โรคกรดไหลย้อนเกิดจากอะไร อาการเป็นแบบไหน รักษาได้อย่างไร               

ข้อมูลสุขภาพตามระบบ

โรคกรดไหลย้อนแม้จะไม่ใช่โรคร้ายแรง แต่ก็สร้างความรำคาญและลำบากให้แก่ผู้ป่วยในชีวิตประจำวันได้ ซึ่งอาจทำให้รับประทานอาหารได้ไม่ปกติ ปวดแสบปวดร้อนกลางอก หายใจไม่ค่อยออก อาหารไม่ย่อย และอีกสารพัดอาการที่สร้างความทรมานให้แก่ผู้ป่วย ดังนั้นเราจึงควรรู้จักกับโรคนี้และศึกษาเพื่อทำความเข้าใจกันค่ะ

โรคกรดไหลย้อนและอาการ

โรคกรดไหลย้อนเกิดจากการที่น้ำย่อยในกระเพาะอาหารซึ่งมีฤทธิ์เป็นกรดไหลย้อนกลับขึ้นมาในหลอดอาหาร ทำให้เกิดอาการแสบร้อนกลางอก คลื่นไส้ จุกเสียดแน่นท้อง อาหารไม่ย่อย เรอบ่อย หรืออาจมีอาการอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น ไอเรื้อรัง เป็นหอบหืด เสียบแหบแห้ง หลอดอาหารอักเสบ ฟันผุ ซึ่งเป็นภาวะแทรกซ้อนของกรดไหลย้อนนั่นเอง โดยผู้ป่วยจะมีความรำคาญและทรมานยากลำบากต่อการใช้ชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะการรับประทานอาหาร อาจจะกลืนข้าวไม่ลง ทำให้ได้รับสารอาหารที่ไม่เพียงพอ

สาเหตุของโรคกรดไหลย้อน

               สาเหตุเกิดจากกล้ามเนื้อหูรูดบริเวณปลายหลอดอาหารทำงานผิดปกติ ทำให้น้ำย่อยหรือกรดในกระเพาะอาหารไหลย้อนกลับขึ้นมายังหลอดอาหาร เนื่องมาจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันที่ไม่ถูกต้อง เช่น รับประทานอาหารเสร็จแล้วนอนทันที สูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์หรือน้ำอัดลมจัด รับประทานอาหารในปริมาณที่มากเกินไปในมื้อเดียว เป็นโรคอ้วน หรืออยู่ในช่วงตั้งครรภ์ ซึ่งปัจจัยเหล่านี้นี่เองที่ทำให้เป็นโรคกรดไหลย้อนได้ง่ายขึ้น

การวินิจฉัยของโรคกรดไหลย้อน

               แพทย์จะทำการวินิจฉัยจากการซักประวัติของผู้ป่วยเป็นหลัก นอกจากนี้อาจจะได้รับการตรวจพิเศษเพื่อหาสาเหตุที่แน่ชัด เช่น ส่องกล้องเข้าไปในระบบทางเดินอาหาร เพื่อตรวจการทำงานของระบบทางเดินอาหาร หรือตรวจการเคลื่อนไหวของหลอดอาหาร ซึ่งมีการบีบและหดตัวคล้ายลูกคลื่น

การป้องกันโรคกรดไหลย้อน

            การปรับพฤติกรรมในการใช้ชีวิตประจำวันจะช่วยป้องกันโรคกรดไหลย้อนได้ เช่น รับประทานอาหารให้ตรงเวลา ไม่บริโภคจนมากเกินไปในแต่ละมื้อ ไม่ดื่มน้ำอัดลมหรือแอลกอฮอล์จัด งดการสูบบุหรี่ ควบคุมน้ำหนักตัวให้เหมาะสมกับเพศ วัยและความสูง ไม่นอนหลังจากรับประทานอาหารเสร็จทันที รวมทั้งดูแลสุขภาพร่างกายโดยรวมให้แข็งแรง ก็จะช่วยป้องกันโรคกรดไหลย้อนไม่ให้มากล้ำกรายคุณได้

การรักษาโรคกรดไหลย้อน

               การรักษาโรคกรดไหลย้อนมีหลายวิธี ซึ่งถ้าให้ดีก็ควรปรับพฤติกรรมการรับประทานอาหารและการใช้ชีวิตประจำวันร่วมด้วย จะช่วยให้อาการดีและหายเร็วขึ้น โดยแพทย์อาจจะจ่ายยาลดการหลั่งของกรดในกระเพาะอาหาร หรือจ่ายยาเพิ่มการเคลื่อนตัวของระบบทางเดินอาหาร เป็นต้น แต่หากอาการยังไม่ดีขึ้น แพทย์อาจจะให้ผู้ป่วยผ่าตัดกล้ามเนื้อหูรูดหลอดอาหาร เพื่อเป็นการซ่อมแซมและป้องกันไม่ให้กรดไหลย้อนขึ้นไปยังหลอดอาหารอีก