Guestpost โฟสฟรี ถ้าคุณมีสาระดีๆ ที่นี่เราให้คุณได้แบ่งปัน

Notifications
Clear all

เปิดหัวใจนักดนตรีบำบัด "ภุชงค์ ฉิมพิบูลย์" ผู้เยียวยาผู้เจ็บป่วยด้วยเสียงดนตรี

1 Posts
1 Users
0 Likes
217 Views
benjawan
(@benjawan)
Posts: 2495
Noble Member
Topic starter
 

564000009441502

นอกจากดนตรีแล้ว Therapeutic relationship หรือสัมพันธภาพที่เอื้อต่อการบำบัด ถือเป็นส่วนสำคัญของบริการดนตรีบำบัด การใช้ดนตรีโดยมีเป้าหมายทางด้านสุขภาพ เยียวยาความเจ็บป่วยทั้งทางกายและใจ โดยทุกๆ การบำบัดต้องทำอยู่บนพื้นฐานของการที่มีงานวิจัยหรือผลการทดลองทางวิทยาศาสตร์รองรับว่าใช้ได้ผลและมีประสิทธิภาพอย่างแท้จริง

เนื่องด้วยคนไข้หรือผู้รับบริการแต่ละรายล้วนแตกต่างกัน มีความเจ็บป่วย มีภูมิหลัง การตอบสนองทางดนตรีที่แตกต่างกัน ดนตรีที่ใช้กับแต่ละคนจึงแตกต่างกัน ดังนั้น การเป็นนักดนตรีบำบัด จึงจำเป็นจะต้องผ่านการเรียนรู้และฝึกฝนเฉพาะทาง เพื่อจัดเตรียมกิจกรรมดนตรีบำบัดที่เหมาะสม และมีประสิทธิภาพ

มิพักต้องเอ่ยถึง ประสบการณ์ ความทรงจำที่มีต่อการใช้ดนตรีบำบัดกับคนไข้บางรายอันแสนงดงามอย่างยิ่งทั้งต่อตัวคนไข้และครอบครัว สิ่งที่เขาร่วมสร้างกับนักดนตรีบำบัดผู้นี้ ยังทำหน้าที่เยียวยาใจและปลอบประโลมผู้ใกล้ชิดได้อย่างมีพลัง นับเป็นกระบวนการใช้ดนตรีบำบัดที่ทรงประสิทธิภาพอย่างน่าชื่นชม

‘ผู้จัดการออนไลน์’ สัมภาษณ์พิเศษ ‘ภุชงค์ ฉิมพิบูลย์’ นักดนตรีบำบัด ศูนย์บริรักษ์ ศิริราช คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อบอกเล่าถึงนิยามความหมาย หัวใจและความสำคัญของการเป็นนักดนตรีบำบัด รวมถึงการบอกเล่าประสบการณ์บางส่วนเสี้ยวที่น่าจดจำไม่รู้ลืม ขณะเดียวกัน ก็ทิ้งท้ายอย่างให้กำลังใจและมอบความปรารถนาดีต่อผู้คนในห้วงที่ทั้งสังคมต้องเผชิญกับภาวะวิกฤติโควิด-19 ซึ่งเสียงเพลงที่แต่ละคนคัดสรรด้วยตนเอง อาจส่งพลังเยียวยาจิตใจได้อย่างเกินคาดหมาย

นิยามความหมายของดนตรีบำบัด

เมื่อขอให้ช่วยเล่าถึงนิยามความหมายของดนตรีบำบัดว่ามีขอบเขตกว้างแค่ไหน อย่างไร ภุชงค์ตอบว่า “ผมจะยกนิยามหรือเรียกว่าข้อสำคัญดีกว่าครับ ดนตรีบำบัดคือเป็นการใช้ดนตรีโดยมีเป้าหมายทางด้านสุขภาพ ใช้ดนตรีเพื่อหวังผลทางสุขภาพเท่านั้น ซึ่งคนที่จะใช้ดนตรีในลักษณะนี้ได้ ก็จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องจบดนตรีบำบัดมา เพราะมีการใช้ดนตรีที่นอกเหนือจากความบันเทิง มันมีวิธีการใช้ดนตรีที่นอกเหนือไปจากการสร้างกระแสเพื่อให้เกิดการเติบโตทางธุรกิจ แต่มันเป็นการใช้ดนตรีเพื่อผลทางด้านสุขภาพ ซึ่งมีผลโดยตรงต่อมนุษย์ ดังนั้น จึงต้องมีการเรียนเฉพาะทาง”

โดยในนิยามได้อธิบายถึงตัวดนตรีที่นำมาใช้บำบัดว่าจะมีลักษณะประการหนึ่งที่สำคัญคือ ตัวดนตรีนั้นๆ อาจหมายถึง กิจกรรมดนตรี เช่น ฟังเพลง ร้องเพลง เคลื่อนไหวประกอบเพลง เล่นเครื่องดนตรี รวมถึงองค์ประกอบของดนตรี เช่น ความช้า-เร็ว เสียงต่างๆ ทำนองต่างๆ ลักษณะเฉพาะของเสียงเครื่องดนตรีนั้นๆ เช่นอันนี้เป็นเสียงซอ อันนี้จะเข้ อันนี้เปียโน อันนี้กีตาร์ องค์ประกอบเหล่านี้ ต้องมาจากงานวิจัยที่รองรับว่า ใช้แล้วจะได้ผล

“ตัวอย่างเช่น สมมติว่าเราเจอคนไข้คนหนึ่งกำลังเจ็บปวด วิธีที่นักดนตรีบำบัดจะทำก็คือ ใช้ดนตรีอะไรที่มีการพิสูจน์แล้วทางวิทยาศาสตร์ หรือมีการพิสูจน์ทางงานวิจัยว่าใช้แล้ว จะลดอาการปวดได้ นี่เป็นสาเหตุหนึ่งที่ต้องมีการเรียนเฉพาะทาง เราไม่สามารถจะใช้วิธีเดาๆ ได้ เพราะฉะนั้น ต้องมีเรื่องของการศึกษางานวิจัย

