิตประจำวัน แต่บางครั้งเราอาจใช้งานเจ้าสิ่งนี้มากจนเกินไป ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการโนโมโฟเบียขึ้นได้

โนโมโฟเบีย (Nomophobia) ย่อมาจากคำว่า no mobile phone phobia เป็นศัพท์ที่บัญญัติขึ้นในปีค.ศ.2008 หมายถึงอาการวิตกกังวลเมื่อขาดโทรศัพท์มือถือ ซึ่งจัดอยู่ในโรคทางจิตเวชที่ต้องได้รับการรักษา ผู้ที่มีอาการเหล่านี้จะรู้สึกกระวนกระวาย หงุดหงิด เมื่อไม่ได้จับมือถือ บางรายอาจมีอาการเครียด เหงื่อออก ตัวสั่น คลื่นไส้ร่วมด้วย ซึ่งเป็นอาการที่หนักขึ้นและควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาและแก้ไขโดยด่วน

พฤติกรรมที่เข้าข่าย

  1. หมกมุ่นอยู่กับการเช็คความเคลื่อนไหวในโลกโซเชียลอยู่ตลอดเวลา มักจะหยิบมือถือขึ้นมาดูบ่อยๆ แม้จะไม่มีเรื่องเร่งด่วนก็ตาม
  2. สิ่งแรกและสิ่งสุดท้ายที่ทำประจำในทุกๆ วันคือเช็คมือถือ
  3. เมื่อได้ยินเสียงแจ้งเตือนจากโทรศัพท์ เราจะทิ้งทุกสิ่งที่ทำอยู่ทันที เพื่อไปเช็คความเคลื่อนไหวในมือถือ หากไม่เช่นนั้นจะรู้สึกกระวนกระวาย ทำงานที่อยู่ตรงหน้าต่อไม่ได้
  4. มักจะเล่นโทรศัพท์มือถือระหว่างทำกิจกรรมอย่างอื่นไปด้วยเป็นประจำ เช่น กินข้าว เข้าห้องน้ำ ทำงาน หรือในขณะเดินทางด้วยรถประจำทางหรือรถส่วนตัวก็ต้องเล่นมือถือตลอด
  5. ใช้เวลาอยู่ในโลกของโซเชียลมากกว่าในชีวิตจริง
  6. หากหามือถือไม่เจอ จะรู้สึกวิตกกังวลเป็นอย่างมาก

วิธีแก้ไข

  1. พยายามใช้มือถือเท่าที่จำเป็น หากิจกรรมอย่างอื่นทำทดแทน เช่น อ่านหนังสือ ออกกำลังกาย ทำอาหาร เล่นกับสัตว์เลี้ยง ร้องเพลง เป็นต้น
  2. ลองตั้งเวลาไว้ว่าจะไม่จับมือถือภายในกี่นาทีหรือกี่ชั่วโมง เช่น 30 นาทีต่อจากนี้จะไม่แตะมือถือเลย เมื่อทำได้แล้วก็ค่อยๆ เลื่อนเวลาให้มากขึ้นทีละขั้น อาจเพิ่มเป็น 45 นาทีหรือ 1 ชั่วโมงก็ได้
  3. หากรู้สึกเหงาอยากหาคนคุยด้วย ให้คุยกับคนในบ้าน หรือเพื่อนร่วมงานแทน หรือจะนัดเพื่อนออกมาเจอกันข้างนอกก็ได้ พยายามอยู่ในโลกออนไลน์ให้น้อยลง
  4. ลองกำหนดให้ห้องนอนเป็นเขตปลอดมือถือ ห้ามนำเข้ามา เราจะได้ไม่แตะมันทุกครั้งหลังตื่นนอนและก่อนเข้านอนนั่นเอง
  5. หากรู้สึกว่าทำมาทุกข้อแล้ว แต่ไม่ได้ผล หรืออาการหนักมาก ให้ไปปรึกษาจิตแพทย์เพื่อรับการรักษาและบำบัดต่อไป