ผักเป็ด

อาหารเพื่อสุขภาพ - สมุนไพร
ชื่อวิทยาศาสตร์ :  Alternanthera sessilis R.Br

ชื่อวงศ์ :   Amaranthaceae
ชื่อพื้นบ้าน           ผักเป็ดไทย ผักเป็ด  ผักเป็ดขาว  ผักเป็ดแดง เปรี้ยวแดง ผักเปี๋ยวแดง

ลักษณะ :
ไม้ล้มลุกเนื้ออ่อน สูงไม่เกิน ๓๐ เซนติเมตร บางครั้งลำต้นเลื้อยไปตามดิน  ลำต้นและใบอ่อนนิ่ม อวบน้ำ มีทั้งสีแดง สีขาวอมเขียว ตามข้อของต้นจะ มีรากขึ้น

 ใบ ออกเป็นใบเดี่ยวจะออกตามข้อของต้น ซึ่งลักษณะของใบและขนาดของใบนั้น จะไม่เหมือนกันและ ไม่เท่ากัน มันจะขึ้นอยู่กับสภาพดินด้วย จะมีทั้งแบบใบแคบยาวเรียวแหลม ปลายแหลม ปลายมน และไข่กลับ ถ้าดินที่ปลูกแห้งแล้งใบจะเล็ก ถ้าแฉะใบก็จะใหญ่สมบูรณ์ ใบมีสีเขียว ก้านใบสั้นมาก ประมาณ 1-5 มม.  โดย “ผักเป็ดใบมน” นั้น มักจะพบได้ตามริมน้ำปนกับวัชพืชชนิดอื่น ๆ ทำให้มีการขยายใบให้แผ่ออกเพื่อแย่งรับแสงแดด ใบจึงมีลักษณะกว้างและมน ส่วน “ผักเป็ดใบแหลม” มักพบในบริเวณที่ไกลแหล่งน้ำ และมีแสงแดดส่องผ่านได้น้อย จึงมีการปรับตัวให้ใบแหลมยาวเพื่อลดการคายน้ำ และมีโอกาสโดนแสงแดดให้มากที่สุด ขณะที่ “ผักเป็ดใบกลม” หรือใบไข่กลับ จะมีลักษณะเหมือนไข่กลับหัว ปลายใบกลมมน และค่อย ๆ เรียวลงเป็นปลายแหลมบริเวณโคนใบ มักพบได้ช่วงโคนต้น จัดว่าเป็นผักเป็ดที่สมบูรณ์เพราะเป็นใบที่อวบน้ำ เคี้ยวง่าย ย่อยง่าย มีรสจืด ต่างจากผักเป็ดใบแหลมที่มีรสชาติค่อนข้างขม ผักเป็ดใบกลมจึงนิยมถูกนำมารับประทานมากที่สุด

ดอก ออกเป็นช่อกลมๆ อยู่ตามง่ามใบ ช่อดอกยาว 0.5-1 ซม. ไม่มีก้านดอกแต่เมื่อดอกร่วงโรยไปจะดูเหมือนกับมีก้านดอก ดอกสีขาวหรือม่วงแดงมี 5 กลีบ ในแต่ละดอกมีใบประดับเป็นเยื่อบางๆสีขาว 2 อัน

ผล รูปร่างคล้ายรูปไต แต่มีขนาดเล็กมากกว้าง 2 มม. ยาว 3 มม. ซึ่งผลนี้จะร่วงโรยพร้อมกับกลีบดอก

ผักเป็ด มี ๒ สี คือ ใบและลำต้นสีเขียว เรียกว่า ผักเป็ดขาว ใบและลำต้นสีม่วงแดง เรียกว่า ผักเป็ดแดง บางตำราว่าเป็นชนิดเดียวกัน แต่บางตำราแยกผักเป็ดแดงเป็นอีกชนิดหนึ่งต่างหาก มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Alternanthera ficoides ผักเป็ดเป็นผักพื้นบ้านดั้งเดิมของไทย พบขึ้นอยู่ทั่วไปในเขตที่ราบลุ่มชื้นแฉะ สามารถขึ้นได้ทั้งบนบกและในน้ำ

สรรพคุณ :
บำรุงโลหิตดับพิษโลหิต ในตำรายาไทย เรานำมาปรุงเป็นยาฟอกเลือดและเป็นยาระบายอ่อนๆ
ใช้เป็นยาบำรุงเลือด แก้ฟกช้ำ ช่วยละลายเลือดตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย กระตุ้นการไหลเวียนของเลือด ช่วยกระจายเลือดที่ข้นมากไม่ให้จับกันเป็นก้อน ทำให้ไม่หน้ามืดเป็นลม นอกจากนี้ยังมีสารซาโปนินที่ช่วยฟอกเลือด ลดอาการปวดข้อ ทั้งยังเป็นส่วนผสมของสมุนไพรที่ใช้ในการอยู่ไฟของคุณแม่ที่เพิ่งคลอด และช่วยลดอาการปวดหัวไมเกรนให้ทุเลาลงได้ นอกจากนี้ยังขับไขมันไม่ให้อุดตันในเส้นเลือด ช่วยกระตุ้นการบีบตัวของลำไส้ ยับยั้งเซลล์มะเร็ง ต้านพิษต่อตับ และลดไข้อีกด้วย

เกาะมาดากัสการ์ ศรีลังกามาลาเซีย ลาว กัมพูชา เวียดนาม จะใช้เป็นยาขับน้ำนม ใช้พอกแผล ใช้รักษาโรคเกี่ยวกับลำไส้
อินโดนีเซีย ใช้เป็นยาแก้ท้องร่วง แก้บิด ลดไข้
อินเดีย ใช้แก้พิษงูกัด ขับน้ำนม ช่วยกระตุ้นการไหลของน้ำดี
ใบของผักเป็ดแดง สามารถแก้พิษงูได้ ราก ปรุงเป็นยาฟอกเลือด แก้ประจำเดือนมาไม่ปกติ