และอีกประการหนึ่งที่สำคัญมากๆ คือ ในนิยามของสมาคมนักดนตรีบำบัดระดับโลก มีสหพันธ์ คือ ทุกประเทศ หรือ สมาคมแต่ละประเทศ จะมีข้อหนึ่งที่ทุกๆ คนให้ความสำคัญคือ เวลาที่นักดนตรีบำบัดทำงานเขาจะใช้ Therapeutic relationship คือสัมพันธภาพอย่างหนึ่งที่เฉพาะทาง และเอื้อต่อการบำบัด ซึ่งสัมพันธภาพที่เอื้อต่อการบำบัดมันจะมาในรูปแบบความรู้สึกไว้เนื้อเชื่อใจ ความรู้สึกว่านักดนตรีบำบัดคนนี้เข้ามาแล้ว เออ คนนี้ดูปลอดภัย น่าไว้ไว้ใจ ผู้ป่วยเกิดความรู้สึกยินดีที่จะร่วมมือ กล่าวคือ ถ้าหากดนตรีบำบัดขาดส่วนนี้ไป เราจะไม่เรียกว่าเป็นดนตรีบำบัดเลยครับ” ภุชงค์ระบุถึงสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญเป็นพิเศษ

บนเส้นทางสายดนตรี สู่นักดนตรีบำบัด

ถามว่า เรียนจบด้านอะไรมา ศึกษาศาสตร์แขนงนี้นานไหม จึงมาเป็นนักดนตรีบำบัดได้ ภุชงค์ตอบว่า โดยรวมแล้ว หนทางที่จะมาเป็นนักดนตรีบำบัด ปัจจุบันมีหนทางเดียวคือการเรียนเพื่อที่จะมาเป็นนักดนตรีบำบัด โดยเริ่มเรียนได้ตั้งแต่ปริญญาตรี โท และปริญญาเอก มีหลักสูตรการเรียนเฉพาะทาง ต้องเข้าเรียนในหลักสูตรที่สร้างนักดนตรีบำบัดขึ้นมา ซึ่งในประเทศไทย ณ ตอนนี้ เปิดสอนในระดับปริญญาโท

“ส่วนตัวผมเอง มาเรียนดนตรีบำบัดระดับปริญญาโทที่ประเทศไทยนี่แหละครับ แต่ว่าโดยพื้นฐานก่อนที่จะเข้าสู่การเรียนดนตรีบำบัด ผมเรียนด้านดนตรีมาก่อน คือเรียนดนตรีตั้งแต่มัธยมปลาย เนื่องจากผมเองมีภาพจำเกี่ยวกับดนตรีตั้งแต่อายุ 10 ขวบ คุณพ่อคุณแม่สอนเล่นดนตรีเป็นงานอดิเรก เล่นเพื่อความสนุกสนาน เพื่อความบันเทิงของตัวเอง แล้วเราก็ชอบรู้สึกว่าอยากไปเรียนต่อในด้านนี้ เพราะเรารักในการเล่นดนตรี ก็ตัดสินใจมาเรียนต่อด้านดนตรีในช่วงมัธยมปลาย หรือเตรียมอุดมดนตรี ที่วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ก็เริ่มเรียนดนตรี ณ ตอนนั้น ซึ่งตัวผมเองได้ยินคำว่า ‘ดนตรีบำบัด’ ครั้งแรก ตอน ม.6

“ตอนที่ผมเรียนเตรียมอุดมดนตรี เป็นการเรียนที่สร้างนักดนตรีมืออาชีพ จบมาก็ได้ประกาศนียบัตรวิชาชีพดนตรี เทียบเท่ามัธยมปลาย เน้นการปฏิบัติด้านดนตรี ผมเองจบด้านดนตรีไทย ในตอนนั้นเรียนเฉพาะดนตรีเลย มีวิชาสามัญบ้าง แต่เราจะเน้นด้านดนตรี เมื่อจบมัธยมปลาย ผมก็เรียนต่อด้านดนตรีอีกเหมือนกันที่สถาบันเดิม คือ วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล แต่เรียนในสาขาดนตรีไทยและดนตรีตะวันออก สาขานี้ ก็มุ่งเน้นทักษะการแสดงดนตรีที่เป็นเลิศ ควบคู่กับการสร้างสรรค์งานดนตรี ทั้งในงานแสดงและงานวิชาการ ก็เรียกว่าได้เติมเต็มความรู้ที่ขยายออกมาอีก ได้เรียนรู้ดนตรีของประเทศเพื่อนบ้านเราด้วย จนกระทั่งการศึกษาในระดับปริญญาโท ผมได้รู้ว่ามีหลักสูตรดนตรีบำบัด ก็สมัครเรียนที่วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหิดลเหมือนเคย เรียนดนตรีบำบัดโดยเฉพาะเลยครับ” ภุชงค์ระบุถึงศาสตร์ที่ศึกษามา

แก่นสำคัญของดนตรีบำบัด

ถามว่า อะไรคือแก่นหลักในศาสตร์ของดนตรีบำบัด ภุชงค์ตอบว่า แก่นที่สำคัญคือ อาจารย์จะเน้นเรื่องของการศึกษา งานวิจัยด้านดนตรีบำบัด คือ ตอนแรกที่เราเรียนดนตรีแบบจบมาเป็นนักดนตรีมืออาชีพ เราเน้นการสร้างสรรค์และผลิตผลงานดนตรี แต่เมื่อเรามาเรียนศาสตร์ดนตรีบำบัด เรียนเพื่อจบมาเป็นนักดนตรีบำบัด แค่ความคิดสร้างสรรค์ไม่พอ ต้องมีวิทยาศาสตร์เข้ามาด้วย ดังนั้น สิ่งที่อาจารย์ผู้สอนจะเน้น คือการหาข้อมูล โดยเฉพาะการใช้ดนตรีที่ส่งผลกับสุขภาพของมนุษย์

