กัลปพฤกษ์

อาหารเพื่อสุขภาพ - สมุนไพร

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Cassia bakeriana  Craib
ชื่อวงศ์ :  Leguminosae ( Caesalpiniaceae )
ชื่อสามัญ : Wishing Tree, Pink Shower
ชื่ออื่น :  กานล์ (เขมร-สุรินทร์) ชัยพฤกษ์ (ภาคเหนือ)

กัลปพฤกษ์ ขึ้นในป่าเบญจพรรณแล้งทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก บางครั้งพบขึ้น อยู่บนภูเขาหินปูนบนพื้นที่สูงจากระดับน้ำทะเล 300 – 1,000 เมตรกัลปพฤกษ์เป็นไม้ยืนต้น ผลัดใบ ขนาดเล็กถึงขนาดกลาง มีความสูงโดยเฉลี่ยประมาณ 12 เมตร เปลือกนอกมีสีเทา การแตกกิ่งจะแตกกิ่งต่ำและทอดกิ่งยาวขึ้นสู่ด้านบน บริเวณยอดและกิ่งอ่อนมีขนคลุมหนาแน่น

ใบ  เป็นช่อยาวประมาณ 15-40 ซม. ก้านช่อใบยาว 2-4 ซม. 1 ก้านช่อใบจะมีใบย่อย 5-7 คู่ รูปขอบใบมีขนาดสั้น 1.5-3 x 4-9 ซม. ปลายใบกลมบางครั้งมีติ่งสั้น ๆ อยู่ตรงปลายสุด โคนใบมน เนื้อใบมีขนละเอียดนุ่มคลุมทั้งสองด้าน บริเวณด้านท้องใบจะมีขนหนาแน่นกว่าด้านหลังใบ

ดอก เป็นช่อดอกไม่แตกแขนง ยาว 4-8 ซม. ออกตามกิ่ง ช่อดอกจะออกแน่นเป็นกลุ่มตลอด กิ่งมีขนสีเหลืองปกคลุม มีใบประดับเป็นรูปใบหอกชัดเจน ดอกใหญ่ ก้านดอกยาวประมาณ 6 ซม. ดอกมีสีชมพูเมื่อเริ่มบาน แล้วเปลี่ยนเป็นสีชมพูเรื่อ ๆ จนถึงสีขาว กลีบรอบกลีบดอกเป็นรูปใบหอกแกมรูปไข่ กว้าง 2-3 มม. ยาว 9-12 ม. ปลายกลีบแหลม มีขนคลุมทั้งสองด้าน กลีบดอก เป็นรูปใบหอกแกมรูปไข่ ขนาดกว้าง 1-2.5 ซม. ยาว 3.5-4.5 ซม. ที่ฐานกลีบดอกจะคอดเข้าหากันเป็นก้านแคบ ๆ ยาวประมาณ 5 มม. มีเกสรตัวผู้ 10 อัน ขนาดไม่เท่ากัน รังไข่ ยาวประมาณ 4 ซม. มีขนสีขาวปกคลุมบาง ๆ รังไข่ติดอยู่บนก้านส่ง

ผล
มีลักษณะเป็นฝัก รูปทรงกระบอกยาว แขวนลงจากกิ่ง มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1-2 ซม. ยาว 30-40 ซม. มีขนนุ่มสีเทาคลุมตลอด ภายในฝักแบ่งออกเป็นช่อง ๆ ตามขวาง มีเมล็ด 30-40 เมล็ด

ระยะเวลาการออกดอกผล ประมาณเดือนกุมภาพันธ์-เมษายน ซึ่งเป็นระยะเวลาเดียวกับการทิ้งใบทั้งหมดในช่วงต้นฤดูร้อน ช่อดอกจะออกแน่นเป็นกลุ่มติดทนอยู่ได้หลายวัน ผลจะออกช่วงเดียวกับการผลิดอก และจะแก่ประมาณเดือนเมษายน-มิถุนายน

กัลปพฤกษ์เป็นพรรณไม้ที่ทนต่อสภาพแห้งแล้งได้ดี ชอบแสงแดดจัดเต็มวัน  ควรปลูกในดินปนทรายหรือดินร่วนซุย ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ดหรือตอนกิ่ง  ซึ่งการเพาะเมล็ดนั้นเป็นวิธีที่ค่อนข้างได้ผลและเป็นที่นิยมมากกว่า

พืชที่คล้ายคลึงกับกัลปพฤกษ์ ได้แก่ C. agnes  (de Witt) Brenan และ กาลปพฤกษ์  C.javanica L. จึงทำให้มีผู้เข้าใจไขว้เขว เรียกชื่อสามัญสับสน ปะปนกันไป
C. agnes มีเขตกระจายพันธุ์ อยู่ในแถบอินโดจีน แตกต่างกับกัลปพฤกษ์ตรงที่ช่อดอกแยกแขนง ดอกใหญ่กว่า และสีเข้มกว่า 
ส่วน กาลปพฤกษ์ หรือ ชัยพฤกษ์  นั้น มีเขตกระจายพันธุ์ทางภาคใต้ของไทยลงไปถึงมลายู และอินโดเนเซีย แตกต่างกับกัลปพฤกษ์ตรงที่ฝักแก่ไม่มีขนปกคลุม ใบย่อยมีจำนวนคู่มากกว่า (6-15) คู่ และกลีบรองกลีบดอกมีขนาดสั้นประมาณ 5 มม. เท่านั้น ทั้งสองชนิดนี้เวลาออกดอกไม่ทิ้งใบ และลำต้นเมื่อยังมีอายุน้อยจะมีหนามแข็งๆ ตามลำต้น เกิดจากกิ่งที่ชะงักงัน