สรรพคุณสมุนไพร สาขาเภสัชกรรม แพทย์แผนโบราณ ได้ระบุถึงสรรพคุณของผักเป็ดแดง ว่า ต้น มีรสเย็น มีสรรพคุณในการดับพิษโลหิต ระบายอ่อนๆ ฟอกและบำรุงโลหิต แก้ระดูพิการเป็นลิ่ม เป็นก้อนดำเหม็น ปวดเมื่อยบั้นเอวและท้องน้อย
ในประเทศศรีลังกา ใช้ต้นนำมาต้มเป็นยาแก้ไข้ และเป็นอาหารบำรุงของแม่ลูกอ่อน

ตำราแพทย์แผนโบราณฉบับต่างๆ ในหนังสือประมวลสรรพคุณยาไทย บรรยายประโยชน์ทางยาของผักเป็ดว่า “ใช้ทั้งต้นทั้งราก เป็นยาดับพิษโลหิต ฟอกโลหิตประจำเดือน แก้ประจำเดือนขัดข้อง และบำรุงโลหิตด้วย โดยมากมักทำยาดองเปรี้ยวเค็ม เป็นยาระบายอ่อนๆ ทั้งฟอกและบำรุงโลหิตสตรี”
จากตำราเล่มนี้จะเห็นว่าไม่ได้ แยกผักเป็ดเป็นชนิดขาวหรือแดง คงจะให้ใช้ได้ทั้ง ๒ สี

แต่ในตำราบางเล่มเจาะจงให้ใช้เฉพาะผักเป็ดแดงเท่านั้น เช่น ตำราเวชเภสัชกรรมแผนโบราณ บรรยายสรรพคุณของผักเป็ดเฉพาะผักเป็ดแดง ว่า
“ผักเป็ดแดง : รสขื่นเอียน สรรพคุณ บำรุงโลหิต ดับพิษโลหิต”

ส่วนตำราสรรพคุณสมุนไพร สาขาเภสัชกรรมแพทย์แผนโบราณ ก็บรรยายเฉพาะสรรพคุณของผักเป็ดแดงไว้เท่านั้น คือ
“ผักเป็ดแดง ต้น : รสเย็น ดับพิษโลหิต ระบายอ่อนๆ ฟอกและบำรุงโลหิต แก้ระดูพิการเป็นลิ่ม เป็นก้อนดำเหม็น ปวดเมื่อยบั้นเอวและท้องน้อย”

สำหรับผักเป็ดใบกลม ยังมีสรรพคุณเป็นยาระบาย เพราะมีน้ำและสารเมือกเยอะ ซึ่งจะช่วยขับเมือกไขมันบริเวณผนังลำไส้ได้ดี ทำให้ถ่ายคล่อง ไม่เกิดอาการท้องผูก พร้อมทั้งช่วยให้เลือดกระจายตัวได้ดียิ่งขึ้น โดยแพทย์แผนโบราณนิยมเก็บผักเป็ดก่อนพระอาทิตย์ขึ้น และเลือกเก็บต้นที่ดอกยังไม่แก่ เพราะถ้าหากแก่แล้วสารอาหารจะลดลง เนื่องจากดอกผักเป็ดจะทำการดึงสารอาหารในต้นมาใช้เพื่อสร้างเมล็ด และสะสมอาหารเอาไว้เพื่อขยายพันธุ์ต่อไปนั่นเอง

ประโยชน์ด้านอาหาร
ผักเป็ดแดง จะมีใบและลำต้นสีแดง ไม่นิยมนำมารับประทาน เนื่องจากมีรสชาติเอียน ๆ ส่วน ผักเป็ดขาว จะมีใบและลำต้นสีเขียว เป็นชนิดที่นิยมนำมารับประทาน โดยแยกประเภทออกไปตามลักษณะอีก 3 ประเภทคือ ผักเป็ดใบมน ผักเป็ดใบแหลม และผักเป็ดใบกลม
นำมาใช้เป็นผักสดสำหรับจิ้มน้ำพริกปลาร้า ฯลฯ หรือถ้าให้พิเศษอีกหน่อยก็นำไปชุบแป้งทอดให้สุกก่อนนำมาจิ้มน้ำพริก ผักเป็ดที่นำมาใช้เป็นผักกินนั้น นิยมเก็บมาจากที่ลุ่มแฉะหรือน้ำขังจะได้ผักเป็ดที่มียอดโตอวบ อ่อนนุ่ม และค่อนข้างยาว ตำรับปรุงผักเป็ดที่นิยมในชนบทภาคกลาง ก็คือ ชุบแป้งทอดให้เป็นแผ่น อาจจะมีกุ้งฝอยผสมลงไปด้วยก็ได้เหมือนกัน

นอกจากนี้ เรายังสามารถนำผักเป็ด มาใช้เป็นอาหารสัตว์ได้ดี เพราะมีคุณค่าทางอาหารสูง และย่อยง่าย ในบ้านเราส่วนใหญ่จะใช้ต้นผักเป็ด นำมาปลูกเป็นพืชคลุมดิน ตกแต่งสวน ใช้ปลูกประดับในตู้ปลา เพราะถือเป็นพืชที่ขึ้นง่าย โตไว และมีสีสวย

ที่มา
http://www.qsbg.org/database/botanic_book%20full%20option/search_detail.asp?Botanic_ID=1558
http://variety.teenee.com/foodforbrain/35038.html
http://www.doctor.or.th/article/detail/2379