“การหาข้อมูลเพื่อเอามาใช้ในคลินิกดนตรีบำบัดอย่างมีที่มาที่ไป มีงานวิจัยรองรับ ถามว่า ที่อาจารย์พร่ำสอน นับเป็นแก่นสำคัญเพราะว่าอะไร เพราะว่าเราทำงานกับคน เราให้บริการคน เราจะพลาดไม่ได้ ถ้าผิดพลาดก็อันตราย เรื่องสุขภาพเราต้องให้ความสำคัญ จะมาทำเล่นๆ ไม่ได้ นี่คือหลักสำคัญประการหนึ่ง

หลักสำคัญต่อมาก็คือ เรื่องของตัวดนตรี เพราะว่า ตัวดนตรีจะต่างจากเดิมแล้ว ลักษณะที่ต่างกันก็คือว่า เวลาที่เราเป็นนักดนตรี อาจเล่นดนตรีที่ยาก โชว์ทักษะบนเวที เล่นเพลงนั้นเพลงนี้ให้ได้ แต่เวลาเป็นนักดนตรีบำบัด การใช้ดนตรีเปลี่ยนไป

เราใช้ดนตรีเพื่อคนอื่น เพลงบางเพลงเราอาจจะรู้สึกว่าเราไม่ชอบเลย การใช้ดนตรีแบบนี้ การเล่นดนตรีแบบนี้มันคืออะไร มันแปลกไปจากที่เราเคยเรียนมา แต่ว่า มันกลายเป็นว่า นี่คือ วิธีการใช้ดนตรีอีกแบบหนึ่งที่ส่งผลทางสุขภาพต่อคนๆ นี้ ทำให้เขาไม่ปวด ทำให้เด็กพิเศษเริ่มมีการสื่อสารออกมา ทำให้เด็กที่ยากลำบากต่อการเรียน สามารถเรียนรู้ได้ เด็กที่ยุกยิกๆ ก็สามารถจดจ่อกับการทำกิจกรรมกับได้ เพราะฉะนั้น รูปแบบและเป้าหมายการใช้ดนตรีก็จะเปลี่ยนไปจากเดิมเลย จากเพื่อตนเอง กลายเป็นเพื่อสุขภาพของคนอื่น” ภุชงค์ระบุ

ถามว่านั่นคือพลังของดนตรีบำบัดใช่หรือไม่

ภุชงค์ตอบว่า “ใช่ครับ และที่บอกว่ามีงานวิจัยรองรับ หากพูดถึงในศาสตร์ดนตรีบำบัดแล้ว มันไม่ใช่แค่ดนตรี แต่มันคือแนวทางของศาสตร์ดนตรีบำบัด ที่เฉพาะเจาะจงเลยว่า คุณใช้แนวทางนี้ เช่น ดนตรีบำบัดมีหลายแนวทาง แนวทางหนึ่งเรียกว่า approach หมายถึงว่า เราจะ approach คนไข้คนนี้ ด้วยศาสตร์อะไร เช่น ตัวอย่างหนึ่งที่ชัดเจนคือ improvisation เป็นเรื่องของการด้นสด เล่นดนตรีสดๆ คราวนี้ การ approach แบบนี้ มันขึ้นอยู่กับผู้ป่วยแบบไหน ก็ต้องมาดูอีก เช่นเรื่องของการที่มีพื้นฐานดั้งเดิมเป็นเรื่องของพฤติกรรม การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม การให้รางวัลแล้วเขาจะเปลี่ยนพฤติกรรมไปในทางที่ดีขึ้น หรือ approach ในเชิง humanistic หรือการเข้าหาคนไข้ในเชิงที่ใช้ความเป็นมนุษย์ ความเข้าใจ ความเห็นอกเห็นใจที่ลึกซึ้งมากยิ่งขึ้น” ภุชงค์ระบุ

มากกว่าดนตรีบำบัด

เมื่อถามว่า ในกรณีผู้ป่วยรายบุคคลที่มีความแตกต่างกัน เช่น ผู้สูงอายุที่เป็นอัลไซเมอร์ เด็กพิเศษ ผู้ป่วยที่เจ็บปวดทางกาย หรือผู้ป่วยจิตเวช พวกเขาเหล่านี้ ไม่สามารถฟังดนตรีบำบัดร่วมกันได้ใช่หรือไม่
ภุชงค์ตอบว่า “กิจกรรมดนตรีบำบัดไม่ได้มีแค่การฟังเพลง ดังนั้น ผมจึงเน้นว่า เราต้องใช้งานวิทยาศาสตร์ งานวิจัยที่ยืนยันว่าใช้กับเคสแบบนี้แล้วได้ผล ในลักษณะนี้ ข้อแรกเลย โรคโดยทั่วๆ ไป เช่น คนที่เป็นอัลไซเมอร์ เด็กออทิสติก เด็กดาวน์ซินโดรม ผู้ป่วยระยะสุดท้าย ผู้ป่วยมะเร็ง ผู้ป่วยโรคซึมเศร้า ผู้ป่วยไบโพลาร์ ผู้ป่วยเหล่านี้เขามีความต้องการที่แตกต่างกันอยู่แล้ว เพราะฉะนั้น เมื่อคนที่มีความต้องการแตกต่างกัน มารวมกัน จึงเป็นไปไม่ได้

ตัวอย่างเช่น ผู้ป่วยที่มีความต้องการด้านการเคลื่อนไหว สิ่งที่เหมาะกับเขาก็อาจเป็นเรื่องของการเล่นเครื่องดนตรี การเคลื่อนไหว เดิน เต้น ประกอบเพลง นำเรื่องของจังหวะเข้ามาใช้ นำเอาเครื่องดนตรีที่เราปรับให้เขาได้ใช้แขน ได้ใช้มือ ได้ใช้การผสานกันของแขน มือ ตา หู

