3 อาการสัญญาณเตือน ให้หันมาดูแลสุขภาพ

ช่องท้อง ศีรษะและสมอง หลัง และ กระดูกสันหนัง

สุขภาพร่างกายก็เปรียบเสมือนเครื่องยนต์ที่ต้องได้รับการดูแลเอาใจใส่อย่างสม่ำเสมอ แต่ว่าการทำงานที่เร่งรีบทำให้หลายคนลืมดูแลสุขภาพของตนเองและมองข้ามอาการผิดปกติบางอย่างของร่างกายไป จนพบว่าโรคบางโรคได้ดำเนินไปมากเกินกว่าที่จะรักษาได้ทันท่วงทีแล้ว ดังนั้น การที่เรามีความรู้ ความเข้าใจในอาการที่เกิดขึ้นจึงเป็นเรื่องสำคัญที่เราไม่ควรมองข้าม และ 3 อาการสัญญาณเตือน ว่าถึงเวลาแล้วที่เราควรหันมาดูแลสุขภาพตนเอง มีดังนี้

1. อาการปวดศีรษะ
อาการปวดศีรษะรุนแรงพบได้ร้อยละ 40 ของประชากรจากทั่วโลก ซึ่งอาจจะเป็นผลมาจากความเครียดและความวิตกกังวล โดยอาการปวดศีรษะที่รุนแรงมากขึ้นจะสัมพันธ์กับอาการคลืนไส้ อาเจียนไวต่อแสงและเสียงเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ โครงสร้างร่างกายส่วนอื่น ๆ ก็มีผลทำให้ปวดศีรษะได้ เช่น ตา หู จมูก ฟัน หนังศีรษะ เป็นต้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะช่วยให้แพทย์สามารถวินิจฉัยแยกโรคได้ถูกต้องมากขึ้น กล่าวคือ ลักษณะของอาการปวดศีรษะ ตำแหน่ง ระยะเวลา และปัจจัยที่มากระตุ้น เช่น ความร้อน ระหว่างการมีประจำเดือน อดนอน ฯลฯ ถ้าหากเรามีอาการปวดศีรษะบ่อย โดยมีปัจจัยมากระตุ้นที่ชัดเจน แสดงว่าอาการปวดศีรษะนั้นมักไม่ได้มาจากโรคที่ร้ายแรงค่ะ โดยเราสามารถแบ่งกลุ่มอาการออกมาเป็น 3 กลุ่ม
A. กลุ่มเฉียบพลัน
– โพรงไซนัสอักเสบ คนที่เป็นโดยมากจะเป็นไข้หวัดนำมาก่อน ลมหายใจมีกลิ่นเหม็น น้ำมูกเป็นหนองข้น และมีอาการกดเจ็บบริเวณไซนัส
– เยื่อหุ้มสมองอักเสบ โดยทั่วไปจะมีไข้ ซึม คอแข็ง ปวดศีรษะอย่างเฉียบพลันรุนแรงตั้งแต่ 1 ชั่วโมง – เป็นวัน ซึ่งจะปวดไปทั่วศีรษะ
– ภาวะเลือดออกในสมอง จะมีอาการปวดศีรษะอย่างรุนแรงอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ซึม คอแข็ง และในบางรายอาจมีอาการแขนขาอ่อนแรงได้ค่ะ

B. กลุ่มเรื้อรัง (ระยะเวลาตั้งแต่ 1-6 เดือน)
– เนื้องอกในสมอง จะมีอาการปวดศีรษะทั่ว ๆ หรืออาจจะปวดศีรษะข้างเดียว จะปวดตื่อ ๆ ลึก ๆ
-เยื่อหุ้มสมองอักเสบเรื้อรัง อาการที่พบโดยมาก จะปวดศีรษะไม่ต่ำกว่า 1 อาทิตย์ ไปจนถึงเป็นเดือน ๆ มีไข้ต่ำ และหากมีอาการรุนแรงจะซึม คอแข็ง ซึ่งมีสาเหตุมาจากเชื้อวัณโรค
         C. กลุ่มเป็น ๆ หาย ๆ (มักเป็นกลุ่มที่เป็นโรคไม่ร้ายแรง)
– ปวดศีรษะแบบบีบรัด
ถือว่าเป็นอาการปวดที่พบได้บ่อยที่สุดเลยค่ะ ปวดตึง ๆ บริเวณขมับ หน้าผากและท้ายทอย ซึ่งจะปวดมากขึ้นเวลาที่เครียดหรือมีสิ่งมากระตุ้น
– ปวดศีรษะไมเกรน โรคยอดฮิตของกลุ่มคนวัยทำงาน ซึ่งมักจะพบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย อาการปวดมักจะเป็น ๆ หาย ๆ และมักจะปวดศีรษะข้างเดียว ซึ่งอาจจะมีอาการบางอย่างนำมาก่อน เช่น เห็นแสงหรือเสียงที่ผิดปกติ เป็นต้น

