โลหิตจาง ภัยเงียบที่อันตรายถึงชีวิต

ระบบเลือด

ภาวะโลหิตจางหรือเลือดจาง (Anemia) ที่เรารู้จักกันนั้น เป็นโรคเลือดที่พบได้บ่อยที่สุด เกิดขึ้นเมื่อระดับความเข้มข้นของฮีโมโกลบินในเลือดลดลงจากค่าปกติในแต่ละอายุและเพศ นอกจากนี้ จำนวนเม็ดเลือดแดงก็ยังลดลงด้วย ฮีโมโกลบินเป็นส่วนประกอบของเม็ดเลือดแดงที่ขนส่งออกซิเจนจากปอดไปยังเนื้อเยื่อ โดยมีธาตุเหล็กเป็นองค์ประกอบสำคัญของฮีโมโกลบิน ซึ่งการขาดธาตุเหล็กจึงทำให้ระดับฮีโมโกลบินต่ำ


 เราสามารถเช็คตัวเองเบื้องต้นจากอาการดังต่อไปนี้
– ผิวหนัง ริมฝีปาก เหงือก เปลือกตา เล็บ และฝ่ามือซีดจาง
– อ่อนเพลีย ไม่มีแรง
– เวียนศีรษะ
– หัวใจเต้นเร็ว
– รู้สึกหนาวเย็น
– หายใจไม่อิ่ม


ในการวินิจฉัยทางการแพทย์นั้น สามารถแยกภาวะโลหิตจางจากสาเหตุและปัจจัยต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
1. ภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก (Iron-deficiency anemia)
เป็นภาวะโลหิตจางที่พบได้บ่อยที่สุด สาเหตุมาจากการขาดธาตุเหล็กในร่างกาย ซึ่งมากจากปัจจัยย่อย ๆ ได้แก่ การตั้งครรภ์และการให้นมบุตร ประจำเดือนมามาก ฮอร์โมนร่างกายผิดปกติ รวมถึง ความผิดปกติในระบบทางเดินอาหาร เช่น แผลในระบบทางเดินอาหาร

2. ภาวะโลหิตจางชนิดร้าย (Pernicious anemia)

ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อขาด Intrinsic factor ซึ่งเป็นสารที่จำเป็นต่อการดูดซึมวิตามินบี 12 สาเหตุอาจมาจากการตัดกระเพาะอาหารหรือกรรมพันธุ์ และมักพบในวัยสูงอายุ โดยผู้ที่เป็นจะมีอาการเบื่ออาหาร น้ำหนักลด ชาบริเวณปลายมือปลายเท้า ทรงตัวได้ไม่ดี

3. ภาวะโลหิตจางจากการขาดกรดโฟลิค (Folic acid-deficiency anemia)

คือเซลล์เม็ดเลือดแดงของผู้ที่เป็นจะมีขนาดใหญ่ผิดปกติและมีจำนวนที่น้อยกว่าปกติ โดยจะมีปัญหาจากการดื่มสุราเป็นประจำ มีปัญหาการดูดซึมอาหารของระบบทางเดินอาหาร หรือการทานยาบางชนิด เช่น ยากันชัก

4. ภาวะโลหิตจางจากโรคไขกระดูกฝ่อ (Aplastic anemia)

ซึ่งเป็นภาวะโลหิตจางที่มีอันตรายถึงชีวิต มีสาเหตุมาจากการที่ไขกระดูกสร้างเซลล์เม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว และเกล็ดเลือดน้อยลง ซึ่งพบในผู้ที่มีปัญหาจากการได้รับเคมีบำบัดหรือรังสีบำบัด เป็นโรค SLE เป็นโรคติดเชื้อ หรือการได้รับยาปฏิชีวนะบางชนิด

5. ภาวะโลหิตจางจากการสลายตัวของเม็ดเลือดแดง (Hemolytic anemia)
เกิดขึ้นเมื่อเม็ดเลือดแดงถุกทำลายในอัตราที่เร็วกว่าอัตราการสร้างทดแทนจากไขกระดูก จะพบในผู้ที่มีปัญหาดีซ่าน หรือปวดท้องส่วนบน

6. ภาวะโลหิตจางจากเม็ดเลือดแดงเป็นรูปจันทร์เสี้ยว (Sickle cell anemia)

รูปร่างที่ผิดปกตินี้ทำให้เม็ดเลือดแดงมีอายุสั้นกว่าปกติ ส่งผลให้ขาดเม็ดเลือดแดง โดยทั่วไปสาเหตุนี้จะพบในคนแถบอาหรับ ตุรกี และแถบเมดิเตอร์เรเนียน

คำแนะนำในการดูแลตัวเอง

– ทานอาหารให้ครบห้าหมู่ รวมถึงอาหารที่อุดมไปด้วยธาตุเหล็ก เช่น เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน ถั่ว ขนมปังที่ทำจากธัญพืชและผักใบเขียว
– ทานอาหารที่อุดมไปด้วยกรดโฟลิคและวิตามินบี 12 ได้แก่ ปลา ผลิตภัณฑ์จากนม ผักใบเขียวเข้ม ธัญพืชทั้งเมล็ด
– การได้รับธาตุเหล็กมากเกินไปอาจเป็นอันตรายต่อร่างกาย โดยเกี่ยวข้องกับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นต่อการเกิดโรคตับแข็ง โรคกล้ามเนื้อหัวใจ และมะเร็งบางชนิด ดังนั้นควรทานธาตุเหล็กภายใต้การดูแลของแพทย์เท่านั้นค่ะ
– หลีกเลี่ยงชาและกาแฟ เนื่องจากคาเฟอีนในเครื่องดื่มเหล่านี้นั้นดูดซึมธาตุเหล็ก ทำให้ธาตุเหล็กไม่ถูกดูดซึมโดยร่างกาย
– จำกัดการดื่มแอลกอฮอล์

เราได้เห็นความน่ากลัวของภาวะโลหิตจางไปแล้วนะคะ เพราะฉะนั้นควรหันมาดูแลสุขภาพกันมากขึ้นเพื่อเป็นการป้องกันและลดความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะดังกล่าวนี้ลงได้ ยิ่งเราดูแลตัวเองดีมากเท่าไหร่ โรคก็จะยิ่งไกลห่างจากตัวเรามากเท่านั้น