ยาแก้อักเสบ คือยาแก้อาการบวมและอักเสบ ซึ่งคนทั่วไปมักเข้าใจผิดว่าเป็นยาปฎิชีวนะ ที่มีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อแบคทีเรีย โดยยาปฏิชีวนะจะรับประทานเฉพาะเวลาเป็นหวัด หรือเวลาเป็นโรคที่การจากเชื้อแบคทีเรียต่างๆ เท่านั้น
แต่ในความเป็นจิรงแล้ว ยาแก้อักเสบนั้นมีหลายชนิด โดยที่ใช้กันบ่อยจะเป็นยาแก้อักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ ซึ่งเรียกกันว่าเอ็นเสด สามารถหาซื้อได้เองตามร้านขายยา และบางชนิดต้องได้รับใบสั่งยาจากแพทย์
ยาแก้อักเสบมักจะออกฤทธิ์เร็ว มีผลข้างเคียงน้อย จึงนิยมใช้กันอย่างแพร่หลาย เช่น ยาแอสไพริน ยาไดโคลฟีแนค ยาไอบูโพรเฟน ยาเซเลโคซิบ ยาเมเฟนามิคแอซิค เป็นต้น ซึ่งแต่ละชนิดมีสรรพคุณและวิธีการใช้แตกต่างกันไป โดยจะต้องศึกษาจากการอ่านฉลากยา และต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์หรือเภสัชกรอย่างเคร่งครัด
เมื่อไหร่ถึงควรใช้ยาแก้อักเสบ
- เมื่อมีอาการปวด ซึ่งเป็นการบรรเทาอาการปวดในระยะเวลาสั้นๆ เช่น ปวดหัว ปวดไมเกรน ปวดประจำเดือน ปวดข้อ ปวดกล้ามเนื้อ เป็นต้น โดยไม่ควรใช้ติดต่อกันเป็นระยะเวลานานๆ
- เมื่อมีอาการอักเสบ ซึ่งจะรวมถึงอาการปวด บวมแดง ฝืดแข็ง เคลื่อนไหวตัวลำบากเนื่องจากการอักเสบ เป็นต้น ซึ่งอาจจะต้องรับประทานยาอย่างต่อเนื่องเป็นสัปดาห์ จึงจะเห็นผล
วิธีรับประทานยาแก้อักเสบอย่างถูกต้อง
- ผู้ป่วยที่เป็นโรคกระเพาะ มีแผลในกระเพาะอาหาร โรคหัวใจ โรคตับ โรคไต โรคความดันโลหิตสูง ต้องระมัดระวังในการใช้ยา เพราะอาจทำให้อาการแย่ลงได้
- ต้องรับประทานยาหลังอาหารเท่านั้น และควรดื่มน้ำตามมากๆ เพราะยาแก้อักเสบมีฤทธิ์ทำให้กระเพาะอาหารเกิดการระคายเคืองได้
- หากลืมรับประทานยา ให้รับประทานทันทีที่นึกขึ้นได้ โดยไม่ต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า
- เมื่ออาการอักเสบดีขึ้นหรือทุเลาลง ให้หยุดรับประทานยาทันที เพราะหากรับประทานติดต่อกันไปนานๆ จะทำให้เกิดผลข้างเคียงได้ เช่น ความดันโลหิตสูง การไหลเวียนของเลือดผิดปกติ หรืออาจนำไปสู่ภาวะไตวายได้
- หากรับประทานแล้วมีอาการแพ้ยา เช่น มีผื่นขึ้น แน่นหน้าอก หายใจลำบาก ปากบวม ตาบวม ให้รีบไปพบแพทย์ทันทีพร้อมทั้งนำตัวยาและบรรจุภัณฑ์ที่รับประทานไปด้วย
คำแนะนำในการใช้ยา
- หญิงมีครรภ์และหญิงให้นมบุตร ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยาเสมอ
- อ่านฉลากให้ละเอียดก่อนใช้ยาทุกครั้ง
- หากมียาเดิมที่รับประทานอยู่ก่อนแล้ว รวมทั้งอาหารเสริม วิตามิน สมุนไพร ควรแจ้งแพทย์ให้ทราบก่อนใช้ยาด้วย เพราะยาบางตัวอาจทำปฏิกิริยาต่อกัน ซึ่งอาจส่งผลต่อร่างกายได้
- ไม่ควรรับประทานยาติดต่อกันนานเกิน 10 วัน ยกเว้นได้รับคำสั่งจากแพทย์
- เก็บยาในที่แห้งไม่อับชื้น เก็บยาให้พ้นแสงแดด และให้อยู่ในที่อุณหภูมิไม่เกินกว่า 30 องศาเซลเซียส