แล้วเราจะดูความแตกต่างตรงใหนกันนี่
ไม่ยากเลย
1 ดูที่ใบ
กัลปพฤกษ์ : ใบค่อนข้างมนกลม  และมีขนนุ่ม
ชัยพฤกษ์   : ใบสอบกว่า และ ไม่มีขน

2 ลักษณะของดอกที่ต่างกันโดยเฉพาะสี
กัลปพฤกษ์ : ขาวถึงชมพูจะไม่เปลี่ยนสี จนเมื่อแก่ใกล้โรยเปลี่ยนเป็นสีขาว
ชัยพฤกษ์   : ขาวเปลี่ยนเป็นชมพูและเข้มขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อใกล้โรยกลับมาขาวอีก

3 การออกดอก
กัลปพฤกษ์ : ออกดอกตามกิ่งใหญ่กิ่งแขนงของลำต้น ตามข้อของลำต้น
ชัยพฤกษ์   : แทงช่อดอกที่ปลายยอดเป็นช่อยาว

4 ทิ้งใบเมื่อออกดอก
กัลปพฤกษ์ : จะผลัดใบหมดต้น แล้วออกดอกพราวทั้งต้น
ชัยพฤกษ์   : จะออกดอกขณะที่ยังมีใบอยู่

ความเชื่อ
กัลปพฤกษ์ ต้นไม้สารพัดนึก จากข้อมูลในพจนานุกรมศัพท์ศิลปกรรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ได้พูดถึงเรื่องกัลปพฤกษ์ไว้ว่า “ตามคติโบราณเชื่อกันว่า ต้นกัลปพฤกษ์มีอยู่ในแดนสวรรค์ หากผู้ใดปรารถนาสิ่งใด ก็อาจจะไปนึกเอาจากต้นไม้นี้ได้

ดังนั้น สมัยโบราณจึงได้มีการทำรูปแบบจำลองต้นกัลปพฤกษ์ต้นไม้สารพัดนึกขึ้น โดยเกี่ยวเนื่องกับงานที่เป็นพิธีหลวง บางโอกาสเพื่อใช้เป็นที่ติดเงินปลีกสำหรับทิ้งทานให้แก่คนยากจน ตัวอย่างเช่น งานพระราชทานเพลิงพระศพหรือศพ เช่น การพระราชทานเพลิงศพท้าวสมศักดิ์ ที่วัดสุวรรณาราม ในรัชกาลที่ 1 มีหมายรับสั่งว่า

“อนึ่ง ให้สมุห์บัญชีจัตุสดมภ์เบิกไม้ไปทำโรงโขนโรงหุ่น แล้วให้จัดแจงต้นกัลปพฤกษ์ไม้เสียบลูกกัลปพฤกษ์ แลกระไดขึ้นต้นกัลปพฤกษ์ให้พร้อม” กับ “ให้เกณฑ์ผลมะกรูด ผลมะนาว ขุนหมื่นเข้าส้มทิ้งทาน ตำรวจรักษาต้นกัลปพฤกษ์วันละ 2 ต้น” ทั้งนี้ โครงพุ่มของต้นกัลปพฤกษ์ โดยทั่วไปมักทำเป็นโครงไม้ผูกเป็นพุ่มทรงข้าวบิณฑ์ แต่ละชั้นจะติดลูกมะนาว มะกรูด ซึ่งเจาะให้เป็นรูใส่เงินปลีกไว้ข้างใน ใต้พุ่มทำยกพื้นขึ้นเสมอระดับตา ใช้เป็นที่ยืนทิ้งทาน

เมื่อถึงเวลาทิ้งทาน พนักงานซึ่ง “นุ่งสมปักลายเสื้อครุย สวมลอมพอก” จะพาดกระไดขึ้นไปยืนอยู่บนยกพื้นใต้พุ่มต้นกัลปพฤกษ์ แล้วดึงลูกส้ม มะนาว มะกรูด ที่เสียบปลายไม้ที่เหลาเรียวยาวคล้ายคันเบ็ด วัดเหวี่ยงให้ลูกส้มปลิวไปตกห่างๆ ต้นกัลปพฤกษ์ คนที่รออยู่ข้างล่างก็จะกลุ้มรุมเข้าชิงลูกส้มกันอย่างสนุกสนาน กัลปพฤกษ์หรือต้นไม้สารพัดนึกจำลองนี้ จัดเป็นสิ่งปลูกสร้างประกอบด้วยศิลปลักษณะประเภทหนึ่ง เป็นประเพณีนิยมที่มีแต่โบราณ แล้วค่อยเสื่อมความนิยมลงในตอนปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว”

ต่อมาในระยะหลังๆ ก็ยังจัดทำต้นกัลปพฤกษ์จำลองขึ้นอีก ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องกับงานศพแล้ว แต่จะเป็นงานเทศกาลรื่นเริง เช่น ปีใหม่ ก็จะนำสลากของขวัญไปติดไว้ที่ต้นกัลปพฤกษ์ ให้ผู้ร่วมงานได้สอยกัลปพฤกษ์รับของขวัญกันเป็นที่สนุกสนาน

สรรพคุณทางยา:
เนื้อในฝัก ขนาด 8 กรัม กินเป็นยาระบายอย่างอ่อน เหมาะสำหรับเด็ก

เปลือกและเมล็ด รับประทานทำให้อาเจียนและเป็นยาขับพิษไข้ คั้นน้ำใช้เป็นสีทำขนมและย้อมผ้าได้

ที่มา
http://www.pompernpong.net/board/index.php?topic=3019.0
http://www.thaigoodview.com/node/10965
http://www.pharmacy.mahidol.ac.th/siri/index.php?page=search_detail&medicinal_id=254