สำหรับผู้ป่วยกลุ่มโรคจิตเวช โรคซึมเศร้า ไม่เข้าสังคม อยู่คนเดียว มีเรื่องอะไรอยู่ในใจมากมาย กิจกรรมดนตรีที่เหมาะกับเขาก็อาจเป็นเรื่องของ improvisation เพื่อให้โอกาสได้ระบายอารมณ์ผ่านการเล่นดนตรีอย่างอิสระ ให้สื่อสารความรู้สึกของตนเองผ่านการเล่นดนตรีเครื่องดนตรี ที่ไม่ได้มีข้อกำหนดหรือกฎเกณฑ์บังคับ
ถ้าสมมติเป็นผู้ป่วยมะเร็ง รับเคมีบำบัดแล้วมีผลข้างเคียง ไม่สบายเนื้อไม่สบายตัว นอนไม่หลับ กิจกรรมที่เหมาะก็คือช่วยให้เขารู้สึกสบาย ผ่อนคลาย ก็อาจเป็น music listening จะเห็นได้ว่าแต่ละคน ผู้ป่วยแต่ละประเภทมีความต้องการที่แตกต่างกัน ดังนั้น เอามารวมกันไม่ได้ เพราะฉะนั้น กิจกรรมทางดนตรี มันตอบสนอง หรือส่งผลให้เกิดความต้องการเฉพาะด้าน”

กระบวนการ ‘ดนตรีบำบัด’ ในความทรงจำ

เมื่อถามว่า ในกระบวนการทำงานที่ผ่านมา มีเคสไหนที่น่าสนใจที่อยากเล่าบ้างไหมว่าดนตรีบำบัดเปลี่ยนเขาไปสู่ทางที่ดีขึ้นอย่างไร

ภุชงค์ตอบว่า เคสนี้จะเห็นกระบวนการชัดเจน เป็นผู้ป่วยวัยรุ่นที่เป็นมะเร็งชนิดหนึ่ง ซึ่งลุกลามจนรักษาไม่หายแล้ว ก็เข้าสู่การดูแลแบบประคับประคอง คือเป็นการรักษาที่ไม่ได้มุ่งเน้นให้หาย แต่รักษาเพื่อให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดี ก็จะตัดการรักษาที่ไม่จำเป็นออก แล้วใช้เวลาร่วมกับผู้ป่วยมากขึ้น พูดคุยและรับฟังความต้องการของผู้ป่วยมากขึ้น

“รับรู้ถึงคุณค่าในการมีชีวิตอยู่ของเขามากขึ้น ผู้ป่วยรายนี้ เขารู้ตัวว่าเขาจะตายด้วยโรคมะเร็งนี่แหละ ต้องบอกก่อนว่าเคสนี้ ไม่ได้ผลในแง่ที่ว่าเขาหายจากมะเร็งนะครับ แต่มันเป็นผลในแง่อื่นแทน อย่างแรกเลยก็คือด้านสภาพอารมณ์ผู้ป่วย เนื่องจากเขานอน ได้รับการรักษาบางอย่าง อยู่แต่ในโรงพยาบาล และได้รับการให้อาหารทางหลอดเลือด ซึ่งการให้อาหารทางหลอดเลือดผู้ป่วยก็จะกลับบ้านไม่ได้ ต้องอยู่โรงพยาบาลเพื่อป้องกันการติดเชื้อ เขาก็เบื่อ

“ดังนั้น เมื่อมีเพลง เขาก็บอกเลยว่า เขารู้สึกมีความสุขมาก และไม่ใช่แค่มีความสุข แต่มันทำให้เขานึกถึงวันวาน ภาพความทรงจำที่ดีที่มีความสุขของเขา ที่เขาเคยเล่นดนตรีกับเพื่อนๆ เคยไปออกค่ายอาสาพัฒนากับเพื่อนๆ แล้วก็เล่นเพลงนี้กัน ซึ่งเขาก็เล่าออกมาให้ฟัง เราก็ทำงานกับเขา แม้กระทั่งบางวันที่เขารู้สึกไม่สบาย ทุรนทุราย เพลงก็ช่วยให้เขาหลับลงไปได้ โดยที่อาจไม่ต้องใช้ยาเพื่อให้หลับในตอนนั้น

“กิจกรรมที่ทำในตอนนั้น เรียกว่า song choice คือให้เขาเลือกเพลง ผมก็จะเปิดกว้างเลยว่า ตอนนี้ อยากจะฟังเพลงอะไร บอกเป็นชื่อเพลงเลยก็ได้ หรือจะบอกเป็นเพลงช้า เพลงเร็ว บอกเป็นศิลปินก็ได้ ผมก็จะค่อยๆ ลิสต์ให้เขาเลือกดู เราทำแบบนี้ เพราะงานวิจัยบอกว่าการทำให้คนไข้ได้เลือกเพลง จะได้ผล อารมณ์เขาจะดี ซึ่งบางเพลงเราอาจเล่นไม่ได้ หรือบางเพลงเราอาจไม่ชอบ แต่เมื่อเป็นนักดนตรีบำบัดแล้ว เราต้องเล่นเพลงนั้นได้ดี เพราะว่าเราไม่ได้เล่นเพื่อตัวเอง แต่เราเล่นเพื่อคนตรงหน้าเรา”

ภุชงค์ระบุและกล่าวเพิ่มเติมว่า เครื่องดนตรีที่นักบำบัดเล่น ขึ้นอยู่กับบริบท ในการทำงาน ตนทำงานในโรงพยาบาล จึงใช้กีตาร์ที่สะดวกในการพกพา ถ้าเป็นเปียโนก็แบกไม่ไหว กีตาร์ก็เป็นเครื่องดนตรีประจำตัว กีตาร์แล้วก็ร้องสด ซึ่งงานวิจัยก็ระบุว่าการร้องสดนั้นได้ผลดีกว่า

