สูงวัย สดใสได้ด้วยการออกกำลังกาย

การออกกำลังกาย ไลฟ์สไตล์

ในปัจจุบันกระแสรักสุขภาพกำลังมาแรงนะคะ เคยได้ยินว่า การออกกำลังกายเป็นยาขนานเอกในการป้องกันโรคไม่แพ้การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นวัยที่โรครุมเร้าได้ง่ายมากกว่าช่วงวัยอื่น ๆ ผู้สูงวัยบางคนอาจจะมีภาวะซึมเศร้าจากปัจจัยต่าง ๆ แต่การออกกำลังกายจะช่วยให้ผู้สูงอายุกลับมาสดใสได้ใหม่อีกครั้ง เพราะฉะนั้นเราจะพาไปดูประโยชน์ของการออกกำลังกายในผู้สูงอายุกันค่ะ

ได้มีโอกาสพบปะผู้คน การไปออกกำลังกายในสวนสาธารณะและเข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ เช่น รำไทเก๊กเป็นกลุ่ม หรือการเดินออกกำลังกายกับคนที่รู้จัก จะช่วยให้จิตใจแจ่มใสและคลายความเครียด ความกังวลลงได้เป็นอย่างดี เนื่องจากการออกกำลังกายอย่างเหมาะสมจะทำให้ร่างกายมีการหลั่งฮอร์โมน โดยเฉพาะเอนโดรฟิน ทำให้เรารู้สึกสบายและมีความสุขนั่นเอง

ทำให้นอนหลับได้ดีและง่ายขึ้น โดยไม่ต้องพึ่งยานอนหลับ ซึ่งอาจจะส่งผลต่อร่างกายในระยะยาว

ช่วยทำให้สมองมีการทำงานที่ดีขึ้น จึงช่วยป้องกันการเกิดอาการทางสมอง เช่น การเกิดโรคอัลไซเมอร์ โรควิตกกังวล รวมถึงช่วยลดอาการซึมเศร้าได้

ช่วยลดหรือควบคุมน้ำหนัก เพราะเมื่อมีอายุมากขึ้น การทำงานของระบบต่าง ๆ ในร่างกายของเราทำงานได้น้อยลง เช่นเดียวกับอัตราการผลาญในร่างกาย ซึ่งส่งผลให้ผู้สูงอายุเริ่มลงพุงและมีไขมันสะสมอยู่ตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกายมากขึ้น นั่นจะเป็นการเพิ่มความเสี่ยงที่จะเกิดโรคเรื้อรังมากมายตามมาได้ง่ายขึ้นในภายหลัง รวมถึงเสี่ยงที่เกิดอาการปวดเข่าและข้อเท้าอันเนื่องมาจากต้องแบกรับน้ำหนักตัวที่เพิ่มมากขึ้นอยู่ตลอดเวลา

ช่วยให้ระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายทำงานได้ดีขึ้น จึงสามารถต่อต้านเชื้อโรคต่าง ๆ ที่อาจจะทำให้เกิดการเจ็บป่วยได้ง่าย

– หากเป็นการออกกำลังกายด้วยการฝึกความแข็งแรงของกล้ามเนื้อขาร่วมกับการฝึกการทรงตัว นั่นจะช่วยป้องกันการหกล้มในผู้สูงอายุ ซึ่งในบางครั้งอาจจะรุนแรงถึงขั้นกระดูกสะโพกหักได้

แม้ว่าการออกกำลังกายจะมีประโยชน์มากมาย แต่ก็ไม่ใช่ว่าอยู่ดี ๆ ผู้สูงอายุจะลุกขึ้นมาออกกำลังกายได้ตามใจชอบนะคะ เพราะบางครั้งอาจทำให้เกิดปัญหาหรือนำมาซึ่งความเสี่ยง ดังนั้นก่อนออกกำลังกาย ทุกครั้ง ผู้สูงอายุควรทราบถึงข้อควรระวังทั้งก่อน ขณะกำลังออก และหลังจากออกกำลังกาย ดังนี้

– ควรเข้ารับการปรึกษาแพทย์ประจำตัวเสียก่อน ว่ามีข้อแนะนำหรือข้อควรระวังอะไรบ้างหรือเปล่า และควรจะออกอย่างไร เพื่อเป็นการป้องกันความเสี่ยงที่ก่อให้เกิดอันตรายที่อาจเกิดขึ้นในขณะที่ออกกำลังกาย

– ควรมีการอุ่นร่างและคูลดาวน์อย่างเหมาะสมก่อนที่จะออกกำลังกายทุกครั้ง โดยอาจจะใช้เวลาประมาณ 10 นาที พร้อมกับการยืดกล้ามเนื้อหลัก ๆ ตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย

– ควรมีการดื่มน้ำอย่างเพียงพอ โดยการพกน้ำติดตัวไว้ตลอดเวลา และคอยจิบในปริมาณที่ไม่มากแต่บ่อยครั้ง เพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำ โดยเฉพาะหากต้องออกกำลังกายในสภาพอากาศที่ร้อนจัด ทั้งนี้ การจิบน้ำบ่อย ๆ สามารถช่วยควบคุมอุณหภูมิของร่างกาย และลดการเกิดของเสียได้ดีอีกด้วย เช่น กรดแลคติค ซึ่งเป็นตัวที่ทำให้กล้ามเนื้อและร่างกายเกิดความอ่อนล้าได้ง่าย

– ไม่ควรเปลี่ยนแปลงความหนักของการออกกำลังกายโดยทันที เพราะจะทำให้หัวใจทำงานหนักและอาจจะเกิดอันตรายได้ ควรค่อย ๆ เพิ่มปริมาณ ปรับเปลี่ยนอย่างค่อยเป็นค่อยไป

– ไมควรฝืนหรือหักโหมออกกำลังกายมากเกินไปอโดยควรใช้ระดับความรู้สึกเหนื่อยในระหว่างที่ออกกำลังกายเป็นตัวกำหนดความหนัก คือไม่ให้หนักหรือเหนื่อยเกินไป แต่ควรให้รู้สึกเหนื่อยพอทนได้หรือสบาย

โดยทั่วไปนั้น เป้าหมายของการออกกำลังกายเพื่อสุขภาพที่แข็งแรง ควรใช้เวลาประมาณ 30 นาทีสามารถแบ่งออกเป็นช่วงละ 10 นาทีก็ได้ค่ะ แต่ถ้าไม่สามารถออกกำลังกายต่อเนื่องได้ ก็สามารถแบ่งออกเป็นช่วงละ 10 นาที เพียงเท่านี้ผู้สูงอายุก็จะสดใส แข็งแรงแน่นอน