“คีโม” หรือ “เคมีบำบัด” เรื่องใกล้ตัวที่ควรรู้ไว้

ยาน่ารู้

ขึ้นชื่อว่าโรคมะเร็ง ใครก็ไม่อยากเป็น แต่ก็เป็นโรคที่ทำให้คนไทยเสียชีวิตเป็นอันดับต้นๆ เช่นกัน ซึ่งปัจจุบันมีวิธีการรักษาที่ทำให้หายขาดได้ หนึ่งในนั้นก็คือการใช้ยาเคมีบำบัด หรือ คีโม ที่ย่อมาจาก คีโมเทอราปี (Chemotherapy) ซึ่งเป็นสารเคมีที่ออกฤทธิ์ในการยับยั้งเซลล์มะเร็งในร่างกายของผู้ป่วย สามารถทำลายและควบคุมเซลล์มะเร็งได้

วัตถุประสงค์ในการใช้คีโม

  1. เพื่อรักษาโรคมะเร็ง เป็นการใช้ยาเคมีบำบัดเพื่อทำลายเซลล์มะเร็ง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นเซลล์มะเร็งก็อาจเกิดขึ้นมาใหม่ได้ จึงไม่สามารถรับรองได้ว่าจะหายขาด แต่บางรายก็หายดี และกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติเช่นกัน
  2. เพื่อควบคุมเซลล์มะเร็ง ในบางกรณีเซลล์มะเร็งเจริญเติบโตจนแพร่กระจายไปทั่วร่างกาย การใช้ยาเคมีบำบัดอาจเพื่อช่วยควบคุมเซลล์มะเร็งไม่ให้ลุกลามไปมากกว่าเดิม ทำให้ผู้ป่วยมีชีวิตที่ยืนยาวมากยิ่งขึ้น
  3. เพื่อบรรเทาอาการ ในกรณีสุดท้าย เซลล์มะเร็งได้กระจายไปยังอวัยวะส่วนต่างๆ ในร่างกาย จนไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ การใช้ยาเคมีบำบัดจึงเป็นการบรรเทาอาการของผู้ป่วย เพื่อลดความเจ็บปวดทางร่างกายที่เกิดขึ้นจากเซลล์มะเร็ง

รูปแบบของยาเคมีบำบัด

  1. ชนิดรับประทาน เป็นยาในรูปแบบเม็ด แคปซูล หรือยาน้ำ
  2. ชนิดฉีดเข้าที่ช่องท้อง เป็นยาที่ฉีดเข้าที่บริเวณช่องท้องของผู้ป่วย
  3. ชนิดฉีดเข้ากล้ามเนื้อ เป็นยาที่ต้องฉีดเข้ากล้ามเนื้อบริเวณต้นแขน หรือสะโพก
  4. ชนิดฉีดเข้าหลอดเลือดแดง เป็นการฉีดยาเข้าสู่เส้นเลือดดำโดยตรง
  5. ชนิดฉีดเข้าหลอดเลือดดำ เป็นการให้ยาผ่านหลอดเลือดแดง
  6. ชนิดฉีดเข้าไขสันหลัง ยาจะฉีดเข้าไปในช่องว่างระหว่างชั้นเนื้อเยื่อ ที่ปกคลุมเส้นประสาทไขสันหลังและสมอง
  7. ชนิดทาที่ผิวหนัง ยาจะอยู่ในรูปแบบครีม ใช้สำหรับทาผิวหนัง

ข้อห้ามของการใช้ยาเคมีบำบัด

  1. ห้ามใช้กับหญิงที่ตั้งครรภ์ในช่วง 3 เดือนแรก เพราะอาจจะทำให้เด็กทารกพิการแต่กำเนิดได้
  2. ห้ามใช้กับผู้ที่เป็นโรคตับหรือไตขั้นรุนแรง เพราะยาต้องผ่านการกรองของเสียโดยตับและไต
  3. ห้ามใช้กับผู้ป่วยที่เพิ่งได้รับการผ่าตัดหรือมีบาดแผล เพราะอาจทำให้บาดแผลเสียหายมากขึ้น โดยจะต้องรอให้แผลหายสนิทเสียก่อน จึงค่อยทำเคมีบำบัด
  4. ห้ามใช้กับผู้ที่มีเซลล์เม็ดเลือดต่ำ เพราะอาจจะทำให้ป่วยได้ง่ายยิ่งขึ้น และเสี่ยงต่อการติดเชื้ออีกด้วย
  5. ห้ามใช้กับผู้ที่มีอาการติดเชื้อ เพราะจะทำให้ติดเชื้อมากยิ่งขึ้น และอาจก่อให้เกิดอาการแทรกซ้อนร้ายแรงจนถึงแก่ชีวิตได้

ผลข้างเคียงการใช้ยาเคมีบำบัด

สำหรับผลข้างเคียงของการใช้คีโมหรือยาเคมีบำบัดนั้นจะมีค่อนข้างมาก เช่น เหนื่อยง่าย หายใจลำบาก เจ็บแน่นหน้าอก มีไข้ หนาวสั่น คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย ผมร่วง เป็นต้น ซึ่งขึ้นอยู่กับร่างกายของแต่ละบุคคลด้วย โดยส่วนใหญ่ผู้ที่ได้รับการทำเคมีบำบัดมักจะพักอยู่ในโรงพยาบาล จึงมีแพทย์คอยดูแลรักษาอย่างใกล้ชิด หากผู้ป่วยมีอาการผิดปกติ ก็เพียงแค่แจ้งพยาบาลหรือแพทย์ให้มาดูแลผู้ป่วยได้ในทันที