“คือเราทำทุกอย่างตามหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ทั้งหมด น้องเขาก็เลือกเพลง เป็นเพลงที่คนไข้ชอบ ซึ่งเพลงที่คนไข้เลือกจะมีอยู่สามอย่างคือ ชอบ คุ้นเคย และทั้งชอบและคุ้นเคย ซึ่งทั้งสามอย่างนี้ ล้วนทำให้เขาอารมณ์ดีทั้งหมดเลย
แล้วในส่วนของความรู้สึกสบายกาย เราใช้ music listening เพื่อที่เขาจะได้นอนพักได้อย่างสบายเต็มที่และเราทำดนตรีให้ผ่อนคลาย โดยเลือกเล่นจากเพลงที่เขาชอบนั่นแหละครับ”ภุชงค์ถ่ายทอดเหตุการณ์ในครานั้น

‘แต่งเพลงร่วมกัน’ ดนตรีบำบัดที่ส่งผลอย่างลึกซึ้ง

ภุชงค์เล่าว่าคนไข้รายนี้ มีอายุประมาณ 20-30 ปี ผู้ใหญ่ต้นๆ เรื่องของเขายังมีอะไรมากกว่าอารมณ์ดี ผ่อนคลาย เพราะเมื่อเขาเริ่มมีอารมณ์คงที่ เขาก็เริ่มสดชื่นขึ้นมา แม้ว่าจะต้องอยู่โรงพยาบาล แล้วแพลนของเขาคือต้องอยู่โรงพยาบาลนาน การฟังเพลงอย่างเดียวไม่น่าจะช่วยแก้เบื่อได้ ตนจึงชวนเขาทำอะไรที่มันท้าทายขึ้นมาอีกนิด คือ ชวนเขาแต่งเพลง

“เพราะว่าเมื่อเราสกรีนเขาแล้ว หมายถึง นักดนตรีบำบัดเรียกว่า ‘ภูมิหลังด้านดนตรี’ ตั้งแต่ครั้งแรกที่สกรีนเขา เราจะดูว่าเขามีประสบการณ์อะไรมาบ้าง เคยทำอะไรมาบ้าง เขาเคยเล่นดนตรีอะไรมาบ้างหรือเปล่า ตอนวัยรุ่นมีกิจกรรมอะไรบ้างที่เกี่ยวโยงกัน เช่น ชอบไปเที่ยว ร้องเพลงคาราโอเกะ ปาร์ตี้ ไปผับ หรือไปค่าย มันเป็นข้อมูลที่เอามาได้ใช้ ซึ่งจากการซักประวัติ เขาไม่เคยเล่นดนตรีเลย ผมก็คิดว่า ถ้าให้เขามาฝึกเล่นดนตรี เขาจะทำได้กี่วัน อาการเขาตอนนั้นจะดีได้กี่วัน เพราะการฝึกดนตรีต้องใช้ระยะเวลานาน เราก็เลยคิดว่าจากการประเมินทุกอย่างแล้ว ก็ตัดเรื่องการฝึกดนตรีนี้ออกไป ก็เหลือทางเลือกระยะสั้นที่พอจะจบได้ในครั้งเดียว แล้วเราคิดว่า เขาอยู่นาน เขาควรจะมีกิจกรรมยามว่างทำ เวลาที่เขาตื่นขึ้นมา ก็จะได้รู้สึกว่า ฉันมีสิ่งนี้ที่ต้องทำ มีสิ่งนี้ที่เราจะทำไปด้วยกัน และไม่ได้เป็นภาระ ก็เลยบอกเขาเรื่องการแต่งเพลง

“ตอนแรกเขาก็ปฏิเสธ เพราะเขาไม่รู้ว่าจะเริ่มยังไง แต่เขาหลุดคำพูดออกมาว่า ‘แต่ผมแต่งกลอนได้’ พอเขาพูดมาว่าเขาแต่งกลอนได้ นักดนตรีบำบัดสบายเลยครับ นั่นแหละคือจุดแข็งของเขาที่เขาจะได้ปลดปล่อยมันออกมา แต่เขาบอกเขาไม่รู้จะเริ่มยังไง ซึ่งนั่นเป็นหน้าที่ของนักดนตรีบำบัดที่จะมีกระบวนการในการแต่งเพลงอยู่ว่ามีกระบวนการใดได้บ้าง ผมก็เลยเลือกกระบวนการนี้เลยครับ คือไปนั่งเขียนเป็นธีมทั่วๆ ไป แต่งเป็นงานอดิเรกให้คุณใช้ยามว่างให้คุณไม่เบื่อ เพราะเราไม่สามารถมาเจอเขาได้ทุกวัน เพื่อที่วันที่ไม่เจอเรา คนไข้เขาจะได้มีอะไรทำ ก็มีคำเป็นธีมให้เขา เขาก็มาวงๆๆๆ ไว้ เราก็บอกเขาว่า เอาคำเหล่านี้มาเป็นธีมได้ไหม” ภุชงค์บอกเล่าถึงเหตุการณ์ในความทรงจำ

หลังจากที่เขาวงคำต่างๆ ไว้ ก็มอบหมายให้เขาทำ ว่าให้ระยะเวลาประมาณหนึ่ง แล้วคราวหน้าเรามาดูกันว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง หรือต้องการความช่วยเหลืออะไรเพิ่ม เราจะได้มาช่วยกันแต่ง

“สรุปว่าสัปดาห์ถัดไป ก็ได้เป็นกลอนมาเลยครับ เราอ่านกลอนเขา เราก็แบบ โอ!แม่เจ้า นักดนตรีบำบัดก็มนุษย์คนหนึ่ง เราก็สั่นคลอนได้เหมือนกัน แต่ก็ด้วยการที่เราเรียนมา อาจารย์ฝึกเราให้มีความมั่นคงทางอารมณ์ ไม่ร้องไห้ปล่อยโฮ หรือเสียศูนย์ได้โดยง่าย เพราะเราเป็นนักบำบัดเราต้องเป็นหลักให้ผู้คน