ข้อแนะนำสำหรับอาการปวดศีรษะที่ต้องรีบไปพบแพทย์ ได้แก่
– ปวดศีรษะแบบฉับพลัน รุนแรงแบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อนและมีอาการที่แย่ลงเรื่อย ๆ หรือปวดถี่ขึ้นกว่าทุก ๆ ครั้ง แบบนี้ไม่ควรนิ่งนอนใจนะคะ
– มีความผิดปกติทางร่างกายบางอย่าง เช่น แขนขาอ่อนแรง อาเจียนพุ่ง ตามองไม่เห็น ชัก
– ปวดศีรษะข้างเดียวตลอดเวลา
– อายุมากกว่า 50 ปี และมีโรคประจำตัวอยู่แล้ว

  1. อาการปวดหลัง
    อาการปวดหลังจัดได้ว่าเป็นอาการที่พบได้บ่อยเป็นอันดับ 2 รองจากอาการปวดศีรษะ และยังเป็นอาการที่พบทางศัลยกรรมกระดูกมากที่สุดอีกด้วยค่ะ ซึ่งอาการปวดหลังโดยทั่ว ๆ ไปนั้นมักไม่รุนแรง แต่ก็มีที่บ่อยครั้งอาการเหล่านี้จะรบกวนการใช้ชีวิตประจำวันของคนเรา อาการปวดหลังอาจมาจากกระดูกและกล้ามเนื้อ หรือจากสาเหตุอื่น ๆ เช่น
    – หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท ในช่วงหลังเริ่มมีคนเป็นโรคนี้กันมากขึ้น โดยมีอาการปวดหลังส่วนล่าง อาจจะปวดร้าวจากหลังลงเท้าเหมือนไฟช็อตแปลบ ๆ ร่วมกับการมีอาการชา ปวดขึ้นทันทีหลังยกของหนัก
    – กรวยไตอักเสบ จะปวดหลังที่สีข้างด้านบน มีไข้ หนาวสั่น คลื่นไส้อาเจียน ปัสสาวะแสบขัด มีสีขุ่น เราสามารถสังเกตความต่างของอาการปวดจากกล้ามเนื้อได้ คือ อาการปวดจากกรวยไตอักเสบนั้นจะไม่เกี่ยวข้องกับการขยับร่างกายและไม่มีอาการปวดร้าว– กล้ามเนื้อเกร็ง/อักเสบ จะปวดที่หลังส่วนล่าง สามารถปวดร้าวไปถึงก้นกบหรือขาส่วนหลังแต่จะไม่เลยเข่า โดยมากมักเกิดจากการทำงานหนักต่อเนื่องของกล้ามเนื้อ โดยเฉพาะการยกของ ก้มตัวไม่ถูกวิธี หรือในคนหนุ่มสาววัยทำงานที่ต้องนั่งทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน ไม่ได้ลุกเคลื่อนไหวที่จะขยับร่างกาย ท่านั่งไม่ถูกที่ ทำให้เกิดอีกโรคตามมาอย่าง Office Syndrome คือมีอาการปวดหลังร่วมกับอาการปวดศีรษะ ปวดต้นคอ ปวดบ่าและไหล่ แต่อาการเหล่านี้สามารถหายได้เองโดยลดการใช้งานของกล้ามเนื้อส่วนนั้น ๆ ปรับท่านั่งให้ถูกต้อง ลุกเดินบ้างเพื่อเปลี่ยนอิริยาบท

