ยาโรคหัวใจมีอะไรบ้าง ควรใช้เมื่อไหร่ และใช้อย่างไรถึงจะไม่อันตราย

ยาน่ารู้

ขึ้นชื่อว่าโรคหัวใจ ใครก็ไม่อยากเป็น เพราะทรมาน เหมือนชีวิตแขวนอยู่บนเส้นด้ายตลอดเวลา โดยจะมีอาการต่างๆ เช่น แน่นหน้าอก ใจสั่น เหนื่อยหอบง่าย เป็นลมล้มวูบบ่อย ซึ่งอาการเหล่านี้หากปล่อยไว้นานไม่ได้ดูแลรักษา ก็อาจเป็นอันตรายจนถึงแก่ชีวิตได้เช่นกัน แต่ทางเลือกหนึ่งสำหรับผู้ที่ป่วยเป็นโรคหัวใจ นอกจากการออกกำลังกายและดูแลร่างกายตัวเองเป็นอย่างดีแล้ว ก็ยังมียาสำหรับโรคหัวใจให้ได้ใช้กันค่ะ โดยรายละเอียดการใช้ยาโรคหัวใจและประเภทของยาจะมีอะไรบ้างนั้น ไปอ่านกันเลยค่ะ

ภาวะที่สามารถใช้ยาโรคหัวใจได้

  1. ภาวะเจ็บแน่นหน้าอก
  2. ภาวะความดันโลหิตสูง
  3. ภาวะคลอเรสเตอรอลสูง
  4. ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ
  5. ภาวะหัวใจวาย
  6. ภาวะหัวใจล้มเหลว
  7. โรคลิ้นหัวใจ

ประเภทของยาโรคหัวใจ

  1. ยาต้านหัวใจเต้นผิดจังหวะ เช่น อมิโอดาโรน
  2. ยาลดคลอเรสเตอรอล เช่น ซิมวาสเตติน
  3. ยาต้านเกล็ดเลือด เช่น แอสไพริน
  4. ยาต้านการแข็งตัวของเลือด เช่น วาร์ฟาริน
  5. ยายับยั้งเบต้า เช่น โพรพาโนลอล บิโสโพรลอล
  6. ตัวยับยั้งตัวรับแอนจีโอเทนซินทู เช่น ลอซาทาร์น
  7. ตัวยับยั้งแองจิโอเทนซิน-คอนเวอร์ติงเอนไซม์ เช่น อีนาลาพริล
  8. ยากลุ่มไนเตรท
  9. ยาขับปัสสาวะ เช่น ฟูโรซีไมด์ ไฮโดรคลอไรไธอะไซด์

วิธีใช้ยาโรคหัวใจ

  1. ชนิดรับประทาน ส่วนใหญ่จะเป็นยาเม็ด หรือแคปซูล ให้รับประทานโดยกลืนพร้อมน้ำเปล่า แต่หากเป็นยาน้ำก็กลืนได้เลย
  2. ชนิดวางไว้ใต้ลิ้น เป็นยาเม็ดที่ต้องวางไว้ใต้ลิ้น เพื่อให้ยาค่อยๆ ละลายไปเอง หรืออาจจะเป็นแบบสเปรย์พ่นข้างใต้ลิ้นก็มีเช่นกัน
  3. ชนิดฉีดเข้าหลอดเลือดดำโดยตรง
  4. ชนิดฉีดเข้ากล้ามเนื้อ ส่วนใหญ่จะฉีดที่บริเวณต้นขา หรือบั้นท้าย
  5. ชนิดฉีดเข้าใต้ผิวหนัง
  6. ชนิดแผ่นแปะติดกาว เป็นแผ่นแปะที่มีส่วนผสมของยา ให้แปะบนผิวหนัง เพื่อให้ยาค่อยๆ ซึมเข้าสู่ร่างกาย

ข้อควรระวังในการใช้ยา

  1. ผู้ป่วยควรใช้ยาตามแพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด
  2. ห้ามหยุดใช้ยากะทันหัน เพราะจะมีผลตอบสนองต่อร่างกาย ต้องหยุดยาโดยแพทย์เป็นผู้สั่งเท่านั้น
  3. ห้ามยืมหรือใช้ยาของผู้ป่วยรายอื่น เนื่องจากผู้ป่วยแต่ละคนใช้ปริมาณและส่วนประกอบของยาที่แตกต่างกัน
  4. ผลหรือน้ำของเกรปฟรุต อาจทำปฏิกิริยาต่อยาได้ โดยไปยับยั้งเอนไซม์ที่จะใช้ในการทำลายยา ทำให้ในร่างกายมียาสะสมอยู่มากเกินไป
  5. หญิงมีครรภ์และหญิงให้นมบุตร ต้องแจ้งแพทย์ทุกครั้งก่อนใช้ยา เพราะยาโรคหัวใจบางชนิดอาจทำอันตรายได้

หากเกิดผลข้างเคียงของยาที่ค่อนข้างรุนแรง คือผู้ป่วยไม่สามารถทนต่ออาการที่เกิดขึ้นเหล่านั้นได้ โดยร่างกายเกิดอาการผิดปกติต่างๆ ทำให้เกิดความทรมาน ก็ห้ามหยุดใช้ยาเองโดยเด็ดขาด ต้องแจ้งแพทย์ให้ทราบ เพื่อปรับขนาดการใช้ยา หรือเปลี่ยนชนิดของยาแทน เพื่อการรักษาอย่างต่อเนื่อง โดยไม่มีผลข้างเคียง