กระบวนการถัดไป เมื่อเริ่มได้แล้ว เวลาแต่งเพลงก็จะมีชุดคอร์ดให้เลือก ผมก็เล่นไปเรื่อยๆ แล้วให้เขาเลือกว่า กลอนของเขา น่าจะเข้ากับชุดคอร์ดอันไหน หลังจากนั้น เราก็ไปใส่เป็นทำนอง เป็นเมโลดี้ พร้อมเนื้อเพลง เสร็จแล้วเอามาร้องให้ฟังเพื่อให้เขาแก้ไข เมื่อแก้ไขเสร็จก็บันทึกเสียง และให้เก็บไว้เป็นผลงานของตัวเอง

สิ่งที่ผมอยากบอกคือ สิ่งที่เราทำ ไม่ได้แค่ช่วยแก้เบื่อระหว่างอยู่โรงพยาบาล แต่มันเกิด impact ขึ้นสองอย่างซึ่งมหัศจรรย์มาก

impact แรก อย่างที่ผมบอกไปตั้งแต่แรกว่าเคสนี้ เป็นผู้ป่วยระยะสุดท้าย รักษาไม่หาย

ในการดูแลจริงๆ เราจะคุยกันว่า ที่ไหนคือที่ที่คุณเลือกที่จะเสียชีวิต เดิมผู้ป่วยเลือกโรงพยาบาล เพราะว่าการรักษานี้มันผูกมัดเขา ต้องมีการให้สายอาหารทางหลอดเลือดดำ ทำให้เขาต้องอยู่โรงพยาบาลและเขากลัวว่าจะทำให้พ่อแม่ต้องลำบาก ถ้าไปอยู่ที่บ้าน พ่อแม่ต้องวุ่นวายดูแล

กลายเป็นว่า การแต่งเพลง มันดึงความต้องการที่อยู่ลึกๆ ข้างในของเขา ออกมาให้เขาได้สัมผัส ได้เห็นอย่างชัดเจน ว่าจริงๆ แล้ว ตัวเองต้องการอะไรกันแน่ แล้วการดึงมันขึ้นมาด้วยรูปแบบของการแต่งเพลงน่ะครับ มันไม่ได้เป็นการรับรู้ความต้องการที่กระแทกความรู้สึกมาก แต่มันมาอย่างนุ่มนวล ปลอดภัย มันต่างจากการพูดตรงๆ ว่าคุณต้องการเสียชีวิตที่ไหน จริงๆ เราทุกคน มีความรู้สึกต่อคำถามนี้นะ แต่เราอาจจะเลือกตอบบางอย่างที่ไม่ได้ตรงกับความต้องการของเรา เพราะว่าเราอาจตอบสนองกับคำถามนี้ หรือเรารู้สึกไม่ปลอดภัยที่จะพูดออกไป แต่การสื่อสารผ่านเพลง มันปลอดภัยกว่า

สรุปคือเขาเลือกที่จะเสียชีวิตที่บ้าน คือแผนเปลี่ยนเลย เพราะทุกคนได้เห็นความต้องการจริงๆ ของเขาแล้ว พ่อแม่อึ้งไปเลย ว่าลูกห่วงเราเนอะ เขาก็ได้อยู่เฝ้ากันดูแลกัน แต่เราอาจไม่เห็นโมเมนต์นี้ถ้าเพลงไม่เข้าไป ถ้านักดนตรีบำบัดไม่เข้าไป ถ้าเกิดไม่มีกิจกรรมแต่งเพลง บุคลากรทางการแพทย์ก็จะไม่รู้ความต้องการจริงๆ ลึกๆ ว่าเขาต้องการอะไร”

ภุชงค์ระบุถึงผลสะเทือนที่เกิดขึ้นจากดนตรีบำบัด และกล่าวเพิ่มเติมว่า Impact ที่สอง หลังจากผู้ป่วยเสียชีวิต ผลงานเพลงของเขาทุกเพลง มันเป็นเหมือน legacy ถ้าแปลตรงๆ ก็คือ มรดกตกทอด มันเป็นสิ่งที่คนที่เคยมีชีวิตอยู่ อยากจะทิ้งไว้ให้คนที่ยังมีชีวิตอยู่ แล้วถามว่า legacy ที่เขาทิ้งไว้ดียังไง กล่าวคือการดูแลแบบประคับประคองเมื่อผู้ป่วยเสียชีวิตนั้น เราถือว่าการดูแลแบบประคับประคองยังไม่จบ เพราะจะต้องดูแลคนใกล้ชิดผู้ป่วยต่อ ดูว่าเขามีภาวะเศร้าโศกเสียใจหลังจากที่คนที่ตัวเองรักสูญเสียไปแล้วหรือเปล่า สรุปว่า ผลงานอันนี้ เป็นสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ใช้เยียวยาในยามที่คิดถึงลูก ใช้เพื่อที่จะให้ตัวเองได้ร้องไห้ออกมา ใช้เพื่อให้ตัวเองได้ระลึกถึงลูก จึงช่วยลดภาวะความโศกเศร้าเสียใจที่อาจนำไปสู่โรคทางจิตเวชได้

ภุชงค์กล่าวว่า คนไข้รายนี้ แต่งเพลงไว้ 3 เพลง มีการบันทึกเพลงทุกเพลง แต่คนไข้ไม่ได้เป็นคนร้อง ภุชงค์เป็นคนร้อง สิ่งนี้เป็นโปรเจ็กต์ที่ทำร่วมกับนักศึกษาดนตรีบำบัด เมื่อเพลงทุกเพลงเสร็จเราก็ทำการบันทึก ซึ่งนักดนตรีบำบัดอาจไม่มีความชำนาญด้านห้องอัด แต่มีโปรดิวเซอร์ใจดีที่ช่วยเรื่องนี้