  1. อาการปวดท้อง
    อาการปวดท้องเกิดได้หลายสาเหตุ ตั้งแต่อาการปวดเพียงเล็กน้อยไปจนถึงอาการปวดระดับรุนแรงมาก โดยอาการปวดมักสัมพันธ์กับอวัยวะภายในโดยตรง เช่น กระเพาะอาหาร ลำไส้ รังไข่และโพรงมดลูก ทั่วไปอาการปวดท้องนั้นจะเกิดจากอวัยวะในระบบทางเดินอาหาร ส่วนลักษณะความรุนแรงจะขึ้นอยู่กับตำแหน่งที่ปวดด้วยค่ะ ดังนั้น เราสามารถแบ่งกลุ่มอาการปวดได้ออกเป็น 2 แบบ ได้แก่
             A. ปวดแบบเฉียบพลัน
    – ไส้ติ่งอักเสบ จะมีอาการปวดท้องมวน ๆ รอบสะดือหรือทั่วท้อง หลังจาก 12-48 ชั่วโมง อาการปวดจะย้ายตำแหน่งมาบริเวณท้องน้อยด้านขวาล่าง ซึ่งอาจจะมีอาการเบื่ออาหาร คลานไส้อาเจียน หรือท้องเสียร่วมด้วย
    – กระเพาะอาหารทะลุ ปวดท้องรุนแรงและปวดตลอดเวลา ร่วมกับอาการมีไข้ ชีพจรเต้นเร็วและความดันโลหิตตก
    – ถุงน้ำดี / ท่อน้ำดีอักเสบ อาการปวดท้องจะเกิดขึ้นค่อนข้างเร็ว นานนับนาทีหรืออาจจะนานเป็นวัน ซึ่งจะปวดบริเวณท้องส่วนบนด้านขวาหรือที่ลิ้นปี่
    – ลำไส้อุดตัน จะปวดบิดอย่างรุนแรงและทวีความปวดมากขึ้นเรื่อย ๆ คลื่นไส้อาเจียน ท้องอืด ไม่ถ่ายท้องหรือผายลมB. ปวดแบบที่พบได้บ่อย
    – แผลในกระเพาะอาหาร
    ปวดแสบหรือจุกแน่นบริเวณยอดอกหรือลิ้นปี่ โดยจะมีอาการเป็น ๆ หาย ๆ หิวก็ปวด อิ่มก็ปวด และอาการอาจจะดีขึ้นถ้าได้กินยาลดกรดหรือได้ทานอาหารเข้าไป

    – กรดไหลย้อน อีกหนึ่งโรคยอดฮิตของคนเมือง จะมีอาการแสบร้อนที่ลิ้นปี่ไล่ขึ้นมาที่บริเวณกระดูกกลางอกหรือต้นคอ แสบขมในคอ ระคายคอและไอแห้ง ๆ
    – นิ่วที่ทางเดินน้ำดี อาการจุกเสียดแน่นที่ชายโครงด้านขวาหรือลิ้นปี มักจะปวดหลังทานอาหารโดยเฉพาะอาหารจำพวกไขมัน ท้องอืด มีลมมาก
    – กระเพาะปัสสาวะอักเสบ พบได้บ่อยในผู้หญิงวัยทำงาน มักมีอาการปวดหน่วงที่ท้องน้อย ปัสสาวะแสบขัด กะปริดกะปรอย เหมือนไม่สุด

เห็นไหมคะว่าโรคภัยไข้เจ็บอยู่รอบ ๆ ตัวเรา หลังจากอ่านบทความนี้แล้ว อยากให้ลองปรับการใช้ชีวิตให้สมดุล ทำงานอย่างพอดี ดำเนินชีวิตตามสายกลาง ไม่ตึงหรือหย่อนเกินไป และหมั่นดูแลดูแลตัวเอง เข้ารับการตรวจสุขภาพประจำปีอย่างสม่ำเสมอ อีกทั้งควรรู้จักสังเกตความเปลี่ยนแปลงและความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับร่างกาย