นนทรี

อาหารเพื่อสุขภาพ - สมุนไพร

ชื่อวิทยาศาสตร์      Peltophorum  pterocarpum   Back. ex  Heyne
ชื่อพ้อง                     Peltophorum inerme Lanes
ชื่อวงศ์                   Leguminosae  (Caesalpiniaceae)

ชื่ออื่น ๆ                   อะราง  กระถินป่า  กระถินแดง  สารเงิน  นนทรี  ชำเลง

ชื่อสามัญ                Yellow Poinciana , Copper Pod , Yellow Flamboyant.

นิเวศวิทยา              ถิ่นกำเนิดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประเทศไทยพบได้ทั่วไปตามป่าเบญจพรรณ ป่าดิบ และป่าตามชายหาด

การขยายพันธุ์       เมล็ด

ลักษณะทั่วไป 
เป็นไม้ต้นขนาดกลาง  สูง 10 – 20 เมตร ผลัดใบ แต่ไม่ผลัดพร้อมกันทั้งต้น เรือนยอดรูปทรงกลมหรือรูปไข่ ทรงพุ่มแน่นทึบ ลำต้นค่อนข้างตรง แตกกิ่งก้านต่ำที่ความสูง 2 – 3 เมตร กิ่งอ่อนมีขนสีน้ำตาลแดง

เปลือก       สีเทาอ่อน แตกเป็นร่องเล็ก ๆ ตามยาวและตามขวาง และแตกเป็นสะเก็ดแผ่นเล็ก ๆ ทั่วไป เนื้อในเปลือกมีสีน้ำตาลอมเหลือง

ใบ   ใบเป็นใบประกอบแบบขนนกสองชั้น เรียงสลับถี่ตามปลายกิ่ง ช่อย่อย  10 – 18 คู่ ออกตรงกันข้าม ใบย่อยก้านใบสั้นและเรียงตรงกันข้าม   12 – 22 คู่ ใบรูปขอบขนาน โคนใบเบี้ยวมน ปลายใบมนเว้าเข้าเล็กน้อย ขอบใบเรียบ ใบกว้าง 0.3 – 0.6 เซนติเมตร ยาว 1.0 – 2.5 เซนติเมตร

ดอก   สีเหลือง มีกลิ่นหอมอ่อน ๆ ออกเป็นช่อใหญ่แบบช่อกระจะบริเวณซอกก้านใบ และปลายกิ่ง ชูช่อดอกเด่นออกมาเหนือทรงพุ่ม ช่อดอกตั้งยาว 10 – 20 เซนติเมตร มีกลีบเลี้ยง 5 กลีบ ด้านนอกมีขนอ่อนสีน้ำตาล กลีบดอก 5 กลีบ รูปไข่กลับ ย่นเป็นคลื่น เมื่อบานเต็มที่ กว้าง 1.5 – 2.0 เซนติเมตร มีเกสรเพศผู้ 10 อัน ออกดอกเดือน เมษายน – พฤษภาคม

ผล   เป็นฝักแบบฝักแห้ง รูปขอบขนานแกมรูปใบหอก โคนและปลายสอบแหลม ฝักอ่อนมีสีน้ำตาลอมม่วง ฝักแก่มีสีน้ำตาลอมดำ ฝักไม่แตก กว้าง 2.0 – 2.5 เซนติเมตร ยาว 7 – 10 เซนติเมตร  มีเมล็ด 1 – 4 เมล็ด เรียงตามความยาวของฝัก

เมล็ด  รูปร่างแบนบาง แข็งมาก สีน้ำตาลอมเหลือง รูปขอบขนานกว้าง 0.3-0.4 เซนติเมตร ยาว 0.8 – 1.0 เซนติเมตร

สรรพคุณ
เปลือกและราก รสฝาด  แก้ท้องร่วง  แก้อาเจียน แก้อติสาร (ลงแดง)สมานแผลห้ามเลือด

เปลือก รสฝาดร้อน มีสารแทนนินสูง  รับประทานเป็นยากล่อมเสมหะ  แก้ท้องร่วง ขับผายผม ขับโลหิต  หรือนำไปเคี่ยวกับน้ำมันนวดแก้ตะคริว และกล้ามเนื้ออักเสบ

ประโยชน์      
นื้อไม้นำมาใช้ทำเป็นกระดานพื้นและฝาบ้าน ทำเครื่องเรือนและเครื่องมือการเกษตร มีลวดลายสวยงามเช่นเดียวกับมะค่า ประดู่ และพะยูง
เปลือก นำไปต้มจะให้สีน้ำตาลปนเหลือง ใช้ย้อมผ้าได้สวยงาม

ส่วนที่ใช้เป็นอาหาร
ยอด ฝักอ่อนใช้เป็นอาหารประเภทผักเหนาะรสชาติฝาด มัน

เป็นดอกไม้ประจำจังหวัด ฉะเชิงเทรา นนทบุรี พิษณุโลก

ที่มา
http://thaiherb.info/peltophorum-inerme-lanes.html#.UQZO2h3ZYwc
http://thaiherb-tip108.blogspot.com/2011/01/blog-post_1674.html
http://botanykuszone1.weebly.com/36093609360736193637.html
http://clgc.rdi.ku.ac.th/index.php/rs/ornamental/348-peltophorum
http://www.rspg.org/palace/chitralada/cld6-2_025.htm