ขอบข่ายการทำงาน

เมื่อถามถึง ขอบข่ายงานที่โรงพยาบาลศิริราช ภุชงค์ตอบว่า ทำงานที่นี่มาประมาณ 5 ปีกว่าๆ แล้ว โดยเริ่มงานเมื่อวันที่ 8 ก.พ.ปี 59 ทำงานที่นี่ทันทีที่เรียนจบปริญญาโท “การทำงานของผมคือนักดนตรีบำบัดที่ทำงานในโรงพยาบาล ก่อนอื่นต้องบอกว่า นักดนตรีบำบัดไม่ได้ทำงานแค่ในโรงพยาบาล เท่านั้น ทำในโรงเรียนก็ได้ ในเรือนจำก็ได้ แต่ชีวิตการทำงานผมอยู่ในโรงพยาบาล ซึ่งย่อมแตกต่างจากในโรงเรียน หรือในเรือนจำแน่นอน

ภุชงค์เล่าว่าชีวิตแต่ละวัน เริ่มด้วยการจัดตารางตัวเอง ว่าสัปดาห์นี้ วันนี้ เรามีคนไข้คนไหนต้องดูแลบ้าง และก่อนดูคนไข้ เราต้องทบทวน ว่ากรณีคนไข้เดิม เราจะทบทวนว่าครั้งล่าสุดเขาเป็นยังไง ครั้งนี้ เราจะทำอะไร

การวางแผนบางอย่างต้องเตรียมอุปกรณ์เราจะได้เตรียมไป แล้วก็ไปเจอเขา แต่สำหรับคนไข้ใหม่ที่เราไม่เคยเจอเลย เราก็จะใช้เวลาทำความรู้จักเขาศึกษาข้อมูลจากเวชระเบียน ว่าหมอส่งมาให้นักดนตรีบำบัดดู เพราะหมออยากให้ช่วยดูอะไร ก่อนที่จะไปดูคนไข้จริงๆ ในแต่ละสัปดาห์ภุชงค์มีงานทุกวันและแทบทั้งวัน”

ภุชงค์กล่าวถึงการที่ผู้รับบริการจะได้พบกับนักดนตรีบำบัดอย่างเขาว่า ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายแบบ ขึ้นอยู่กับบริบท ดังต่อไปนี้คือ

1.บุคลากรทางการแพทย์ทุกสาขาส่งคนไข้มา
2.ครู ถ้าเป็นกรณีทำงานในโรงเรียน
3.ตัวผู้ป่วยเองแจ้งความประสงค์ว่าต้องการรับบริการ
4.ญาติ บุคคลใกล้ชิด อยากให้คนไข้ได้รับดนตรีบำบัด
5.นักดนตรีบำบัดเจอโดยบังเอิญ เช่น ไปทำบำบัดคนไข้ห้องนี้ เดินผ่านอีกห้องหนึ่ง เห็นคนไข้ดูหน้าเศร้า นักดนตรีบำบัดสามารถแจ้งความประสงค์ได้ว่าขอไปดูเคสนี้

ดังนั้น โดยรวมแล้ว กระบวนการดนตรีบำบัดค่อนข้างยืดหยุ่น เพราะเราอยากให้ผู้ป่วยเข้าถึงบริการและได้รับประโยชน์จาดดนตรี เแต่นักดนตรีบำบัดก็จะมาเคร่งเครียดกับงานของตัวเอง การวางแผน การเลือกเพลง การออกแบบกิจกรรม เพื่อให้ผู้รับบริการได้รับประโยชน์สูงสุด

นอกจากนี้ ภุชงค์กล่าวด้วยว่า หากมีผู้ป่วยแจ้งความประสงค์ว่าอยากรับฟังดนตรีบำบัดจากภุชงค์ ก็สามารถแจ้งได้เช่นกัน
ถามว่า ในเมืองไทยมีนักดนตรีบำบัดในโรงพยาบาลมากน้อยแค่ไหน ภุชงค์ตอบว่า ทั้งประเทศ ยังไม่ถึง 50 คน ถือเป็นวิชาชีพที่ใหม่

เยียวยาใจด้วยเสียงเพลง ในห้วงวิกฤติโควิด-19

เมื่อขอคำแนะนำว่า ในช่วงวิกฤติโควิด-19 ผู้คนมากมาย อาจมีจิตใจที่ป่วยไข้จากความเครียดทั้งจากเรื่องเรียนหรือหน้าที่การงาน แต่ไม่สามารถไปหานักดนตรีบำบัดได้ เขาควรจะบำบัดตัวเองด้วยการฟังเพลงอย่างไร

ภุชงค์ตอบว่า “ผมเรียกว่าการฟังดนตรีเพื่อสุขภาพก็แล้วกัน เพราะถ้าจะทำดนตรีบำบัด ยังไงก็ต้องทำตามขั้นตอนทางคลินิค และทำกับนักดนตรีบำบัด

ในงานหนึ่งของนักดนตรีบำบัดคือ ต้องให้ความรู้วิธีที่เหมาะสม ถูกต้อง และเพื่อให้ประชาชนมีสุขภาวะที่ดี

1.เงื่อนไขแรกที่แนะนำเลยนะครับ ผมเน้นว่า ‘ให้อารมณ์ดี’ แค่นี้พอครับ คือให้ฟังแล้วดี เพลิน ผ่อนคลาย ตื่นตัว สดชื่น กระปรี้กระเปร่า มีพลัง แต่การใช้ดนตรีแล้วจะดีขึ้น ให้ถามตัวเองก่อนว่า ตอนนี้ เราอยากฟังไหม เราอยากทำกิจกรรมดนตรีอะไรไหม ดนตรีไม่ใช่ยาครอบจักรวาล ถ้าเราไม่อยาก เราไม่ใช้ ถือว่าดี แต่ถ้าเราไม่อยากแล้วไปบังคับตัวเองให้ฟัง แบบนี้ไม่ได้ เป็นการบีบบังคับ เราอาจจะรู้สึกเครียดได้ เพราะว่า เราบังคับตนเอง

