“โรคซึมเศร้า” โรคใกล้ตัวที่คนในสังคมไทยยังเข้าใจกันแบบผิด ๆ

รู้ทันโรค

นับเป็นอีกปัญหาสำคัญทางสุขภาพ และเป็นโรคใกล้ตัวที่คนในสังคมไทยยังเข้าใจกันแบบผิด ๆ เพราะอันที่จริงแล้ว “โรคซึมเศร้า” สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่หากไม่ได้รับการรักษาอาจรุนแรงและกลายเป็นสาเหตุหนึ่งจนนำไปสู่ความสูญเสียได้ นั่นคือ…การฆ่าตัวตาย

จากข้อมูลสถิติขององค์การอนามัยโลก ในปี ค.ศ.2017 ระบุว่า มีผู้ป่วยโรคซึมเศร้าทั่วโลกประมาณ 322 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 4.4 ของประชากรโลก และในแต่ละปีองค์การอนามัยโลกยังคาดการณ์ว่า จะมีผู้ฆ่าตัวตายสำเร็จมากกว่า 1 ล้านคน ซึ่งในทุก 40 วินาทีจะมีคนฆ่าตัวตาย ทั่วโลกจึงให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เป็นอย่างมาก

เรามาดูข้อมูลของประเทศไทยบ้าง จากการสำรวจความชุกของโรคซึมเศร้า พ.ศ.2551 พบว่า มีคนไทยป่วยโรคนี้ราว ๆ 1.5 ล้านคน หากพิจารณาตามเพศและอายุของผู้ป่วยโรค พบว่า ผู้หญิงเสี่ยงมากกว่าผู้ชาย 1.7 เท่า โดยผู้ป่วยส่วนใหญ่อยู่ในวัยทำงาน อายุ 25-59 ปี ร้อยละ 62 รองลงมาเป็นวัยสูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ร้อยละ 26.5 และเป็นเยาวชนอายุ 15-24 ปี ร้อยละ 11.5

นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมสุขภาพจิต บอกว่า แม้ในกลุ่มเยาวชนจะมีสัดส่วนน้อยกว่า 2 กลุ่ม แต่นับเป็นปัญหาที่ต้องให้ความสำคัญและต้องเร่งแก้ไข เนื่องจากวัยรุ่นเป็นทรัพยากรที่มีค่าในการพัฒนาประเทศในอนาคต ซึ่งมีแนวโน้มการฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้น โดยพบข้อมูลที่สำคัญว่า ในปี 2560 เยาวชนอายุ 20-24 ปี มีอัตราการฆ่าตัวตายที่ 4.94 ต่อประชากรแสนคน และในปี 2561 ยังเพิ่มขึ้นเป็น 5.33

ข้อมูลดังกล่าวสอดคล้องกับการให้บริการสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ที่พบว่า กลุ่มเยาวชนโทรเข้ามาปรึกษาปัญหาสุขภาพจิตมากขึ้น โดยในปี 2561 (ปีงบประมาณ) จากการให้บริการปรึกษาทางโทรศัพท์ทั้งสิ้น 70,534 ครั้ง เป็นกลุ่มเด็กอายุ 11-19 ปี 10,298 ครั้ง คิดเป็นร้อยละ 14.6 และเป็นกลุ่มเยาวชนอายุ 20-25 ปี 14,173 ครั้ง คิดเป็นร้อยละ 20.1 โดย 5 อันดับปัญหาที่พบมากที่สุดในกลุ่มเด็กและเยาวชน คือ ปัญหาความเครียดหรือวิตกกังวล ปัญหาทางจิตเวช ปัญหาความรัก ปัญหาซึมเศร้า และปัญหาครอบครัว
สำหรับในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2562 (ปีงบประมาณ) มีผู้โทรเข้ามาใช้บริการทั้งสิ้น 40,635 ครั้ง เป็นกลุ่มเด็กและเยาวชนอายุ 11-25 ปี จำนวน 13,658 ครั้ง เมื่อจำแนกตามประเภทของปัญหาพบว่า สัดส่วนของเด็กและเยาวชน ที่มีปัญหาความเครียดหรือวิตกกังวล ปัญหาความรัก ซึมเศร้า และมีความคิดหรือความพยายามฆ่าตัวตายมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

นอกจากนี้รายงานการจัดอันดับประเทศที่มีอัตราการฆ่าตัวตายสูงที่สุดในโลกประจำปี 2019 โดยคำนวณจากสัดส่วนประชากร 1 แสนคน พบว่าประเทศลิทัวเนีย นำมาเป็นอันดับ 1 อยู่ที่ 31.9 คน ตามมาด้วยประเทศรัสเซีย 31 คน ประเทศกายอานา ประเทศเกาหลีใต้ และประเทศเบลารุส ส่วนประเทศไทยรั้งอันดับที่ 32 อัตราการฆ่าตัวตายอยู่ที่ 14.4 คน ซึ่งสูงที่สุดในภูมิภาคอาเซียน

