กุ่มบก

อาหารเพื่อสุขภาพ - สมุนไพร

ชื่อวิทยาศาสตร์ Crateva adansonii DC. subsp. trifoliata (Roxb.) Jacobs
ชื่อสามัญ : Sacred Barnar, Caper Tree
ชื่อวงศ์ : Capparaceae
ชื่อพื้นเมือง กุ่มบก (ชลบุรี) กุ่ม (เลย) กุ่มบก (ไทยภาคกลาง) ทะงัน (เขมร) กะงัน สะเบาถะงัน ก่าม (อีสาน)
ชื่ออื่น : ผักกุ่ม

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ : 
ต้นกุ่ม เป็นไม้ที่ขึ้นได้ทั่วไป มีมากในภาคกลางและภาคใต้แถบจังหวัดระนอง ชุมพร กระบี่ และพังงา พบทั่วไปตาม ริมแม่น้ำ ลำห้วยในป่า ลำคลอง เป็นไม้ต้นขนาดกลาง สูง 6-10 ม.

ใบประกอบแบบนิ้วมือ มีใบย่อย 3 ใบ ก้านใบประกอบยาว 7-9 ซม. ใบย่อยรูปรีหรือรูปไข่ กว้าง 4-6 ซม. ยาว 7.5-11 ซม. ปลายแหลมหรือเรียวแหลม โคนแหลมหรือสอบแคบ ขอบเรียบ ใบย่อยที่อยู่ด้านข้างโคนใบเบี้ยว แผ่นใบค่อนข้างหนา เส้นแขนงใบข้างละ 4-5 เส้น ก้านใบย่อยยาว 4-5 มม.

ดอกแบบช่อกระจะ ออกตามง่ามใบใกล้ปลายยอด ก้านดอกยาว 3-7 ซม. กลีบเลี้ยงรูปรี กว้าง 2-3 มม. ยาว 4-5 มม. เมื่อแห้งมักเป็นสีส้ม กลีบดอกสีขาวอมเขียวแล้วค่อยๆ เปลี่ยนเป็นสีเหลืองหรือชมพูอ่อน รูปรี กว้าง 0.8-1.5 ซม. ยาว 1.2-1.8 ซม. โคนกลีบเป็นเส้นคล้ายก้าน ยาว 3-7 มม. เกสรเพศผู้สีม่วง มี 15-22 อัน ก้านชูอับเรณูยาวประมาณ 4 ซม. ก้านชูเกสรเพศเมียยาวประมาณ 5 ซม. รังไข่ค่อนข้างกลมหรือรี มี 1 ช่อง

ผลกลม เส้นผ่านศูนย์กลาง 2-3.5 ซม. เปลือกมีจุดแต้มสีน้ำตาลอมแดง เมื่อแก่เปลือกเรียบ ก้านผลกว้าง 2-4 มม. ยาว 5-13 ซม. เมล็ดรูปคล้ายเกือกม้าหรือรูปไต กว้างประมาณ 2 มม. ยาวประมาณ 6 มม. ผิวเรียบ

สรรพคุณ :
ใบ
ขับลม ฆ่าแม่พยาธิ เช่น พวกตะมอย และตำละเอียดทารักษาเกลื้อนกลาก โรคผิวหนัง ใช้แช่หรือดองน้ำกิน แก้โรคท้องผูก แก้ลม ขับพยาธิ รักษากลากเกลื้อนบนผิวหน้า หรืออาจนำใบไปลนไฟให้ร้อนแล้วเอามาปิดหู ช่วยบรรเทาอาการปวด ปวดศรีษะและ โรคบิด

เปลือก
ต้ม รับประทาน ขับลม แก้นิ่ว แก้ปวดท้อง ลงท้อง คุมธาตุ ช่วยเจริญอาหาร ช่วยย่อย ขับน้ำเหลือง ขับปัสสาวะ เป็นยาระบาย  และใช้ในขณะที่ถูกงูกัดจะช่วยลดพิษได้

