ทำไมผู้หญิงถึงอายุยืนกว่าผู้ชาย?

ไลฟ์สไตล์

เคยได้ยินใครสักคนกล่าวว่า “ผู้หญิงแก่ก็ง่าย ตายก็ยาก” แปลว่า ผู้หญิงนั้นมีอายุยืนกว่าผู้ชายอย่างนั้นจริงหรือ? เรื่องนี้แท้จริงแล้วเป็นอย่างไร? และเป็นเพราะอะไร? บทความนี้จะพาทุกท่านไปหาคำตอบกันค่ะ

โทมัส เพิร์ล นักเวชศาสตร์ผู้สูงวัย จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดได้พยายามศึกษาวิจัยและค้นหาเหตุผลว่าทำไมจึงเป็นเช่นนั้น และเขาก็ได้พบคำตอบว่า “ฮอร์โมน” คือปัจจัยหลักที่ทำให้ผู้หญิงอายุยืนกว่าผู้ชาย แน่นอนว่าฮอร์โมนเพศหญิงและเพศชายมีความแตกต่างกันมาก โดยธรรมชาติในการดำรงอยู่ของผู้หญิงนั้นจะมีแรงขับอยู่ 2 อย่าง คือ แรงขับในการสืบทอดเผ่าพันธุ์เพื่อที่จะส่งต่อยีนไปยังลูก ส่วนอย่างที่สอง คือความต้องการที่จะอยู่อย่างแข็งแรงเพื่อเลี้ยงดูลูกหลานให้ได้มากที่สุด พูดง่าย ๆ เกิดมาเพื่อเป็นแม่และเลี้ยงดูลูกนั่นเองค่ะ แต่จะมีวัยทองเป็นตัวคั่นกลางระหว่าง 2 ส่วนนี้ กล่าวคือ เมื่อผู้หญิงก้าวเข้าสู่วัยทองก็จะไม่สามารถตั้งครรภ์ได้ ซึ่งถือว่าเป็นการป้องกันอันตรายจากการตั้งครรภ์เมื่ออายุมาก ก็จะทำให้ผู้หญิงมีอายุที่ยาวนานเพียงพอที่จะอยู่เลี้ยงดูลูกหลานต่อไปได้

อันที่จริง ด้วยธรรมชาติของผู้หญิงนั้นจะมีความอ่อนแอมาก เพราะการตั้งครรภ์ล้วนมีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตมากด้วยค่ะ ในสมัยก่อน การแพทย์ยังไม่ได้เจริญมากนัก ผู้หญิงจึงมีอายุขัยแค่เพียง 35-40 ปี แต่ ณ ปัจจุบัน ผู้หญิงเสียชีวิตจากการคลอดลูกน้อยลงมาก นั่นจึงไม่แปลกที่อายุขัยของผู้หญิงจะเพิ่มมากขึ้น

ในขณะเดียวกัน ไม่ว่าจะกี่ยุคกี่สมัย ผู้ชายวัยแตกเนื้อหนุ่มที่ได้พลังจากฮอร์โมนเทสโตโรน กำลังพลุ่งพล่าน ส่งผลให้อารมณ์และพฤติกรรมก้าวร้าว รุนแรง เป็นเหตุให้ผู้ชายในวัย 15-24 ปี มีโอกาสเสียชีวิตมากกว่าผู้หญิง 4-5 เท่าเชียวค่ะ ส่วนใหญ่จะมาจากอุบัติเหตุ การฆาตกรรม การฆ่าตัวตาย เป็นต้น แต่หากพอพ้นวัย 24 อัตราการเสียชีวิตของผู้หญิงและผู้ชายที่เคยต่างกันมากจะค่อย ๆ ลดลงไปเรื่อย ๆ จนถึงช่วงวัยกลางคน และในช่วง 55-64 ปี ก็จะกลับเข้ามาในสถานการณ์ที่ผู้ชายเสี่ยงจะเสียชีวิตมากกว่าอีกครั้งหนึ่งค่ะ โดยสาเหตุหลัก ๆ ก็มาจากโรคภัยไข้เจ็บ อย่างโรคหัวใจ หรืออุบัติเหตุทางรถยนต์ มะเร็ง รวมถึงอาการเจ็บป่วยที่มากจากพฤติกรรมการใช้ชีวิต เช่น ดื่มเหล้า สูบบุหรี่ ความเครียด แต่ในผู้หญิงนั้น ก็เจอโรคต่าง ๆ เหมือนกัน เพียงแต่ว่าร้ายแรงน้อยกว่าค่ะ อย่างเช่น โรคกระดูกพรุน กระดูกข้อเสื่อม

ทั้งหมดนี้คือผลมาจากฮอร์โมนเพศนั่นเองค่ะ ฮอร์โมนเพศชายนอกจากจะส่งผให้มีพฤติกรรมรุนแรง ก้าวร้าวแล้ว ยังมีส่วนในการช่วยเพิ่มระดับโคเลสเตอรอลตัวร้าย (LDL) นั่นแปลว่าผู้ชายมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคหัวใจและโรคหลอดเลือดมากกว่าผู้หญิง แต่ฮอร์โมนในผู้หญิงเองนั้น ฮอร์โมนเอสโตรเจนกลับช่วยลดระดับโคเลสเตอรอลตัวร้าย (LDL) และช่วยเพิ่มโคเลสเตอรอลตัวดี (HDL) โดยมีหลักฐานจากงานวิจัยชี้ชัดว่า การรักษาผู้หญิงวัยทองด้วยการให้ฮอร์โมนเอสโตเจน มีส่วนช่วยลดความเสี่ยงจากโรคหัวใจและหลอดเลือดได้ด้วย ในเรื่องนี้นั้น เนื่องจากผู้หญิงวัยทองจะขาดฮอร์โมนทำให้มีปัญหาต่าง ๆ ตามมา ซึ่งภาวะวัยทองนี้สามารถเกิดกับผู้ชายได้เช่นกัน และผู้ชายไม่ค่อยรู้ตัวกันค่ะ ผลจากการขาดฮอร์โมนในผู้ชาย ก็นำพาโรคมากมายตามมา เช่น อัลไซเมอร์ ความดันโลหิตสูง อ้วน หย่อนสมรรถภาพทางเพศ นั่นทำให้ผู้ชายเสียชีวิตเร็วกว่าเวลาอันควร

อย่างไรก็ตามแม้ผู้หญิงจะถูกคาดหมายว่าอายุยืนกว่าผู้ชาย แต่ปัจจุบัน ด้วยปัจจัยแวดล้อมต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นความเครียด การดื่มเหล้า การทำงานนอกบ้าน ก็ล้วนส่งผลให้ผู้หญิงเสียชีวิตเร็วกว่าสมัยก่อนมาก ซึ่งเรื่องแบบนี้นั้นก็ขึ้นอยู่กับตัวเราเองค่ะ ว่าควรจะเริ่มหันมาดูแลสุขภาพแล้วหรือยัง

ขอบคุณข้อมูลบางส่วน : Thomas Pearls. Why women live longer than men. Algora Publishing. 2019