ทั้งนี้โรคซึมเศร้า มีสาเหตุหลักที่เกิดจากความผิดปกติของสารเคมีในสมอง และสาเหตุอื่น ๆ ได้แก่ ภาวะเศรษฐกิจการเงิน ความผิดหวัง ความสัมพันธ์ ความรัก ความสูญเสีย เป็นต้น หากเยาวชนไม่สามารถจัดการกับปัญหาได้ จะทำให้ทุกปัญหากลายเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดความเครียด วิตกกังวล จนพัฒนาไปสู่…ภาวะซึมเศร้าและคิดทำร้ายตัวเอง ส่วนอาการของโรคซึมเศร้าที่จะแสดงออกมา ได้แก่ เศร้า หดหู่ ซึม เบื่อหน่าย หงุดหงิด ฉุนเฉียว ไม่มีสมาธิ นอนไม่หลับ มีความคิดอยากตายหรือฆ่าตัวตายได้

ขอยกตัวอย่างความสูญเสียที่ตกเป็นข่าว ซึ่งเกิดขึ้นค่อนข้างจะถี่และหลายเหตุการณ์มาก แต่ที่น่าสังเกตและเป็นห่วงก็คือ เพียงแค่เฉพาะเดือนตุลาคมนี้ กลับพบว่าการฆ่าตัวตายปรากฎให้เห็นเป็นข่าวบ่อยครั้งมากขึ้น

1.ทหารป่วยซึมเศร้า’ไลฟ์สด’ปืนจี้เด็กเซเว่นก่อนยิงตัวตาย
2.หลานช็อก’ปู่’วัย 88 อดีตเจ้าหน้าที่ศาลอุทธรณ์’ยิงตัวตาย’
3.สลดใจตร.ยะลาเครียดจัด คว้าM16กรอกปากดับคาแฟลต
4.หลานผิดสังเกตเตาถ่านหาย น้าสาวใช้รมควันดับคาเก๋ง
5.สาวหล่อเครียดจอดรถริมถนน ทิ้งจดหมายรัก-รมควันดับ

นี่จึงเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่สังคมตั้งคำถามว่า…มันเกิดอะไรขึ้น??? ถึงเวลาที่เราจะรับฟังกันหรือยัง ลองเริ่มต้นความสัมพันธ์ที่ดี รับฟังจากคนที่เรารัก คนใกล้ชิดตัวเรา เพียงแค่เริ่มรับฟังอย่างเข้าใจ รับฟังในมุมมองของเขา ไม่ใช่มุมมองของเราที่เรามักจะเข้าใจและคิดเองว่าเขาเป็น แต่เปิดโอกาสให้เขาได้เล่าให้เราฟัง เพียงเท่านี้ก็เท่ากับส่งต่อความช่วยเหลือไปถึงผู้ที่ป่วยโรคซึมเศร้าแล้ว

อย่างไรก็ตาม แนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาภาวะซึมเศร้าและการฆ่าตัวตายในกลุ่มเด็กและเยาวชน สามารถป้องกันได้ ซึ่งหลัก ๆ แล้วมีด้วยกัน 3 วิธี “สอดส่องมองหา-ใส่ใจรับฟัง-ส่งต่อเชื่อมโยง”

นักเรียนนักศึกษาที่มีความเครียดวิตกกังวลกับปัญหาที่เผชิญอยู่ จะมีผลต่อสมาธิและความสามารถในการเรียน ซึ่งคนรอบข้างสามารถสังเกตอาการและพฤติกรรมที่ผิดปกติ ได้แก่ อาการเหม่อลอย ไม่ร่าเริงแจ่มใส มาเข้าเรียนสายหรือไม่เข้าเรียน เรียนไม่ทันเพื่อน หลับในห้องเรียน เมื่อพบเห็นภาวะดังกล่าว คนรอบข้างไม่ว่าจะเป็นเพื่อน อาจารย์ที่ปรึกษา คนใกล้ชิด รวมทั้งครอบครัว ต้องรีบเข้าไปพูดคุยร่วมกันหาสาเหตุ รับฟังปัญหาอย่างเข้าใจและใส่ใจ ให้การช่วยเหลือ ให้คำปรึกษา หรือส่งต่อแพทย์ได้อย่างทันท่วงที เพื่อเข้ารับการดูแลและรักษาอย่างถูกวิธี จะทำให้อาการดีขึ้นและหายขาดได้.
………………………………..
คอลัมน์ : Healthy Clean
โดย “ทวีลาภ บวกทอง” https://www.dailynews.co.th/article/738197