กระพี้
ทำให้ขี้หูแห้งออกมา

แก่น
แก้ริดสีดวง ผอม เหลือง

ราก
แก้มานกษัย อันเกิดแต่กองลม  แช่น้ำเป็นยาธาตุ

ดอก
เป็นผักรับประทาน

ผล
เป็นยาแก้อาการท้องผูก
เปลือกราก
ใช้เป็นยาถูนวดให้โลหิตเลี้ยงได้สม่ำเสมอ

ขนาดและวิธีใช้
1. แก้กลากเกลื้อน โรคผิวหนัง ใช้ใบสดตำละเอียดทาที่เป็น
2. แก้ปวดท้อง นำเปลือกกุ่มบกมาต้มรับประทาน
3. ยาธาตุ ใช้รากแช่น้ำ

ประโยชน์ทางอาหาร
ส่วนที่ใช้เป็นอาหาร ยอดอ่อน ใบอ่อน และช่อดอกอ่อน

ช่วงฤดูกาลที่เก็บ ในช่วงฤดูฝน

การปรุงอาหาร
คนไทยรับประทานใบอ่อนและดอกอ่อนของกุ่มบกและกุ่มน้ำ พบว่าชาวบ้านทุกภาคของไทยรับประทานผักกุ่มด้วยวิธีเดียวกัน คือ นำใบอ่อน และดอกอ่อนมาดองก่อน แล้วจึงนำไปรับประทานหรือนำไปปรุงเป็นผักอ่อนผักกุ่ม ทำคล้ายกับแกงขี้เหล็ก โดยการนำดอกมาต้มคั้นน้ำทิ้งสัก 1-2 ครั้ง เพื่อลดรสขม และปรุงด้วยข่าอ่อน ตะไคร้ น้ำปลาร้า น้ำปลาเกลือ ข้าวสารเล็กน้อย ใบแมงลัก ผักชีฝรั่งชาวบ้านเล่าว่าถ้าใส่น้ำครั้นใบย่านางลงไปด้วยจะทำให้ผักกุ่มจืดเร็ว ชาวใต้นำผักกุ่มไปรับประทานกับขนมจีนน้ำยาและชาวเหนือ (เชียงใหม่) นำผักยอดกุ่มมาเผาทานแกล้มกับลาบปลา ในช่วงหน้าหนาวเรามักพบกุ่มดองวางขายในตลาดสด

คุณค่าทางโภชนาการ
ผักกุ่มดอง รสเปรี้ยว ใบผักกุ่มดอง 100 กรัม ให้พลังงาน 88 กิโลแคลอรี่ ประกอบด้วยสารอาหารที่มีประโยชน์แก่ร่างกาย คือ น้ำ 73.4 กรัม คาร์โบไฮเดรต 15.7 กรัม โปรตีน 3.4 กรัม ไขมัน 1.3 กรัม กาก 4.9 กรัม แคลเซี่ยม 124 มิลลิกรัม ฟอสฟอรัส 20 มิลลิกรัม เหล็ก 5.3 มิลลิกรัม วิตามินเอ 6083 IU วิตามินบีหนึ่ง 0.08 มิลลิกรัม วิตามินบีสอง 0.25 มิลลิกรัม ไนอาซีน 1.5 มิลลิกรัม และวิตามินซี 5 มิลลิกรัม

คติความเชื่อ
คนไทยสมัยก่อนปลูกต้นกุ่มไว้เป็นอาหารและยารักษาโรค ต้นกุ่มนับเป็นไม้มงคลชนิดหนึ่งที่นิยมปลูกทางทิศตะวันตก (ประจิม) เชื่อว่าจะทำให้ครอบครัวมีฐานะเป็นกลุ่มเป็นก้อน ดังชื่อของต้นไม้

กุ่มบก หรือที่ชาวฮินดูเรียกว่า “มารินา” นี้ ตามพระพุทธประวัติกล่าวว่า พระพุทธเจ้านำผ้าบังสกุลซึ่งห่อศพ นางมณพาสี ในอามกสุสาน (ป่าช้าผีดิบ) ไปทรงซัก เมื่อซักเสร็จแล้วก็มาที่ที่ผ้าบังสกุลดังกล่าว

พฤกษเทวา ซึ่งสิงสถิตอยู่ ณ ต้นกุ่มบก ได้น้อมกิ่งต้นกุ่มให้ต่ำลง เพื่อให้เป็นที่ตากจีวร
ที่มา
http://bangkok-guide.z-xxl.com/snack-knowledge/6221
http://202.143.148.69/nanasara_n/Web-6-4/26WebSakunrat/a02.html