วิธีการเริ่มที่ดี คือ อยู่กับตัวเองสักพักหนึ่ง สำรวจความต้องการ อาจใช้การหายใจเข้าหายใจออกเพื่อดึงเรากลับมาอยู่กับปัจจุบัน แล้วถามตัวเองว่าอยากฟังไหม ตอบคำถามตนเองด้วยความซื่อสัตย์ ตอนนี้เราอยากทำอะไร ให้พื้นที่ตัวเองได้ทำสิ่งนั้นอย่างอิสระโดยที่ไม่ต้องกังวลว่ามันจะถูกหรือผิด ให้โอกาสตัวเองได้เลือก เราอาจไปชงกาแฟ ลูบหัวแมว ปลูกต้นไม้ ทำอาหาร ดูซีรีย์ส นั่งฟังเพลง อะไรก็ได้ อันนี้คือสิ่งแรกที่ผมอยากเน้นย้ำกับทุกคน

2.เมื่อเราเลือกดนตรี โดยทั่วๆ ไป ก็มีสองอย่างคือ ‘เล่น’ กับ ‘ฟัง’ เรื่องเล่นดนตรีไม่ค่อยห่วง คือ เรามีพื้นฐาน อยากเล่นอะไรก็เล่น อยากฝึกเพลงใหม่ก็ฝึกได้เลย ทำตามใจตัวเอง ให้เวลาตัวเอง สนุกไปกับมัน แต่ผมจะเน้นย้ำเลือกการฟังเพลง ซึ่งจะมีศาสตร์ของดนตรีบำบัดเข้ามาเกี่ยวข้อง

มีนักวิจัยท่านหนึ่ง เขาแนะนำไว้แบบนี้ครับ ให้เราสร้าง playlist ไว้สอง playlist หรือเพลงชุดที่เราสร้างไว้สองชุด” ภุชงค์ระบุอย่างชัดเจน และกล่าวเพิ่มเติมว่า

Playlist แรก รวมเพลงฟังแล้วรู้สึกผ่อนคลาย ช้าๆ บรรเลง หรือมีเนื้อร้องก็ได้ แต่ฟังแล้วให้เรารู้สึกผ่อนคลาย โล่ง เบา relax เอาไว้ฟังตอนเราผ่อนคลาย นึกภาพคือถ้าเราเครียดแล้วเราเปิดเพลงนี้ เราผ่อนคลายเลย

Playlist สอง ตรงข้ามกันเลย อันนี้ active เราต้องการตื่นตัว ตื๊ดๆๆๆ ใส่มันไปใน Playlist active ฟังเวลาที่เราต้องการเคลื่อนไหว อย่างเช่น ทำความสะอาดบ้านไปด้วย Playlist active ส่วนใหญ่เป็นเพลงเร็ว

“ซึ่งทุกคนเลือกไม่เหมือนกัน นั่นเป็นสิ่งที่ดีแล้ว เพราะทุกคนมีความเฉพาะตัว ให้โอกาสตัวเองในการเลือกเพลง ในการตามใจตัวเอง เพลงนี้ฟังแล้วผ่อนคลาย ‘ใช่ก็คือใช่’ ‘ไม่ใช่ ก็ไม่ใช่’ ไม่ต้องบังคับตัวเอง อย่าทำให้ตัวเองอึดอัด ‘หัวหน้าควบคุมฉันทำงานมาตั้งแต่เช้าแล้ว ฉันอึดอัด ตอนนี้เป็นช่วงเวลาของฉัน ให้ฉันได้อิสระควบคุมอะไรบ้าง’ ลองคิดอย่างนี้บ้าง พอเราทำได้ ชีวิตเราจะมีความสุขมาก” ภุชงค์บอกเล่าอย่างเห็นภาพ

ภุชงค์กล่าวว่า วัตถุประสงค์เดียวของนักดนตรีบำบัดคือให้ชีวิตของคุณได้มีความสุข ให้คุณได้สัมผัสว่า ใน moment หนึ่งของวัน นี่เป็นช่วงเวลาที่คุณมีความสุขและเมื่อคุณสั่งสมความสุขไปเรื่อยๆ สิ่งอัศจรรย์จะเกิดขึ้นคือ เมื่อมีเรื่องเครียดคุณจะมีพลังต่อสู้ และจัดการกับมันได้ดี

“ต้องยอมรับว่าเราห่างเรื่องเครียดไม่ได้ ข่าวเรื่องนู่นเรื่องนี่เรื่องนั่น หรือการเลิกจ้างงานกะทันหัน ถ้าเราไม่สั่งสมความสุขตุนไว้ เราจะเอาแรงที่ไหนไปต่อสู้ เราจะเอาแรงที่ไหนไปคิดเผื่ออนาคตล่วงหน้าว่า ถ้าบริษัทต้องปิด เราจะทำอย่างไร

ถ้าหากตัวเราเองไม่มีความสุข เราก็จะไม่สามารถรับมือกับความกังวลที่มันเข้ามาเขย่าจิตใจเราได้ แต่ถ้าเรามีหลักที่มั่นคง เราก็จะคิดหาหนทางรับมือกับปัญหาได้ ซึ่งความคิดเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้เมื่อเรามีความสุข ถ้าเราเครียดหรือเรากังวลอยู่ มันคิดไม่ออก เพราะฉะนั้น การทำให้ตัวเองมีความสุขจึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างมาก” คือความห่วงใย และการให้กำลังใจทิ้งท้าย จากนักดนตรีบำบัดผู้นี้

#Music Therapy ไทย
#รับ สมัคร นักดนตรีบำบัด
#สมาคม นัก ดนตรี บำบัด
#นักดนตรีบําบัด ภาษาอังกฤษ
#Music Therapy จุฬา
#คอร์ส ดนตรีบำบัด
#สมาคมนักดนตรีบำบัด ไทย
#ดนตรีบําบัด มหิดล

 

Text by รพีพรรณ สายัณห์ตระกูล
เครดิต https:// www.mgronline.com/onlinesection/detail/9640000092419

 
Posted : 20/09/2021 8:42 am
Share: